มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากสำนักข่าวไทย 14 พ.ย 41 ]

โรคฉี่หนูไม่น่ากลัว ป้องกันและรักษาหายได้เร็ว

กรมควบคุมโรคติดต่อ


กระทรวงสาธารณสุขมอบให้กรมควบคุมโรคติดต่อ หามาตรการ ทางวิชาการ ในการวินิจฉัยโรคฉี่หนู ชี้อาการเด่นชัดของโรคนี้ ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณน่อง เตือนให้ระวังพบมากภาคอีสาน

น.พ.สุจริต ศรีประพันธ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดต่อ จัดทำข้อมูลวิชาการ เกี่ยวกับโรค เลปสโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ไปยังสถานบริการทุกแห่ง เพื่อช่วยให้แพทย์ วินิจฉัยโรคนี้ได้แม่นยำ และช่วยให้รักษาได้หายเร็วขึ้น ทั้งนี้ ให้แนะถึงวิธีป้องกันโรค อาการเด่นชัดของโรค และการรักษาโรค

สำหรับอาการที่สำคัญ ของโรคนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือปวดกล้ามเนื้อ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะน่อง ทั้งนี้ ต้องมีประวัติไปสัมผัสแหล่งโรค เช่น เดินลุยน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในที่มีหนูมาก เป็นต้น ให้วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคเลปโตสไปโรซีสก่อน

น.พ.สุจริต กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่สลับซับซ้อน หรือเครื่องมือทันสมัย หากสังเกตอาการประกอบกับซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย ตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการประกอบด้วย ก็สามารถ วินิจฉัยโรค ได้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้ถูกต้อง และหายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้เนื่องจาก โรคดังกล่าวเป็นโรคของประเทศในเขตร้อน

ประเทศไทยได้เฝ้าระวังโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ โดยมีรายงานผู้ป่วยปีละเพียง ๒-๒๐ ราย แต่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ โดยเฉพาะในปี ๒๕๔๐ มีรายงานผู้ป่วยสูงสุดถึง ๒,๓๓๔ ราย สำหรับในปีนี้ (๑๐ เดือนที่ผ่านมา) มีรายงานผู้ป่วย จำนวน ๑,๑๔๕ ราย
ในจำนวนนี้เป็นเพศชายมากกว่าหญิงถึง ๕ เท่า
ส่วนมากมีอายุ ๒๕-๓๔ ปี
ผู้ป่วย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาอาชีพรับจ้าง
การเกิดโรคนี้จะพบได้มากในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน
ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา (๒๕๓๙-๒๕๔๑)จำนวนผู้ป่วยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราป่วยสูงนำมาโดยตลอด รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ กาฬสินธุ์ รองลงมาหนองบัวลำภู และขอนแก่น

สำหรับข้อแนะนำที่จะทำให้ปลอดภัยจากโรคฉี่หนู เช่น พยายามหลีกเลี่ยงการลงไป แช่น้ำ ว่ายน้ำ ในขณะที่มีน้ำท่วม ตลอดจนช่วงน้ำลด โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีโรคนี้ระบาด หากจำเป็นต้องลงไปแช่น้ำ ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก จมูก ที่สำคัญต้องไม่มีบาดแผล ถ้ามีแผลต้องใช้พลาสเตอร์ปิดให้เรียบร้อย ควรสวมรองเท้าบู๊ท หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันน้ำได้ กรณีอยู่ในฟาร์มที่ต้องย่ำบนพื้นที่ชื้นแฉะติดต่อกันนาน ๆ

เมื่อพบหนูบริเวณบ้านเรือน สวน ไร่ นา ชุกชุมผิดปกติ จะต้องรีบกำจัด ทำลาย ด้วยวิธีการต่าง ๆ และจัดบ้านเรือน ให้สะอาด กำจัดขยะ เศษอาหารควรทิ้งในภาชนะ ที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อลดจำนวนหนูในทางอ้อม

สำหรับอาหาร ที่เหลือควรเก็บในตู้ หรือใช้ภาชนะปกปิดให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้หนูลงไปกิน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดไว้ และควรนำไปอุ่นให้เดือด หรือร้อนพอ ก่อนนำไปรับประทาน ในมื้อต่อไป.

กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1