นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
จากการรายงานปัญหาชีวิตและสุขภาพครั้งที่ 1165 (ปีที่ 24) ด้วยความร่วมมือ ทางวิชาการ จากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2541
เรื่อง "IVIG ผลิตภัณฑ์จากพลาสมาเพื่อการรักษาทางการแพทย์" ได้รับการต้อนรับ และได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางรายการเองก็มีความภูมิใจ ที่ได้เสนอผลงานใหม่ อันนับเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งของ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
โดยปรัชญาว่า "หนึ่งผู้ให้ หลายผู้รับ" หรือ "บริจาคโลหิตหนึ่งหน่วย ช่วยได้หลายชีวิต" นั้นศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้นำมาพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี อันเป็นผลให้ปรัชญานี้มีความเป็นจริงที่สูงสุด โดยสามารถแยก ส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดโลหิตออกจากส่วนของพลาสมาหรือน้ำเหลือง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ให้แตกต่างกันไป และใช้ได้ในหลาย ๆ กรณี แต่ละกรณีก็ช่วยผู้ป่วยได้ในแต่ละราย แต่ละโรค ยกตัวอย่างเช่น ส่วนเซลล์เม็ดโลหิต ยังสามารถแยกออกไปเป็นส่วนของ เม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งสามารถแยกขอ และแยกใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายได้ แตกต่างกันไปแล้วแต่ความต้องการ แล้วแต่โรค
ส่วนของ พลาสมาหรือน้ำเหลือง ก็สามารถจำนำไปใช้ผู้ป่วยทั้งหมดก็ได้ หรือจะนำมา แยกส่วนผลิตเป็นอัลบูมิน ไฟบรินกลู (Fibrin Glue) และล่าสุดก็คือผลิตเป็น IVIG
IVIG เป็นคำย่อมาจากคำว่า Intra Venous Immuno Globulin หมายถึงสารโปรตีนชนิด โกลบูลิน ที่มีภูมิต้านทานอยู่ในตัวและนำมาใช้ให้ผู้ป่วย โดยวิธีฉีดเข้าหลอดโลหิต (ซึ่งแตกต่างจากบางโกบูลินชนิดที่ใช้โดยการฉีดกล้ามเนื้อ) นายแพทย์อิศรางค์ นุชประยูร, จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ ในรายการว่า สาร IVIG ที่เตรียมมาจากพลาสมานี้มีข้อบ่งชี้ในการใช้รักษาโรคยาก ๆ หลายโรค เช่น
1. โรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง
โรคนี้แพทย์เรียกันย่อ ๆ ว่า I T P (Immune thrombo cytopenia) อาการของโรคนี้ก็คือ เลือดออกไม่หยุดหรือหยุดยาก ถ้าหากเกิดบาดแผลหรือเมื่อมีเลือดกำเดาไหล ผู้ป่วยโรคนี้จะมีจ้ำเขียวตามเนื้อตัวได้ง่าย หรือมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ขึ้น ตามแขนขา และลำตัว สาเหตุที่มีอาการดังนี้ก็เพราะว่า ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่มีเกล็ดเลือดต่ำหรือมีปริมาณของ เกล็ดเลือดน้อย และการที่มีเกล็ดเลือดน้อยนี้มิใช่ว่าเกิดจากไขกระดูกผลิคเกล็ดเลือด ออกมาน้อย แต่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่ปกติ ในทางการแพทย์อธิบายว่า ร่างกายของผู้ป่วยจะผลิตภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือดของตนเอง ทำให้เหมือนว่าเกล็ดเลือด เป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกายต้องกำจัดทิ้ง เกล็ดเลือดจึงถูกส่งไปทำลาย โดยม้ามของผู้ป่วย ดังนั้นไม่ว่าไขกระดูกจะผลิตเกล็ดเลือดมามากเพียงใด หรือแม้จะได้รับเกล็ดเลือดจากผู้อื่น ม้ามของผู้ป่วยเองก็ทำลายหมด
วิธีการรักษามีหลายประการ บางรายโดยเฉพาะในเด็ก เกล็ดเลือดไม่ต่ำมาก ไม่มีเลือดออก อาจจะหายได้เอง คือเกล็ดเลือดขึ้นเองในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายรอไม่ไหว เพราะ เกล็ดเลือดต่ำมาก และมีเลือดออกไม่ยอมหยุด หรือผู้ป่วยเด็กที่ซนมากชอบเล่นหกล้ม ก็ต้องรักษาให้เกล็ดเลือดกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาประเภท Steroid ได้ผลดีพอใช้ เพราะทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน อ่อนแอลง จึงต่อต้านเกล็ดเลือดของตัวเองน้อยลง แต่ก็ทำให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรค ได้น้อยลงด้วย จึงเป็นยาอันตราย นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียง หลายประการ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แพทย์ก็ไม่อยากสั่งให้ทาน วิธีรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีมาก คือ การตัดม้าม เพราะเราทราบว่าม้ามเป็นตัวการในการทำลายเกล็ดเลือด เมื่อตัดม้ามออกทิ้งเสีย เกล็ดเลือดก็จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหามีอยู่ว่า แต่ละคนมีม้ามอันเดียว ตัดออกแล้วก็หมดกัน ปกติม้ามมีหน้าที่ช่วยจัดการเม็ดเลือด ที่ไม่สมบูรณ์ และป้องกันเชื้อโรคบางอย่าง ผู้ป่วยที่ตัดม้ามอาจจะติดเชื้อโรคบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้ง่าย จึงต้องดูแลตนเอง ใกล้ชิด ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะกังวลเรื่องการผ่าตัด อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นโชคดีของผู้ป่วยโรค I T P เพราะ ได้มีการค้นพบว่า IVIG สามารถใช้รักษาโรค I T P ได้ผลดีมาก คือ ทำให้เกล็ดเลือดกลับสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดีพอ ๆ กับ การตัดม้ามเลยทีเดียว ถึงกับกล่าวกันว่าการใช้ IVIG เป็น การตัดม้ามโดยไม่ต้องผ่าตัด (medical splenectomy) บางคนก็กล่าวว่าการใช้ IVIG นั้นเป็นเหมือนการตัดม้ามชั่วคราว ที่เป็นเช่นนี้เพราะ IVIG ประกอบไปด้วยภูมิต้านทานใหม่ ๆ (antibodies) จำนวนมาก นับได้ว่าการรักษาโรคนี้โดยให้ IVIG เป็นการรักษาที่น่าพิจารณาก่อนการวิธีอื่น
2. โรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน
โรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิดมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ล้วนเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งหาได้ยาก เด็กเหล่านี้มีอาการติดเชื้อได้ง่าย เช่น ท้องเสียบ่อยมาก เป็นปอดบวมหลายครั้งตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ขวบ ถ้าแพทย์พบว่าสาเหตุของภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอิมมูโนโกลบูลิน ได้เอง เด็กเหล่านี้จะรักษาได้ด้วยการให้ IVIG ทุกเดือนไปตลอดชีวิต การให้ IVIG ทุกเดือน จะทำให้เด็กเหล่านี้ แข็งแรงสมบูรณ์เติบโตได้เหมือนเด็กปกติ
3. โรคคาวาซากิ (Kawasaki'a disease)
โรคชื่อเหมือนจักรยานยนต์นี้ เป็นโรคของเด็ก ซึ่งรายงานครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และต่อมาก็พบว่าเป็นกับเด็กทั่วโลก โรคนี้คงไม่คุ้นหูท่านเพราะพบได้ไม่บ่อยนัก ในเด็กไทย โรคนี้กุมารแพทย์จะนึกถึงเมื่อเด็กที่ปกติแข็งแรงสบายดี แล้วเกิดมีไข้อยู่หลายวัน มีผื่น ตาแดง มือและเท้าแดง ริมฝีปากบวมแดง และแตก ต่อมน้ำเหลืองโต ไม่มีการตรวจใด ๆ ที่จะยืนยันว่าเป็นโรคนี้ จึงนับว่าเป็นโรคที่วินิจฉัยยากโรคหนึ่ง อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นปัญหาคือ เด็กบางคนหลังจากที่หายจากโรคนี้แล้ว พบว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจบางแห่งจะมีการ โป่งพองผิดปกติ ซึ่งตรวจได้จากการตรวจหัวใจ echocardiogram หรือการสวนหัวใจ ในประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้ป่วยโรคนี้มาก พบว่า การให้ ยา IVIG สามารถป้องกัน เด็กที่เป็นโรคคาวาซากิจากการเกิด เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง นี้ได้ ทำไม IVIG จึงป้องกัน ปัญหาของเส้นเลือดหัวใจได้นั้นยังไม่มีผู้ใดทราบ ดังนั้นลูกหลานของท่านป่วยด้วย โรคแปลก ๆ และกุมารแพทย์ผู้ดูแลสงสัยว่าจะเป็นโรคคาวาซากิ แพทย์อาจจะพิจารณาใช้ IVIG เพื่อการรักษา
4. นอกจากนี้ยังมีโรคอีกหลายอย่างที่การใช้ IVIG อาจได้ผล
ยกตัวอย่างเช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากเส้นประสาทไม่ทำงานชนิดที่แพทย์เรียกว่า กิแลง แบเร (Guillain Barre' s syndtome) โรคนี้ไม่มีชื่อภาษาไทย โรคนี้เกิดกับเด็ก และผู้ใหญ่ ที่เดิมแข็งแรงสบายดี อยู่มาเกิดอาการขาอ่อนแรงอย่างรวดเร็ว เดินไม่ได้ และอาจเป็นมากขึ้น เรื่อย ๆ เช่น แขนก็อ่อนแรง ในที่สุดบางรายหายใจลำบาก ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรค กิแลง แบเร นี้ การรักษาด้วย IVIG ทำให้ผู้ป่วยหลายรายหายอย่างรวดเร็ว และกลับมาเดินใหม่ได้
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
main |