มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 9 กันยายน 2540 ]

การฟื้นฟูสมรรถนะหลังเป็นอัมพาต

นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ


อัมพาต! อัมพฤกษ์! สองโรคนี้เมื่อได้ยินชื่อแล้วหลายคน คงนึกถึงสภาพความพิการบางอย่าง ขึ้นมาทันทีเช่น ร่างกายกระดุกกระดิกไม่ได้ หรือไม่มีแรงไปแถบหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด กลืนลำบาก ตา หู ผิดปกติ ไม่เข้าใจคำพูดที่เคยพูดกันรู้เรื่อง ฯลฯ

ครับเหล่านี้ คืออาการส่วนหนึ่งของผู้เป็นอัมพาตนั่นเอง ส่วนอัมพฤกษ์ ก็คือ อัมพาตนั่นแหละ แต่เกิดขึ้นชั่วครู่เดียว เช่น อาจแค่ 4-5 แล้วนาทีก็หายไปเอง นั่นเป็นลางบอกเหตุ เป็นการเตือนว่า อัมพาตตัวจริงจะถามหาแล้วนะ ระวังตัวไว้ให้ดี

ปีหนึ่ง ๆ บ้านเราเป็นอัมพาตกันไม่น้อยครับ ที่อเมริกาพบราว 5 แสน 5 หมื่นราย จากจำนวนนี้   จะตายเสีย 1 แสน 5 หมื่น และอีก 3 แสนรายพิการ ผลของการเยียวยารักษาที่ดีขึ้น ทำให้อัตราการตายจากอัมพาตลดลง แต่ก็ทำให้ผู้รอดชีวิตในสภาพพิการมากขึ้นครับ

การช่วยฟื้นฟูสมรรถนะ ผู้ป่วยอัมพาตให้กลับสู่สภาพเดิม หรือใกล้เคียง หรือสามารถช่วยตัวเองได้ จะเป็นประโยชน์มาก ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวและสังคม นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทีเดียว

เป้าหมาย
การฟื้นฟูสมรรถนะมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
- ฟื้นฟูสมรรถนะที่สูญเสียไปให้กลับคืนมามากที่สุด
- ป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อน
- เพิ่มคุณภาพชีวิต และ
- ให้การศึกษาแก่ผู้ป่วย และครอบครัวเกี่ยวกับวิธีป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอัมพาตอีก

มีราว 10% ของผู้รอดชีวิตจากอัมพาตที่ไม่มีความพิการหลงเหลือ และสามารถทำงานได้เหมือนเดิม พวกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถนะ

อีก 10% มีความพิการมาก และรุนแรงจนต้องอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะช่วยทำการฟื้นฟูสภาพอย่างไร ก็ไม่สามารถให้กลับไปอยู่บ้านตามลำพังได้

ที่เหลือ 80% ของผู้รอดชีวิตจะมีความพิการน้อยจนถึงปานกลาง และจะได้รับประโยชน์ จากการช่วยฟื้นฟูสมรรถนะครับ

การฟื้นฟูสมรรถนะควรเริ่มทำโดยเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังเกิดอัมพาตเลยก็ดี แพทย์จะเป็นผู้ประเมินผู้ป่วย เพื่อคัดเลือกว่า รายใดจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูสมรรถนะ และเพื่อกำหนดระดับการฟื้นฟูสมรรถนะว่าแค่ไหนเหมาะสม

ผู้ป่วย ครอบครัว แพทย์ผู้รักษาและนักฟื้นฟูสมรรถนะจำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกันในวิธีการฟื้นฟู และผลสำเร็จจะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก เขาจำเป็นต้องรู้และเข้าใจถึง สาเหตุและผลกระทบของอัมพาต โรคแทรกซ้อนและวิธีป้องกัน ยาที่ใช้รักษา วิธีป้องกัน ไม่ให้อัมพาตเกิดซ้ำ และเทคนิคที่ช่วยผู้ป่วยอัมพาตเคลื่อนไหวและช่วยตัวเองในการทำกิจกรรม ในชีวิตประจำวัน

รูปแบบการฟื้นฟูจากอัมพาต
เมื่อดูการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อหลังเป็นอัมพาต จะเห็นว่า เริ่มแรกกล้ามเนื้อจะอ่อนปวกเปียกเลย ต่อมายึดเกร็ง ต่อมาเริ่มเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย จากนั้นก็เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น มีกำลังขึ้น และนานขึ้น จนในที่สุดกลับเป็นปกติเท่าก่อนเป็นอัมพาต

แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยทุกคนจะฟื้นได้ดีขนาดนี้ บางรายการฟื้นตัวบางระยะช้ามาก บางรายหยุดอยู่แค่นั้น เช่น ระยะกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก อาจล่าช้าเป็นเดือน อาจเคลื่อนไหวได้เล็กน้อยแต่ทำตามสั่งไม่ได้

ส่วนใหญ่แล้วการฟื้นตัวจะเร็วที่สุดในช่วง 3 เดือนหลังเป็นอัมพาต การฟื้นฟูสมรรถนะจึงมีบทบาทสำคัญมากในการเร่งหรือเปลี่ยนแปลงระยะฟื้นตัวนี้

ปัจจัยชี้บ่งการฟื้นตัวหลังอัมพาต
มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยพยากรณ์ว่า ผู้ป่วยจะฟื้นตัวจากการเป็นอัมพาตได้ดีหรือไม่ดีครับ เช่น

อาการบกพร่องทางประสาทสัมผัสหรืออาการพูดไม่ได้ จะบ่งชี้ให้รู้ว่ารายนี้จะฟื้นตัวช้า รายที่สติปัญญาบกพร่องก็ผลไม่ดีเช่นกัน ทำให้ต้องอาศัยคนดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย อาการกลั้นปัสสาวะ กลั้นอุจจาระไม่ได้บ่งบอกว่าแย่ครับ

ถ้าคู่ครองอีกฝ่ายสุขภาพดี ดูแลเอาใจใส่ดีและฐานะดีจะช่วยมากครับ การฟื้นตัวจะดี

การป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนของอัมพาต มีทั้งที่เป็นผลจากรอยโรคในสมองโดยตรงและที่เป็นผลทางอ้อม

โรคแทรกซ้อนมีผลต่อการฟื้นฟูสมรรถนะมากจึงต้องพยายามป้องกันอย่าให้เกิด ถ้าเกิดต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว

มาตรการป้องกันอัมพาตเกิดซ้ำ
ผู้ที่เคยเป็นอัมพาต จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพาตซ้ำสูงถึง 5 เท่า ของผู้ไม่เคยเป็น ฉะนั้นการป้องกัน ไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถนะ

มาตรการป้องกันได้แก่ การชี้บ่งและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และการมีชีวิตประจำวันแบบนั่ง ๆ นอน ๆ

การให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด และยาป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน พบว่าช่วยป้องกันอัมพาตซ้ำได้ดี ในบางกรณี การป้องกันอาจใช้วิธีผ่าตัด เช่น ผ่าตัดแก้ไขเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบตัน ผ่าตัดหลอดเลือดโป่งในสมอง หรือผ่าตัดหลอดเลือดผิดปกติต่าง ๆ

นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1