พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล
ในช่วงนาทีแรก ๆ ของการคลอด ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตช่วงหนึ่ง เพราะเป็น ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องการปรับตัวอย่างมากในการเปลี่ยนสภาพจากทารกในโพรงมดลูก ของมารดาออกมาเป็นทารกแรกเกิดในบรรยากาศของโลกภายนอกโพรงมดลูก ทารกในโพรงมดลูกอยู่ในสภาพคล้ายปรสิตของมารดา ได้อาหารจากมารดา แลกเปลี่ยนแก๊ส ขับถ่ายของเสีย ให้กับมารดาโดยผ่านทางรก อวัยวะหลายอย่างยังไม่ได้ทำงานจริง ๆ จัง ๆ ยกเว้นแต่หัวใจ รกเป็นอวัยวะที่ทำงานแทนเป็นส่วนใหญ่ ทารกอยู่ในโพรงมดลูกที่อบอุ่น ในร่างกายมารดา ผนังมดลูกและรกทำหน้าที่เหมือนด่านปกป้องภยันอันตรายจากมลภาวะ และจุลชีพ ในบรรยากาศภายนอกให้กับทารก
เมื่อคลอดทารกจะถูกผลักดันให้ผ่านช่องคลอดที่แคบคดเคี้ยวและอาจมีจุลชีพปนเปื้อน ขณะคลอดออกมาสู่โลกภายนอก สู่บรรยากาศที่แห้งกว่าทั้งปะปนไปด้วยมลพิษและจุลชีพ
เมื่อหลุดจากตัวมารดาแล้ว รกก็หมดหน้าที่ ดังนั้นทารกแรกเกิดจะต้องกระทำหลายสิ่ง หลายอย่าง ด้วยตนเอง เช่น เริ่มหายใจเองด้วยระบบหายใจ กินย่อยดูดอาหารเอง ด้วยระบบทางเดินอาหาร ขับถ่ายของเสียด้วยไต ต้องต่อสู้กับจุลชีพที่อาจกล้ำกลายเข้ามา ด้วยระบบป้องกันและภูมิคุ้มกันของตัวเอง และต้องปรับอุณหภูมิร่างกายเอง เหล่านี้เป็นต้น
โดยทั่วไปถ้าทารกไม่มีโรคทางพันธุกรรม ไม่มีความพิการเติบโตในครรภ์มาอย่างดี และคลอดครบกำหนดโดยการคลอดปกติแล้วทารกก็จะปรับตัวผ่านวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในขณะเกิดได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามทารกในระยะแรกเกิดทุกคนเปรียบเสมือนคนไข้พักฟื้น เพราะได้รับผลกระทบจากการคลอดและอวัยวะต่าง ๆ เพิ่งเริ่มทำงานจึงไม่ค่อยสมบูรณ์
มนุษย์จึงจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลือดอุ่นที่ต้องพึ่งพิงมารดา ดังนั้นในช่วงที่ทารกเพิ่งคลอด ซึ่งต้องการการประคบประหงมดูแลจากมารดา และบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นพิเศษ
ทารกที่ปกติและสบายดีทุกคนควรได้อยู่ร่วมกับมารดาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มารดาเกิดความรักผูกพัน และเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่
ทารกควรได้รับการชั่งน้ำหนัก ตรวจสอบอุณหภูมิของร่างกาย ชีพจร อัตราการหายใจ ในช่วง 6-12 ชั่วโมงแรก ทารกควรได้รับการเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดในพฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องของอุณหภูมิ, ชีพจร และการหายใจ การเฝ้าสังเกตช่วงแรกควรกระทำทุก 1 ชั่วโมงจนเห็นว่าปกตินานกว่า 2 ชั่วโมง จึงจะไว้ใจได้
โดยปกติขณะเมื่อทารกถูกนำมาสู่มารดา จะได้รับการแต่งตัวและห่มผ้ามาอย่างอบอุ่นแล้ว แต่ทารกควรได้รับการตรวจสอบอุณหภูมิของร่างกายอีกครั้ง ถ้าอุณหภูมิร่างกายของทารก โดยวัดทางรักแร้ต่ำกว่า 36.0 องศาเซลเซียส (96.8 องศาฟาเรนไฮด์) ทารกควรได้รับ ความช่วยเหลือโดยการจัดไฟส่องให้อบอุ่นหรือเข้าตู้อบชั่วคราว ควรวัดอุณหภูมิทุก 30 นาทีจนอุณหภูมิขึ้นมาถึง 36.5 องศาเซลเซียส และคงอยู่ไม่ต่ำกว่านี้อีกแล้ว จึงดูแลตามปกติต่อไป
การเฝ้าระวังปัญหาการเจ็บป่วยดูได้ดังนี้คือ ดูที่น้ำหนักตัว ควรทำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ทารกปกติเมื่อได้รับน้ำนมเพียงพอ น้ำหนักตัวที่ลดลงใน 2-3 วันแรกหลังคลอด มักอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 5-8 ของน้ำหนักแรกเกิด และไม่เกินร้อยละ 10 จากนั้นก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
ถ้าน้ำหนักตัวไม่ลดหรือเพิ่มตามที่กล่าวต้องรีบตรวจหาสาเหตุการดูชีพจร การหายใจ อุณหภูมิของเด็ก มีความสำคัญมากในเด็กปกติ จะวัดอุณหภูมิใต้รักแร้ได้ 36.1-37.2 องศาเซลเซียส การเต้นของหัวใจ 110-150 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจ 30-60 ครั้งต่อนาที
นอกจากนี้ควรสังเกตการดูดนม การเคลื่อนไหว การร้อง สีของผิวหนัง ผิดจากธรรมดา สังเกตการถ่ายขี้เทาและปัสสาวะครั้งแรก ซึ่งปกติจะถ่ายใน 24 ชั่วโมงแรก การไม่ถ่ายตามปกติ อาการน้ำลายมาก อาเจียนเป็นสีเขียว เหล่านี้มักบ่งชี้ถึง ความผิดปกติ ที่อาจซุกซ่อนอยู่
ทารกทุกรายควรได้รับน้ำนมมารดาของตนเองเป็นอาหาร ในปัจจุบันการส่งเสริมการให้ นมมารดาจะพยายามให้ทารกได้ดูดนมมารดาครั้งแรกตั้งแต่ในนาทีแรก ๆหลังคลอด เมื่อเห็นว่าทารกหายใจได้ดีแล้ว เมื่อทารกมาอยู่กับมารดาแล้วทารกจะแสดงความพร้อม ที่จะกินนมเมื่ออายุ 2-6 ชั่วโมง โดยแสดงอาการตื่นตัวร้องหิว ท้องไม่อืด และมีเสียงเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นปกติ
ถ้าตัดสินใจให้นมมารดา ก็ไม่ควรใช้นมผสมช่วยเสริม แต่ถ้ามีความจำเป็น ให้นมแม่ไม่ได้ ก็อาจต้องใช้นมผสมช่วย แต่ต้องเตรียมให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการเลือกชนิดของนม การเตรียมขวดนม การชงนม และการให้นมอย่างถูกวิธี
ในทารกที่กินนมผสมก่อนให้นมครั้งแรก อาจทดสอบความสามารถด้วยการให้ดูด น้ำสะอาด 1 ครั้ง เพราะถ้าสำลักจะได้ไม่มีอันตรายมาก
การดูแลสะดือ อาจใช้ triple dye providine iodine หรืออาจใช้ 70% แอลกอฮอล์ ป้ายสะดือและบริเวณผิวหนังโดยรอบ ทำทุกวัน เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหายสนิท
การดูแลผิวหนังของทารก ทารกควรได้รับการทำความสะอาดผิวหนังหลังจากที่ อุณหภูมิ ของร่างกายอยู่ในเสถียรภาพปกติแล้ว โดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดเอาสิ่งสกปรก ที่เปรอะเปื้อนออก หรืออาจใช้สบู่อ่อน ๆ ฟอกเฉพาะบริเวณที่เปื้อนแล้วราดน้ำอุ่นให้สะอาด เช็ดซับให้แห้ง การดูแลผิวหนังวันต่อ ๆ มาปัจจุบันนิยมใช้เทคนิคแบบแห้ง คือทำความสะอาดเฉพาะบริเวณใต้ผ้าอ้อม คือที่บริเวณก้นและอวัยวะเพศด้วย สำลีชุบน้ำอุ่นสะอาดเช็ดหลังจากทารกขับถ่าย
การอาบน้ำทารก นิยมทำกันในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ทั้ง ๆ ที่ความจริง ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องอาบ หรืออาบเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็พอ การอาบน้ำฟอกสบู่บ่อย ๆนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาผิวแห้ง เกิดเม็ดผดผื่นบนผิวหนัง
การใช้แป้ง อาจกระทำได้โดยโรยแป้งบนมือแล้วค่อยไปผัดทาบนผิวหนังทารก แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทาก็ได้
ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ที่ใช้แล้วทิ้งมักทำให้ผิวหนังของทารกมีการถ่ายเทของอากาศ ไม่ค่อยดี จึงน่าจะใช้เฉพาะชั่วคราวในขณะที่จะพาทารกเดินทางหรือในโอกาสพิเศษ ช่วงสั้น ๆ และต้องรีบเปลี่ยนทำความสะอาดทันทีที่ทารกขับถ่าย
การล้างมือ ก็มีความสำคัญ ก่อนและหลังจับต้องตัวทารกควรล้างมือให้สะอาด ผู้เข้าเยี่ยมเด็กควรระวังไม่ไปจับต้องตัวทารกมากถ้าไม่สบาย เช่นเป็นไข้หวัด ก็ไม่ควรเข้าเยี่ยมเด็ก เพราะอาจนำเชื้อไปสู่ทารกได้
การขลิบหนังหุ้มปลายองคชาติ ตั้งแต่แรกเกิด ในปัจจุบันไม่ถือเป็นข้อบงชี้ที่ควรกระทำในทางการแพทย์อีกต่อไปแล้ว
สภาพที่อยู่ของทารกแรกเกิด ไม่ควรมีลมแรง มีแสงสว่างธรรมชาติ ที่ไม่สว่างเกินไป ไม่ควรมีเสียงอึกทึกครึกโครมควรจัดให้อุณหภูมิและความชื้นไม่แปรเปลี่ยนมาก จนเกินความเหมาะสม อุณหภูมิห้องสำหรับทารกแรกเกิดครบกำหนด ไม่ควรต่ำกว่า 26.5 องศาเซลเซียส (80 องศาฟาเรนไฮด์) ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 40-60 พื้นที่ต้องไม่แออัด
เวลาที่ควรอยู่ในโรงพยาบาลในระยะหลังเกิด แม้มีข้อเสนอแนะให้ทารกแรกเกิดปกติครบกำหนดอยู่โรงพยาบาสอย่างน้อย 3 วัน แต่ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมารดาและทารกอาจจะอยู่ในโรงพยาบาล ระยะหลังเกิดเพียงวันเดียว
มารดาจึงควรศึกษาหาความรู้และทักษะในการดูแลทารกให้ดี ตั้งแต่ยังไม่คลอด
พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล
main |