มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



อบสมุนไพรมีข้อห้ามอะไรหรือไม่...
จะส่งผลอะไรต่อใครอย่างไร...
ต้องค้นหาคำตอบ


"สวัสดีค่ะ คุณหมอพนิตย์หรือคะ" เสียงต้นสายดังขึ้น เมื่อผมยกหูโทรศัพท์ขึ้นแนบใบหู
"ใช่ครับ" ผมตอบสั้นๆ
"นี่หนูโทรจากนิตยสารฟิตเนสค่ะ"
"ครับ ว่ายังไงครับ"
"หนูโทรมาขอต้นฉบับค่ะ คราวนี้อยากให้คุณหมอ เขียนเกี่ยวกับเรื่อง การอบสมุนไพรหลังคลอดนะคะ"
"ครับ" ผมรับปากทันที ทั้งๆ ที่ผมไม่รู้ในรายละเอียด ของการอบสมุนไพรหรอกนะครับ ว่าเขาทำกันอย่างไร จะเคยมีประสบการณ์ก็แต่จากคนไข้หลังคลอดของผม มาขออนุญาตจากผมว่าจะอบสมุนไพรได้มั้ยและจะอบกันได้เมื่อไร

ผมก็ต้องใช้เหตุและผลเข้ามาพิจารณาว่า จะอบสมุนไพรได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร เมื่อคิดสาระตะแล้ว ผมก็อนุญาตให้คนไข้หลังคลอดของผมทุกท่านที่ต้องการจะอบสมุนไพร ได้อบสมุนไพรตามต้องการ

เอาละ เมื่อผมรับปากที่จะเขียนแล้ว ผมก็ต้องพยายามหาข้อมูล มาเขียนให้ได้แหละนะ ว่าถึงเรื่องการอบสมุนไพรนั้น ถือได้ว่าเป็นประเพณีทางสูติกรรมไทยอย่างหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการอยู่ไฟแล้วก็มีการอบสมุนไพร หรือการเข้ากระโจมนี่แหละ ที่มีการปฏิบัติกันมาจวบจนปัจจุบัน ที่น้อยลงไปอย่างเห็นชัดเจนก็เห็นจะได้แก่การอยู่ไฟ เพราะความไม่สะดวก ประกอบกับทางการแพทย์ยุคสมัยใหม่ มักจะไม่แนะนำเท่าใดนัก เนื่องจากเห็นว่ามันไม่จำเป็น ขณะเดียวกันอันตรายอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายในการอยู่ไฟ ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบหลายวิธีไม่เหมือนกับการอบสมุนไพร ซึ่งปลอดภัยกว่ากันเอยะเลย

การอบสมุนไพรหรือการเข้ากระโจมสมุนไพรนั้น นับเป็นขบวนการฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดให้กับคุณแม่หมาดๆ วิธีหนึ่ง ว่าไปแล้ว การฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดของมารดาที่เคยมีใช้กัน ในประเทศไทยนั้น ก็มีอยู่หลายอย่างเป็นต้นว่า การนั่งถ่าน คือการนั่งบนเก้าอี้ที่เจาะรูไว้ตรงกลาง โดยมีเตาถ่านวางไว้ใต้เก้าอี้ เพื่อให้ความร้อนแผ่กระจายมายังบริเวณฝีเย็บ และมักจะมีพวกสมุนไพรหรือเครื่องหอมโรยลงไปในเตาถ่าน เพื่อให้เกิดควันและกลิ่นหอมขึ้นมาด้วย

นับเป็นวิธีการช่วยให้อาการปวดแผลของฝีเย็บลดน้อยลง แถมช่วยลดอาการบวมด้วย และแผลแห้งเร็ว แพทย์แผนปัจจุบันในทุกวันนี้ใช้ความร้อนจากหลอดไฟฟ้า แทนการนั่งถ่านซึ่งดูแลน่าจะสบายกว่า หวาดเสียวน้อยกว่าการนั่งถ่านเยอะ ส่วนวัตถุประสงค์นั้นก็เหมือนกัน

การเข้ากระโจมหรือการอบตัว ก็เช่นเดียวกันครับ เป็นขบวนการฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดของผู้เป็นมารดาเช่นเดียวกัน หากเป็นสมัยก่อน ก็มักจะใช้ผ้าห่มมาทำเป็นกระโจม ขนาดเพียงแค่พออยู่ได้คนเดียวโดยโผล่หัวพ้นออกมาทางยอดกระโจม อย่าเข้าใจผิดคิดว่าจะทำกระโจมขนาดเท่าบ้านของอินเดียแดง อย่างที่เคยเห็นในหนังคาวบอยกันนะครับ

แต่มาทุกวันนี้ ผมเห็นมีขายกันเยอแยะ ทำด้วยพลาสติก ลักษณะไม่เหมือนกระโจมกันแล้ว แต่เหมือนตู้อบขนาดเล็ก พอจะเข้าไปนั่งอบตัวได้คนเดียว โดยมีส่วนศีรษะโผล่ออกมาไว้ข้างนอก ก็สามารถเอามาใช้แทนกระโจมได้

เมื่อมีกระโจมหรือตู้อบพลาสติกแล้ว วิธีการก็คือ การอบตัวด้วยไอน้ำร้อนนี้เอง หลักการก็เหมือนกับการนั่งถ่าน หรือการอยู่ไฟนั่นแหละคือ การใช้ความร้อนมาเพื่อช่วยแก้ อาการปวดเมื่อยหลังคลอด ช่วยเอาน้ำออกจากร่างกายทางเหงื่อ เพื่อช่วยลดอาการบวม การเข้ากระโจมหรือตู้อบของคุณแม่หลังคลอด คุณแม่ก็จะเข้าไปอยู่ภายในนั้น ซึ่งจะมีที่นั่งให้เรียบร้อย จากนั้นก็มีภาชนะใส่น้ำเดือดไว้ภายในกระโจมหรือตู้อบ ไอน้ำก็จะระเหยมาอบตัวคุณแม่ที่นั่งร้อนอยู่ภายในกระโจมนั้น เพราะความร้อนที่อบอวลอยู่ภายในกระโจมนี่เองทำให้ไม่มีคุณแม่ท่านใด อยากเอาใบหน้าซุกไว้ภายในด้วยหรอก

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกระโจมหรือตู้อบไอน้ำคุณแม่ต่างก็เอาใบหน้า ออกมารับลมเย็นภายนอกกันทั้งนั้น แต่ถ้าใครจะเอาเต็มรูปแบบ ของการอบไอน้ำอย่างที่พวกอาเสี่ยทั้งหลายเข้าไปนั่งในห้องอบไอน้ำ หรือห้องสตรีมตามศูนย์กีฬาก็ได้เหมือนกัน แต่ว่ามันจะสิ้นเปลืองมากกว่า ก็เท่านั้นเอง ทีนี้การอบไอน้ำเฉยๆ มันก็ดูไม่ค่อยจะครบเครื่อง ตามประเพณีไทยเรา ดังนั้นจึงมักจะอบสมุนไพรแบบไทยๆ เข้ามาเอี่ยวอยู่ด้วย เป็นต้นว่า ใบมะขาม ใบส้มป่อย ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบมะนาว เปลือกส้มโอ หรืออีกเยอะแยะแล้วแต่จะเป็นสูตรของใคร ใส่เข้าไปในน้ำต้มเดือดนั้น ให้มีไอระเหยปนกลิ่นออกมาชื่นใจ สร้างความขลังให้กับการอบไอน้ำ เรียกว่าดีกว่าอบไอน้ำแบบเพียวๆ หลายช่วงตัว บ้างก็เอาเหล่าสมุนไพรมาทาตามตัวเสียก่อนเข้ากระโจมอบ และเมื่ออบเสร็จแล้วบางรายก็จะเอาน้ำที่ยังเหลืออยู่มาอาบ นวดกันอีก ใช้ประโยชน์จนหยดสุดท้ายว่างั้นเถอะ

ผมเข้าใจว่า ทางการแพทย์สมัยใหม่เองคงจะไม่มีข้อห้ามอันใด จะมาห้ามมิให้คุณแม่หลังคลอดได้อบสมุนไพร ถ้าหากมีความต้องการหรือเป็นความต้องการของญาติผู้ใหญ่ เนื่องจากความเชื่อของคนเก่าแก่ เชื่อว่าการอยู่ไฟก็ดี การอบสมุนไพรไอน้ำก็ดี มีส่วนสำคัญทำให้สุขภาพหลังคลอด ของผู้เป็นแม่นั้นแข็งแรง และสามารถมีบุตรต่อไปได้อีกเป็นโหล แต่เหตุผลทางการแพทย์เป็นไปอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้นนั่นแหละครับ

นพ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ



[ที่มา..นิตยสาร fitness ปีที่ 10 ฉบับที่ 107]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1