มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสาร fitness ปี่ที่ 9 ฉบับที่ 99 ]

เจ็บที่ยอดอก

นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง


ป้าอนงค์ซึ่งมานอนโรงพยาบาลด้วยอาการปวดเข่าทั้ง 2 ข้าง เอ่ยกับหมอในเช้าวันหนึ่งว่า "เมื่อคืนอิฉันเจ็บหน้าอกแทบแย่ เหมือนจะขาดใจเสียอย่างงั้นแหละ"

เป็นหมอคนไหนก็ตามที่ได้ยินคนไข้บ่นว่า เจ็บหน้าอกล่ะก็ เป็นต้องหูผึ่งทันที เพราะจะเป็นอาการที่น่าสงสัยว่า อาจมีอันตรายจากโรคของหัวใจได้

จากการซักไซ้ไล่เรียงก็ได้ความว่า เมื่อคืนป้าแกทานอาหารดึกไปหน่อย เพราะบังเอิญมีญาติจากต่างจังหวัดมาเยี่ยม แล้วก็ซื้อของกินมาฝาก ความเกรงใจ ก็คงมีมาก ป้าแกเลยฉลองศรัทธาเสียยกใหญ่ ด้วยการกินข้าวเหนียวมะม่วงเสียจานหนึ่ง ครั้งพอนอนก็ได้เรื่อง คืออึดอัด รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย นอนก็ไม่หลับ เลยมีความทุกข์ จากการกินที่ไม่พอดีไปซะนี่

ปกติอาการเจ็บหน้าอกในผู้สูงอายุนั้น เจอได้บ่อยทีเดียว และแม้ว่าคนส่วนใหญ่ จะนึกถึงโรคหัวใจไว้ก่อน เพราะดูน่ากลัวที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีสาเหตุมากมาย ที่ทำให้เจ็บหน้าอกได้ ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อทรวงอก และกระดูกอ่อน อักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรืออาจเกิดความวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวนได้ ทั้งหมดนี้ คงมิใช่อาการที่น่าตกใจ แต่หากเป็นโรคที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ หรือเนื้อปอดแล้วล่ะก็ คงเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้แน่

กรณีของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักเกิดอาการจุกแน่นทรวงอก อาจจะร้าวไปที่คอ คางและแขนซ้ายด้านใน รวมทั้งมีเหงื่อแตก ใจสั่น ก็เจอร่วมกันได้ ในบางราย อาจมีสาเหตุนำมาก่อนเช่น ออกกำลังกายหนัก กินอาหารมื้อใหญ่ ๆ หรืออารมณ์โกรธ ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่กระตุ้นความผิดปกติของระบบหลอดเลือด ซึ่งไปเลี้ยงหัวใจให้มีมากขึ้นจนเกิดอาการได้ เข้าทำนองมีจุดอ่อนอยู่แล้ว ยังถูกจู่โจมอีกนั่นเอง

คนที่จะป่วยด้วยโรคหัวใจดังกล่าวนี้ มักมีความเสี่ยงอยู่ก่อนแล้ว บางรายอาจมี น้ำหนักตัวมาก ขาดการออกกำลังกาย มีระดับของไขมันในเลือดสูง รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ทั้งหมดนี้จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง และควรป้องกันเอาไว้หากทำได้

ถ้าพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงร่วมกับอาการที่ใกล้เคียงก็ต้องรีบไปตรวจวินิจฉัย อย่างการตรวจ คลื่นหัวใจ ส่วนเรื่องการเจาะเลือดดูระดับเอนไซม์ คงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป บางรายที่ผลชัดเจนก็ไม่ต้องทำก็ได้

มีผู้สูงอายุอีกประเภทที่มักมีอาการผิดปกติเป็น ๆ หาย ๆ แต่พอตรวจดูแล้วก็ไม่พบอะไร ที่ผิดปกติ ผมพบว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้มักมีปัญหาทางอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ซึมเศร้า รายที่ลูกหลานไม่ค่อยสนใจแต่พอพามาโรงพยาบาลทีก็หายจ้อย แบบนี้เจอบ่อยว่า ผู้สูงอายุจะเกิดความไม่สบายใจ

การพูดคุยและหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นปลูกต้นไม้ ดายหญ้า (ผมมีผู้สูงอายุอยู่รายหนึ่ง แกจะรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว หากไม่ได้ดายหญ้า) ทำขนม กับข้าว ไปวัดทำบุญ

เข้าสู่ยุคไอเอ็มเอฟ ผมสังเกตว่า ผู้สูงอายุหลายท่านเดิมทีต้องมาโรงพยาบาลเอง หรือคนข้างบ้านพามาส่ง ก็จะมีลูกหลานมาเป็นเพื่อนด้วย ถามดูได้ความว่าตกงานอยู่ จึงมีเวลามาดูแล เรียกว่าเป็นเรื่องดีในเรื่องร้ายก็เป็นได้ บางทีการที่เศรษฐกิจตกต่ำ ก็ทำให้คนเรากลับสู่ความเป็นจริงมากขึ้น และอาจพึงพอใจอะไรง่ายขึ้นมาบ้าง ซึ่งคงต้องทำใจกันสักพัก

ในรายของป้าอนงค์ ค่อนข้างชัดเจนว่ามีสาเหตุมากจาการทานอาหารผิดมื้อ
แต่ก็คงต้องติดตามดูอาการกันต่อว่าจะเป็นอีกหรือไม่ เพราะมีอยู่หลายคน
ที่เคยเจ็บแบบหลอก ๆ คือเป็นจากโรคกระเพาะอาหารบ้าง จากกล้ามเนื้อทรวงอกบ้าง อยู่มาวันดีคืนดีก็เจ็บแบบกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างนี้ก็เจอบ่อย ดังนั้นถ้าหากมีอาการผิดแผกไป และดูไม่น่าไว้วางใจ ก็ควรไปตรวจเพื่อความชัวร์ จะดีกว่า เพราะการรักษาตอนอาการไม่มาก แต่หากปล่อยไว้จนเป็นหนัก มือเท้าเย็นเขียว หายใจไม่ออก ตอนเข้าไอซียู ก็เสียเงินหลายอยู่เหมือนกัน

สำหรับคนที่ยังไม่เป็นอะไร ยังไงเสียการทานอาหารอย่างพอเหมาะ คือมันน้อย งดของทอด หรือหวานจัด รู้จักการออกกำลังกายตามสมควรแก่สังขารอย่างสม่ำเสมอ ฝึกสงบจิตใจให้ผ่องแผ้ว ก็น่าจะเป็นการาป้องกัน "เจ็บยอดอก" และอันตราย ไปได้มากทีเดียว

อาการของโรคที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก
สาเหตุ รูปแบบ ลักษณะ การเจ็บ ตำแหน่ง ปัจจัย ที่เกี่ยวข้อง อาการร่วม
กล้ามเนื้อ หัวใจ ขาดเลือด เป็นๆหายๆ จุกแน่น ตรงกลาง ร้าวไปคอไหล่ แขนซ้าย การออกกำกาย อารมณ์ เวียนศรีษะ เป็นลม
ปอดอักเสบ เป็นเรื้อรัง ตลอดเวลา แหลมคม ด้านข้าง ร้าวไปไหล่การหายใจ การไอ ไข้ ไอ หายใจลำบาก
กล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน อักเสบ เป็นเรื้อรัง ตลอดเวลา เจ็บตื้อๆ เฉพาะที่ การเคลื่อนไหว ปวดคอ ปวดหลัง แขนขา ไม่มีแรง
ประสาท กังวล อารมณ์ เป็นๆหายๆ ไม่แน่นอน ไม่แน่นอน ความเครียด อาการทางจิต
(ที่มา - สัจพันธ์ อิศรเสนา, อายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก, ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์,พ.ย.2535,หน้า 70)

นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง


ขอบคุณนิตยสารfitness ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1