น.พ.พงษ์เกียรติ กาญจน์คีรวัฒนา
อาการชักเป็นอาการแสดงที่เกิดขึ้นระหว่างที่สมองทำงานผิดปกติ และการทำงานที่ผิดปกตินี้ เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ และมีแนวโน้มที่จะเป็นซ้ำ เนื่องจากการทำงานของสมองมีลักษณะ คล้ายคลึงกับการทำงานของแผงวงจรไฟฟ้า ในคอมพิวเตอร์ ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า อาการชักเปรียบเสมือนกับภาวะที่มีไฟฟ้าชอร์ตในสมอง หรือมีความผิดปกติของ เซลล์ประสาท เหล่านี้เองที่ไปกระตุ้นให้เซลล์รอบข้างเหนี่ยวนำ ถ้าไม่มีการทำงานมากเกิน กว่าปกติเกิดขึ้นโดยรอบของจุดที่ก่อให้เกิดอาการชัก ผลดีก็คือ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสดง ที่ผิดปกติเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ
อาการชักมีกี่ชนิด?
อาการชักอาจจะสามารถแบ่งได้โดยง่าย ๆ เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ
กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มีอาการชักจากการทำงานที่ผิดของสมองเฉพาะส่วน หรือเฉพาะตำแหน่ง อาการแสดงที่เกิดจากสมองทำงานผิดปกติเฉพาะตำแหน่งนี้ มักจะมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสมองที่ทำงานผิดปกตินั้นมีหน้าที่ควบคุมอะไร อาทิ ถ้าสมองส่วนที่มีการทำงาน ผิดปกติเฉพาะส่วนนั้นเกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนที่ควบคุม กล้ามเนื้อแขนและใบหน้า อาการแสดงของอาการชักชนิดนี้จะเป็นเพียงการกระตุกเกร็ง ของกล้ามเนื้อใบหน้า หรือแขน แต่ถ้าหากสมองส่วนที่มีการทำงานผิดปกติในขณะที่ มีอาการชักนั้นเป็นสมองส่วนที่ควบคุม ประสาทสัมผัสรับรู้ของเขา ในขณะทีผู้ป่วยมีอาการชัก อาการแสดงออกจะเป็นเพียงอาการชา ของแขนในบริเวณ ที่สมองส่วนที่มีอาการชักควบคุมดูแล เป็นต้น
เนื่องจากแต่ละส่วนของสมองมีหน้าที่การทำงานเป็นล้าน ๆ อย่างในชีวิตประจำวัน ทั้งความคิดอ่าน, อารมณ์, ความรู้สึก, ความคิด เป็นต้น ดังนั้นขณะที่สมองมีอาการชักนั้น อาการแสดงจึงสามารถแสดงออกได้ทั้งอาการชักเกร็งกระตุก หรืออาการแสดงผิดปกติ ที่ไม่ใช่เป็นอาการชักเกร็งกระตุกก็ได้ อาการชักที่ไม่ใช่อาการชักเกร็งกระตุกอาจจะมีได้ หลายรูปแบบ อาทิ ตาเหม่อลอย, ไม่รู้สึกตัว, ผงกศีรษะหรือสัปหงก, สะดุ้งผวา หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่รู้สึกตัว อาการชักชนิดที่ไม่ได้ แสดงออก ในรูปแบบของอาการชักเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อของร่างกายมักจะเป็น อาการที่แอบแฝง และไม่เป็นที่สังเกตของคนทั่วไป และมักจะนำมาพบแพทย์ช้า หรือวินิจฉัยได้โดยยาก
อาการชักสามารถทำลายเนื้อสมองผู้ป่วยได้หรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วอาการชักทั่ว ๆ ไปไม่ได้ทำอันตรายแก่เนื้อสมอง เนื้อสมองส่วนใหญ่ จะไม่ตาย โดยง่ายในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เกิดอาการชัก แต่อย่างไรก็ตาม อาการชัก ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลา ยาวนาน หรือที่เราเรียกว่าอาการชักชนิดต่อเนื่อง หรืออาการชักที่เกิดขึ้นนานกว่า 20-30 นาที อาจจะทำให้สมองบางส่วนหรือเซลล์สมอง บางส่วน หรือบางเซลล์ถูกทำลายไปได้ อย่างไรก็ตามภาวะหรืออาการชักชนิดต่อเนื่องเกิดขึ้นน้อยมากในผู้ป่วยลมชักที่ได้รับ การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการชัก ?
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักมีได้หลายอย่าง ผู้ป่วยทั่วไปหากมีภาวะอ่อนล้า, อดนอน, อดอาหาร หรือขาดยากันชัก อาจจะทำให้เกิดอาการชักเกิดขึ้นได้ง่าย นอกจากนั้น เครื่องดื่มบางอย่าง อาทิ แอลกอฮอล์, ยากระตุ้นบางชนิด เช่น ยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้น ระบบประสาท อาจมีผลทำให้เกิดอาการชักได้โดยง่าย นอกจากนั้นแล้ว ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจจะเกิดจาการอดอาหารก็มีส่วนทำให้เกิดอาการชักได้โดยง่าย หรือในผู้ป่วยบางราย ได้รับแสงไฟกะพริบ เช่น ไฟจากสปอตไลต์ หรือไฟจากดิสโก้เธคกะพริบก็อาจจะกระตุ้น ให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน
อะไรคือโรคลมชัก ?
โรคลมชักไม่ใช่โรคใดโรคหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มอาการหรือโรคทางสมองใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ สมองมีอาการชักนั้นเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่มีสิ่งเร้าใด ๆ มากระตุ้นทำให้เกิดอาการมากกว่า
2 ครั้งขึ้นไปในชีวิต แสดงอาการผิดปกติออกมา เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ โรคลมชักเกิดได้จาก หลายสาเหตุ
อะไรเป็นสาเหตุทำให้คนป่วยเป็นโรคลมชัก ?
ประมาณเกินกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อยของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เราไม่สามารถหาสาเหตุได้ ว่าอะไรเป็นสาหตุที่ทำให้เกิดอาการชัก ในส่วนที่หาสาเหตุได้นั้น อาการชักจะเกิดจาก ภาวะผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุเนื่องจาก อาทิ อุบัติเหตุทางศีรษะ, ภาวะขาดออกซิเจน ของสมอง, ภาวะเนื้องอกในสมอง, ได้รับสารพิษ เช่น ตะกั่ว หรือภาวะสมองพิการผิดรูป ของเนื้อสมอง รวมทั้งโรคติดเชื้อทางระบบประสาทส่วนกลาง อาทิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรีย, เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค หรือไข้ไวรัสสมองอักเสบ เป็นต้น
โรคลมชักพบบ่อยเพียงใด?
โรคลมชักพบได้ประมาณ 1% ของประชากรทั่วไปในประเทศไทยซึ่งมีประชากรประมาณ
60 ล้านคน จะมีผู้ป่วย ป่วยเป็นโรคลมชักประมาณ 6 แสนคนทั่วประเทศ
โรคลมชักพบได้ในช่วงอายุใดบ้าง ?
โรคลมชักพบได้ทุกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยชราหากจะพิจารณาดูเฉพาะจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับ การวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักในแต่ละปีประมาณได้ว่า 70% ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด จะอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น
โรคลมชักสามารถป้องกันได้หรือไม่ ?
โรคลมชักไม่สามารถติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งได้ โรคลมชักเป็นโรคเฉพาะบุคคลที่เกิดความผิดปกติของสมองของแต่บุคคล
โรคลมชักเป็นภาวะ หรือโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ ?
โรคลมชักส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากพันธุกรรม แต่พันธุกรรมไม่ได้เป็นเพีงสาเหตุเดียวเท่านั้น ที่ทำให้โรคลมชัก มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากซึ่งไม่มีสาเหตุของโรคลมชักจากพันธุกรรม
โรคลมชัก หรือโรคลมบ้าหมูเป็นโรคทางจิตใจใช่หรือไม่ ?
โรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมูไม่ใช่โรคที่เกิดจากทางสภาวะจิตใจที่ผิดปกติ ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับจิตใจ
เราวินิจฉัยโรคลมชักได้อย่างไร ?
โรคลมชักโดยส่วนใหญ่วินิจฉัยได้โดยง่าย โดยอาศัยประวัติการเจ็บป่วย หรืออาการชัก ที่ชักได้จากผู้ป่วย หรือผู้เห็นเหตุการณ์โดยละเอียด ประวัติที่สำคัญที่จะช่วยชี้บ่งว่าผู้ป่วย มีอาการของโรคลมชักก็คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นซ้ำ ๆ เกินกว่า 2 ครั้ง ขึ้นไปในชีวิต และอาการแสดงผิดปกติดังกล่าวนั้น มีลักษณะเหมือนกันทุกครั้ง ที่เกิดอาการ อาการแสดงผิดปกติไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาการแสดงชนิดที่เราเรียกว่าชักเกร็งกระตุก อาการแสดงผิดปกติอาจจะรวมไปถึงอาการเหม่อลอย อาการสัปหงก อาการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อของมือ แขน ขา และใบหน้า ที่ผิดปกติแต่เกิดขึ้นเป็นซ้ำๆ เหมือนกันทุกครั้งที่เป็น ดังนั้นประวัติที่เราเช็กได้โดยละเอียดจึงมีความสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัยโรคลมชัก
แล้วเมื่อไหร่เราจึงจะเริ่มวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก และเริ่มให้การรักษาอาการชัก
การศึกษาวิจัยเฝ้าติดตามผู้ป่วยที่มีอาการชักชนิดที่ไม่มีสาเหตุที่ทำให้มีอาการชัก พบว่า
ถ้าผู้ป่วยเคยมีอาการชักเพียง 1 ครั้งในชีวิต จะพบอุบัติการของอาการชักครั้งที่สอง ตามหลังอาการชักครั้งแรก ประมาณ 33% สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการชัก 2 ครั้งในชีวิต โดยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีอุบัติการของการชักอีก เป็นครั้งที่ 3 ประมาณ 73% สำหรับในผู้ป่วยมีอาการชักอย่างน้อย 3 ครั้งในชีวิต โดยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีอุบัติการ ของการชักอีกเป็นครั้งที่ 4 ประมาณ 76% |
จากการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่าแม้อาการชักเพียงครั้งเดียวในชีวิตจะไม่พบว่ามีหลักฐาน ที่แสดงว่าเซลล์สมองถูกทำลายก็ตาม แต่อุบัติการของการซ้ำ โดยไม่มีสิ่งกระตุ้น จะสูงกว่า คนทั่วไป หรือคนปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการชักเกินกว่า 2 ครั้งขึ้นไปในชีวิตจะมีโอกาสเป็น โรคลมชักมากกว่าคนปกติถึง 1.9 เท่า ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการชักเกินกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ในชีวิตควรได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก และเริ่มให้การรักษาทุกราย แต่อย่างไรก็ดีการพิจารณาให้การรักษาคงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นด้วย อาทิ อายุของผู้ป่วย อันตรายต่อการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต และสุขภาพของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเกิดอาการชักเป็นซ้ำ จะมีอันตรายต่อการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต และสุขภาพ ของผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักควรปฏิบัติตนอย่างไร ?
ควรรับประทานยากันชักตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ จดบันทึกอาการชักที่ตนมีทุกครั้ง ที่ทราบ หรือทำสมุดบันทึกรายวัน เพื่อบันทึกวัน เวลา และชนิดของอาการชัก ทุกครั้งที่มีอาการ จากสถิติการรักษาโรคลมชักด้วยการรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายขาดได้
ควรปฏิบัติตนอย่างไรในการปฐมพยาบาลอาการชัก ? |
1. อย่าตกใจ 2. จับผู้ป่วยนอนตะแคงบนเตียง หรือพื้นที่ไม่มีของแข็งที่จะกระแทกตัวผู้ป่วย 3. ถ้ามีลูกสูบยางแดง ดูดน้ำลาย ให้ดูดเสมหะ เศษอาหาร น้ำลายออกจากปาก เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง 4. ถ้าผู้ป่วยชักจนตัวและริมฝีปากเขียวอยู่นาน เป่าปากผู้ป่วยหลังจากได้ทำให้ ทางเดินหายใจโล่งแล้ว 5. ไม่ควรจับยืดตัวผู้ป่วยขณะชัก หรือพยายามยืดฝืนอาการชักเพราะอาจจะทำให้เป็น อันตรายต่อผู้ป่วย เช่น หัวไหล่เด็กหลุด กระดูกแขนขาหัก 6. ไม่ควรเอาช้อน หรือไม้กดลิ้นพันสำลีงัดปากผู้ป่วยขณะที่กำลังชักอยู่ เพราะโอกาสที่ฟันผู้ป่วยจะหัก หรือหลุดจากแรงงัดของช้อน หรือไม้กดลิ้นมีสูง และเศษฟันอาจจะหลุดลงไปอุดหลอดลม หรือช่องทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะกัดลิ้นตัวเองจนขาดขณะชักไม่มี แต่โอกาสที่ลิ้นจะถูกเราดันไปทำให้เกิดความชอกช้ำมากขึ้น มีสูงมาก 7. โดยส่วนใหญ่อาการชักที่เกิดขึ้น ถ้าไม่นานเกิน 15 นาที ไม่ค่อยพบว่า มีอันตรายร้ายแรง ต่อสมองผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตาม ควรรีบนำส่งแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดต่อไป |
น.พ.พงษ์เกียรติ กาญจน์คีรวัฒนา
main |