มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ คัดลอก จากนิตยสารดวงใจพ่อแม่ ฉบับที่ 36 ปีที่ 3 ตุลาคม 2541 ]

ยาระหว่างตั้งครรภ์… ได้หรือไม่… แค่ไหน

รศ.นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ


ก่อน พ.ศ.2500 แพทย์เชื่อว่า รก ทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียก่อนที่จะผ่านไปสู่ ลูกน้อย ยาทุกชนิดที่คุณแม่รับประทานเข้าไปจึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย แต่เรื่องเศร้าก็เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 มีรายงานว่าแม่ที่รับประทานยา ธาลิโดไมด์ ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ท้องแล้วทำให้ลูกน้อยเกิดความพิการ แขนขาด้วน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แม่ตั้งครรภ์ต้องระวังเรื่องการใช้ยาหรือสารต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วง ตั้งครรภ์อ่อน ๆ เพราะในระยะนี้ถ้าได้รับยาหรือสารบางชนิดก็จะส่งผล ต่อการแบ่งเซลล์ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เจริญผิดปกติหรือหยุดเจริญเติบโต จะผิดปกติมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะ การตั้งครรภ์ และปริมาณยา หรือสาร ที่ได้รับเข้าไป สารที่กล่าวถึงนี้รวมถึงสารเคมี สุรา นิโคตินจากบุหรี่ และอื่น ๆ

บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่ายาอะไรบ้างมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ เพราะยาบางอย่างจะเกิดเฉพาะในคนเท่านั้น เช่น ยาธาลิโดไมด์ ได้มีการทดลองในหนูที่ตั้งท้องเป็นจำนวนมาก และนาน ก็ไม่เคยพบความผิดปกติของลูกหนู แต่มาพบเมื่อใช้ในคน

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะใช้ยาอะไรได้บ้าง

ยาทำอันตรายลูกในครรภ์อย่างไร
ยาส่งผลกับทารกในตรรภ์ตามระยะการเจริญเติบโตดังนี้
ระยะของการตั้งครรภ์ ผลต่อทารกในครรภ์ที่พบบ่อย
1.ระยะปฏิสนธิ แท้ง
2. ระยะฝังตัว (1-2สัปดาห์แรก) เซลล์ลดลงทำให้แท้ง
3. ระยะสร้างอวัยวะต่าง ๆ
  1. พิการแต่กำเนิด
  2. เกิดมะเร็งในภายหลัง
  3. ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
4. เดือนที่ 3 ถึงเดือนที่ 9
  1. ทารกน้ำหนักตัวน้อย
  2. การเจริญของศีรษะและระบบประสาท ผิดปกติ
  3. อวัยวะเพศภายนอกผิดปกติ

ปวดศีรษะ…ใช้ยาอะไรได้บ้าง ?
อาการปวดศีรษะพบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ ก่อนจะใช้ยาควรหาสาเหตุก่อนว่า ปวดศีรษะเกิดจากอะไรได้บ้าง

การปวดศีรษะในขณะตั้งครรภ์นั้น อาจจะเกิดจากฮอ์โมนในร่างกายคุณแม่สูงขึ้น ทำให้น้ำคั่งในร่างกายมากขึ้น ทำให้สมองบวม ปวดศีรษะได้ ถ้าระดับน้ำตาลในร่างกายต่ำ ก็ทำให้ปวดศีรษะได้เช่นกัน นอกจากนี้ ความเครียดก็เป็นสาเหตุใหญ่อย่างหนึ่งที่ทำให้ปวดศีรษะ

รักษาอย่างไร
การรักษาอาการปวดศีรษะในระหว่างตั้งครรภ์นั้น แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่แนะนำ ให้ใช้ยา อาจเริ่มต้นด้วยการลดอาหารรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด อาหารพวกนี้ทำให้ น้ำคั่งในร่างกายมาก นอกจากนี้ก็ควรลดการออกกำลังกายชั่วคราว จะช่วยไม่ให้น้ำตาลในร่างกาย ต่ำมากไป อาการปวดศีรษะก็จะดีขึ้น

ถ้าทำได้อย่างที่ว่ามาข้างต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็อาจจะสั่งพาราเซตามอลให้รับประทานแก้ปวด เท่าที่มีการใช้ยาชนิดนี้มานานพอสมควร ยังไม่มีรายงานว่าทำให้ลูกน้อย เกิดความพิการหรือผิดปกติอย่างไร ครั้งแรกอาจจะรับประทานยาเองหนึ่งเม็ดหรือสองเม็ด ถ้าหายปวดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ายังมีอาการปวดศีรษะอีก ก็คงต้องปรึกษาสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ไว้ เพื่อหาสาเหตุของการปวดศีรษะ ซึ่งอาจจะมีอย่างอื่นได้อีกนอกจากที่กล่าวไว้แล้ว

หากแม่เป็นไมเกรน
คุณแม่หลายคนก่อนตั้งครรภ์เคยปวดศีรษะข้างเดียว แล้วแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน (migraine) เมื่อตั้งครรภ์จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาไมเกรนในกลุ่มที่มี เออโกตามีน (ergotamine - ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้) เพราะยากลุ่มนี้ ทำให้มดลูกบีบตัวอาจทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ ควรบอกแพทย์เมื่อตั้งครรภ์

ยาแก้อักเสบทานได้มั้ย
เพราะการขาดแคลนแพทย์ในอดีต ความยากลำบากหรือต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการไปหาแพทย์ ทำให้คนไทยซื้อยามารับประทานกันเองจากร้านขายยา นอกจากยาแก้ปวดแล้ว ยาแก้อักเสบก็เป็นยาที่บ้านเราซื้อมารับประทานเองบ่อยมาก บางคนมีอาการเจ็บคอนิดหน่อย เป็นหวัดก็รับประทานยาแก้อักเสบ โดยไม่ทราบว่ายานั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไขหวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาแก้อักเสบรักษาไม่ได้ รับประทานบ่อย ๆ เข้า นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้ดื้อยา เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบจริง ๆ โรคก็ไม่หาย เพราะเชื้อโรคดื้อยาเสียแล้ว จึงไม่ควรใช้ยาแก้อักเสบพร่ำเพรื่อนะครับ

สำหรับคุณผู้หญิง (จะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม) ที่ใช้ยาแก้อักเสบบ่อย ๆ อาจจะมีการอักเสบในช่องคลอดจากเชื้อรา ทำให้มีอาการตกขาวและคันช่องคลอดมากขึ้น

ในกรณีที่คุณแม่ต้องใช้ยาแก้อักเสบ ยาในกลุมเพนิซิลิน แอมพิซิลิน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีที่แพ้ยากลุ่มนี้ อาจจะใช้ยาพวกอีริโธมัยซินแทนได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้อักเสบไม่ว่าจะชนิดที่กล่าวมานี้ หรือยากลุ่มอื่น ๆ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์มากกว่าซื้อยามาทานเอง

ซื้อยาทานเอง : ความไม่รู้ที่น่าเสียใจ
คุณแม่หลายคนเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ อาจมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ ก็จะไปซื้อยามารับประทานเอง โดยไม่ได้เฉลียวใจว่า เริ่มตั้งครรภ์แล้ว ต่อมาเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หลายคนกังวลใจว่าลูกน้อยในครรภ์ จะเกิดความผิดปกติจากการใช้ยาในครั้งนั้นหรือไม่

ก็ขอแนะนำว่าเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ก็ให้หยุดยาที่ใช้อยู่ รีบไปฝากครรภ์ แล้วเล่าให้สูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์อยู่ทราบด้วยว่า ใช้ยาอะไรไปบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่เป็นไร ยกเว้นบางชนิดที่มีผลต่อความเจริญเติบโตของลูกน้อย และอาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์เกิดความพิการได้ เช่น ยารักษาสิวที่มีกรดวิตามิน เอ ซึ่งแพทย์โรคผิวหนังก็มักจะเน้นกับคุณผู้หญิงที่ใช้ว่า ระหว่างใช้ยานี้ ต้องคุมกำเนิด จะปล่อยให้ตั้งครรภ์ไม่ได้ แต่หลายรายก็มักจะไม่ใคร่ได้สนใจคำแนะนำของแพทย์ เท่าไรนัก เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาจึงนึกได้ว่าแพทย์เคยห้ามไว้ ก็เดือดร้อนวิ่งหาแพทย์ ให้ช่วยเหลือกัน

ด้วยเหตุนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง มีปัญหาเจ็บป่วย ก็ควรไปปรึกษาสูติแพทย์ก่อนนะครับ

บอกแพทย์เมื่อตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่ที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีโรคบางอย่าง ต้องใช้ยาอยู่เป็นประจำก่อนตั้งครภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วมีปัญหาว่าจะใช้ยาเหล่านั้นต่อได้ไหม ในกรณีเช่นนี้ขอแนะนำ ให้ปรึกษาแพทย์ที่คุณแม่รักษาอยู่ บอกให้ทราบว่าตั้งครรภ์ และบอกสูติแพทย์ ที่คุณแม่ฝากครรภ์ด้วย เพื่อที่จะได้ปรับลดหรืองดยาตามความเหมาะสม

ในกรณีที่เจ็บป่วยกะทันหัน ไปพบสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้ไม่ทัน ในกรณีเช่นนี้ ก็ควรไปหาแพทย์ที่อยู่ใกล้ก่อน แล้วบอกกับแพทย์ด้วยว่า กำลังตั้งครรภ์ เพราะว่าเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ นั้น แพทย์ทั่ว ๆ ไปไม่สามารถรู้ได้ว่า คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ถ้าไม่บอก เมื่อแพทย์รู้ว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ก็จะได้ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา และให้การรักษาที่เหมาะสมได้ครับ


เมื่อหมอสั่งยาให้
เมื่อแพทย์สั่งยาให้ คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยา โดยมีหลักว่า ใช้ยาให้น้อยที่สุด แต่ได้ประโยชน์สูงสุด โปรดระลึกเสมอว่า แม้ขนาดของยาจะเหมาะสมกับคุณแม่ แต่ถ้ายาผ่านรกเข้าไปในตัวลูกน้อยได้ ขนาดของยานั้นจะมากจนถึงขั้นเป็นพิษต่อลูกน้อยตัวเล็ก ๆ ในครรภ์
  • ใช้ยาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ยาแก้หวัด ควรใช้ก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับสบายด้วย แล้วหวัดจะหายเร็วขึ้น
  • ใช้ยาตามคำแนะนำจากแพทย์ หรือฉลากยาที่แจ้งไว้ ว่าจะใช้เวลาใด มากน้อยเท่าไร
  • อาจจะมีวิธีรักษาบางอย่างที่ไม่ต้องใช้ยาเลย เช่น ขจัดฝุ่นละอองในบ้าน เพื่อลดโรคภูมิแพ้ เป็นต้น


ยานี้ห้าม !
ยาที่อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ ที่พบบ่อย เช่น
  • ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen)
  • สารปรอท (Organic mercury)
  • ยารักษาโรคลมชัก - ไดเฟนิลไฮแดนโทอิน (Diphenylhydantoin) มีชื่อทางการค้า เช่น ไดแลนทิน (Dilantin)
ยาที่อาจมีพิษหรือผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ ซึ่งไม่ควรใช้กับแม่ตั้งครรภ์ หรือควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น
  • แอสไพริน ถ้ากินในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกที่เกิดมามี เลือดออกง่าย
  • ยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (Non-steroid anti- inflammatory drugs) เช่น อินโดเมทาซิน / เฟนิลบิวตาโซน อาจทำให้ทารกเลือดออกง่าย
  • เตตราซัยคลิน ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 2 และ 3 อาจทำให้ทารกฟันเหลือง ดำ กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ สมองผิดปกติ (สมองพิการ ปัญญาเสื่อม)
  • ยาประเภทซัลฟา ถ้าใช้ในหญิงระยะใกล้คลอดอาจทำให้ทารกเกิดอาการ ดีซ่านและสมองพิการได้ (Kernicterus)
  • คลอแรมเฟนิคอล อาจทำให้ทารกเกิดมีอาการตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก ตัวเย็น หมดสติ
  • สเตรปโตมัยซิน คาน่ามัยซิน (Kanamycin) เจนตาไมซิน (Gentamycin) ถ้าใช้นาน ๆ อาจทำให้ทารกหูพิการได้
  • ยาเสพย์ติด (เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจของทารก (ทำให้ทารกเกิดมาหยุดหายใจ) หรือมีอาการขาดยา ทำให้ทารกชักได้
  • ฟีโนบารบิโทน ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจกดศูนย์ควบคุม การหายใจ ของทารก (ทำให้เกิดมาหยุดหายใจ) หรือมีเลือดออกได้
  • ไดเฟนิลไฮแดนโทอิน (Diphenylhydantoin) เช่น ไดแลนทิน (Dilantin) อาจทำให้ทารกเลือดออกง่าย
  • เมโพรบาเมต อาจทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า
  • ยารักษาคอพอก เช่น โพรพิลไทโอยูราซิล (Prorylthiouracil) เมไทมาโซล (Methimazole) อาจทำให้ทารกเกิดโรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย ตัวเตี้ย แคระ และปัญญาอ่อน หากจำเป็นต้องใช้ ควรใช้ขนาดน้อยที่สุด
  • ยารักษาเบาหวานชนิดกิน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในเด็กแรกเกิดได้
  • คลอโรควีน อาจทำให้มีพิษต่อหูของเด็ก
  • ควินิน ถ้าให้จำนวนมาก อาจทำให้แท้งบุตร หรือมีพิษต่อหูของเด็กได้
  • รีเซอร์ฟีน ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกเกิดมีอาการ คัดจมูก ตัวเย็น หัวใจเต้นช้า ตัวอ่อนปวกเปียก
  • โพรพราโนลอล (Propranolol) อาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญ เติบโตช้า ทารกแรกเกิดมีชีพจรเต้นช้า หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ยาที่อาจมีอันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์ ยาที่อาจมีโทษหรืออันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์โดยตรงเช่น
  • แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ อาจทำให้ คลอดเกินกำหนด และคลอดยาก
  • เตตราซัยคลิน อาจมีพิษต่อตับอย่างรุนแรง จนเป็นอันตรายได้
  • ไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) อาจทำให้ตับอักเสบ โลหิตจาง
(ข้อมูลจากหนังสือ "ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป)

รศ.นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ


ขอบคุณนิตยสารดวงใจพ่อแม่ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1