โรคไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยจะกลายเป็นผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
อาจมีไข้ต่ำๆ ในวันแรกๆ จุกแน่นท้อง ปวดท้อง ตัวเหลือง
ตาเหลือง (ดีซ่าน) ปัสสาวะสีเข้ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรค
และมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ 10-20% ของผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัสในเลือดและตับ โดยอาจมีอาการของตับอักเสบเรื้อรัง หรืออาจไม่มีอาการ
บุคคลทั้ง 2 กลุ่มนี้ สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปได้
เราเรียกบุคคลทั้ง 2 กลุ่มนี้ว่า เป็น "พาหะ" หรือตับอักเสบเรื้อรัง ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้เป็นพาหะเฉลี่ย 6% ของประชากร
หรือประมาณ 3 ล้าน 6 แสนคน ขณะที่ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน
เคยมีผู้เป็นพาหะสูงถึง 10% ของประชากร ประมาณ 10% ของผู้เป็นพาหะ จะกลับเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังได้อีก และบางรายอาจตายด้วยโรคตับแข็ง
ตับวาย ท้องมาน อาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ผู้เป็นพาหะมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติถึง 100 เท่า
เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับถึง 80% ของผู้ป่วยทั้งหมด โอกาสการเกิดมะเร็งจะมีมากหากผู้ป่วยติดเชื้อนี้ตั้งแต่วัยเด็ก
เช่น ติดจากมารดาตอนแรกเกิด
โรคไวรัสตับอักเสบ บี ติดต่อได้อย่างไร
โรคนี้สามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่งของผู้ป่วยตับอักเสบระยะปัจจุบันหรือระยะเรื้อรังหรือผู้เป็นพาหะ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในลักษณะต่างๆ กัน เรียกว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
โรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้แก่
- การรับถ่ายเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือดที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่
- การใช้เข็มฉีดยาที่มีเชื้อปนเปื้อน การเจาะหู การสัก การทำฟัน ที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่โดยไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
- การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ เช่น แปรงสีฟัน
มีดโกน ที่ตัดเล็บ เพราะอาจปนเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้ออยู่
- การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่
- การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ โดยผ่านเข้าทางบาดแผลโดยไม่รู้ตัว เช่น การกอดรัดฟัดเหวี่ยง
หรือกัดกันเล่นๆ ของเด็ก
- การถ่ายทอดเชื้อจากมารดาที่เป็นพาหะหรือเป็นโรคอยู่ไปยังลูก
ระหว่างอยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น และรับวัคซีน
ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากวัคซีนนี้มากที่สุดคือ
เด็กแรกเกิด เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด
ซึ่งควรฉีดครั้งแรกโดยเร็วที่สุด หรือภายใน 24 ชม. หลังคลอด
ครั้งที่สองอายุ 1-2 เดือน และครั้งที่สามอายุ 6-7 เดือน
สำหรับในกลุ่มอายุอื่น ฉีด 3 ครั้งเช่นกัน โดยฉีดครั้งที่สอง
ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่สามห่างจากครั้งที่สอง 5-6 เดือน
|