นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยมีผู้ป่วย ที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง และก่อให้เกิดโรคอัมพาตเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ทั้งนี้เพราะในต่างประเทศ ที่มีความเจริญก้าวหน้า วิวัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทุนนิยม แบบเดียวกัน ก็ประสบปัญหาโรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมองเช่นนี้มาแล้วเช่นเดียวกัน ประชาชนคนไทยไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับสภาพความเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาตสักเท่าไรนัก จึงมีคำถามเกี่ยวกับโรคนี้เกิดขึ้นมากมาย การให้ความกระจ่างในแต่ละคำถาม ที่ถามผมมา น่าจะทำให้ประชาชนคนอื่น ๆ ได้รับความรู้ไปด้วยพร้อม ๆ กัน แม้จะไม่กระจ่างครบถ้วนหรือครบวงจร แต่ก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจ ลดความเป็นทุกข์ด้วยความไม่รู้หรือด้วยความวิตกกังวลไปได้บ้างพอสมควร
ถาม - อะไรเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต ?
ตอบ
- อัมพาตเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ (ช่วงครึ่งหลังของชีวิต) และเกิดจาก การเสื่อมตามวัยของเส้นเลือด และบางทีก็เกิดจากโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ อัมพาตเกิดเพราะภาวะอุดตันในเส้นเลือดที่เสื่อมสภาพ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองบางส่วนไม่ได้ หรือเพราะเส้นเลือด (ในสมอง) ที่ไม่ปกตินั้นแตก เลือดจึงไหลทะลัก เข้าสู่เนื้อสมอง เมื่อปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น จะทำให้สมองส่วนที่เกิดพยาธิสภาพถูกทำลาย
ราว ๆ ครึ่งหนึ่งของผู้เป็นอัมพาต เป็นจากการที่เส้นเลือดเสื่อมเพราะความดันโลหิตสูง เป็นเบื้องต้น ถ้าผู้นั้นมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มอีก เช่น สูบบุหรี่จัด อ้วน รับประทานอาหาร รสเค็มจัด หรือเป็นโรคหัวใจ หรือเบาหวานด้วย อัตราเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้น ปัจจัยที่สงสัยว่า น่าจะเกี่ยวข้อง กับอัมพาตนั้นมีหลายอย่าง อัมพาตจึงไม่เป็นจากเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่เพียงอย่างเดียว
ใคร ๆ ก็อาจจะเคราะห์ร้ายเป็นอัมพาตได้ และจะเป็นเมื่อไรก็ได้ ความเสี่ยงอาจจะลดลงได้บ้าง โดยการใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งหมายถึงงดการสูบบุหรี่ และวัดความดันโลหิต เป็นระยะ ๆ เมื่อพบว่าความดันโลหิตสูง ก็ควรจะไปรับการรักษา
ถาม เป็นอัมพาต เพราะทำงานมากเกินไป หรือเพราะความเครียดใช่ไหม ?
ตอบ
ไม่ใช่ อาจจะกล่าวได้ว่าในบางช่วงชีวิตก่อนที่จะเป็นอัมพาต ผู้ป่วยอัมพาตต่างก็เคย เผชิญกับความเครียด หรือทำงานหนักมาก่อน เช่นเดียวกับคนที่ไม่เป็นอัมพาต โดยปกติมักจะคิดกันว่า อัมพาตและความเครียดน่าจะเกี่ยวข้องกันแต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่จริงแล้วมีผู้ป่วยมากรายที่เป็นอัมพาตในขณะนอนหลับ แต่อย่างไรก็ตาม ความเครียดก็สัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่งของอัมพาต เราคงจะขจัดความเครียดจากชีวิตมนุษย์ไม่ได้ แต่เราลดความดันโลหิตได้
ถาม - สมองได้รับความกระทบกระเทือนจากโรคอัมพาตหรือไม่ ?
ตอบ
- ได้ โรคอัมพาตมีผลกระทบถึงสมอง ทำนองเดียวกับโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน ที่มีผลกระทบถึงหัวใจ ซึ่งจะไปทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แล้วกล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื้อสมองถูกทำลายเสมอเมื่อเป็นอัมพาต แบบเดียวกับที่กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ในรายที่เส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจเกิดอุดตัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ความรู้สึกนึกคิด ของผู้ที่เป็นอัมพาต จะเสียเสมอไป อาการทุกอย่างของอัมพาต เป็นผลจากสมองถูกทำลาย ถ้าสมองถูกทำลายมาก หรือสมองบริเวณสำคัญถูกทำลาย ผู้นั้นก็จะสูญเสีย ความสามารถสำคัญ ๆ เช่น การเคลื่อนไหว การพูด ความทรงจำ สมาธิ และความสามารถในการเรียนรู้ หรืออาจจะมีความคิดสับสน กลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ผู้ป่วยจะรับความคิดใหม่ ๆ ได้ช้าลง ญาติต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเปลี่ยน แปลงเหล่านี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเลื่อนลอย ไม่อยู่กับความจริง หรือการประเมินสมรรถภาพของตนเอง และความสัมพันธ์กับผู้อื่น บกพร่องไป
ส่วนใหญ่แล้ว แม้รายที่เป็นอัมพาตรุนแรงก็ไม่ค่อยจะมีผลกระทบต่อสติปัญญา และความทรงจำ พลังความคิดของผู้ป่วยก็ยังคงดีเท่าเดิมนอกจากรายที่เป็นอัมพาต ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ถาม- อัมพาตมีผลต่อหัวใจหรือไม่ ?
ตอบ
ไม่มี อัมพาตไม่ผลต่อหัวใจ แต่ผู้ที่เป็นอัมพาตอาจมีโรคหัวใจอยู่แล้ว ซึ่งอาจรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ว่าเป็นโรคหัวใจก่อนเป็นอัมพาต
ถาม- อาการอัมพาตจะทุเลาขึ้นหรือไม่ ? และจะต้องรอนานเท่าไร ?
ตอบ
- ทุเลาขึ้นแน่ ๆ ถ้าไม่เสียชีวิตในช่วงแรก คือ 1-2 สัปดาห์ หลังเป็นอัมพาต แต่มีน้อยรายที่จะฟื้นเต็มที่ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเป็นอัมพาตมีอยู่ 4 ประการ
1. เซลล์สมองส่วนที่ถูกทำลายตอนที่เป็นอัมพาตนั้นตายไป แล้วไม่มีทางฟื้นขึ้นเลย ถ้าการทำลายรุนแรง การฟื้นตัวจะเป็นไปได้น้อยหรือไม่สมบูรณ์
2. เซลล์อื่น ๆ ที่ถูกทำลายไปบางส่วนจากอัมพาตจะดีขึ้น แล้วกลับทำหน้าที่ได้อีก กระบวนการนี้จะใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ หลังจากเป็นอัมพาต
3. สมองส่วนที่ไม่ถูกทำลายด้วยอัมพาตจะทำหน้าที่แทนส่วนที่ตายไปได้ ในปริมาณจำกัด แต่อาจพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ อีกนาน
4. ผู้ป่วยจะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่พิการของตนเอง และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบใหม่ ทั้งที่สมองถูกทำลายไปแล้ว
ผู้ป่วยอัมพาตไม่ควรจะสิ้นหวัง แม้การฟื้นตัวจะมีขีดจำกัด อย่าตั้งความหวังสูงเกินไป แต่ก็ควรจะทำใจให้สู้ต่อไป เพราะแม้ว่าการฟื้นตัว มักจะปรากฏในระยะต้น แต่ก็มีรายที่เป็นข้อยกเว้นอยู่มาก ตัวอย่างของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวอย่างดีนั้นมีมากมาย
ถาม- การพูดของผู้ป่วยเสียไปได้อย่างไร
ตอบ
- การพูดเสียได้ 2 แบบ กรณีที่กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการพูดอ่อนแรงทำให้บางคนพูดไม่ชัด และออกเสียงเพี้ยนหรือพูดไม่ได้เลย แต่อ่านได้ เขียนได้ และเข้าใจคำพูดอย่างสมบูรณ์ ภาวะนี้เรียกว่า dysarthria ซึ่งมักจะบำบัดได้ผล
อีกกรณีหนี่งนั้นซับซ้อนมากกว่า เรียกว่า "อภาษา" (aphasia or dysphasia) เป็นอาการที่สมองส่วนที่ควบคุมกระบวนการใช้ภาษาเสียไป มีผลให้ ความสามารถในการพูด การเข้าใจคำพูด การอ่าน และเขียน สูญเสียสิ้นไป ภาวะเช่นนี้ปรากฏกับจำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง ของผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตซีกขวา แต่เกือบจะไม่พบเลยในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตซีกซ้าย บางรายที่เป็นไม่รุนแรง ผู้ป่วยก็จะมีอาการเพียงนึกคำที่เคยรู้ดีไม่ออกเมื่อจะพูด บางรายภาษาพูดจะกลับคืนมายากเย็น และคำพูดขาดเป็นห้วง ๆ ทำให้ผู้ป่วยละความพยายาม ที่จะสื่อสารกับผู้อื่น กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ พูดไม่ได้เลย หรือพูดได้เพียงคำ หรือวลีเดียว ซ้ำไปซ้ำมา บางทีก็เป็นคำสบถหยาบคาย ทั้งที่ผู้ป่วยไม่เคยมีนิสัยสบถมาก่อนเป็นอัมพาต เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ส่วนบางราย อาจจะพูดได้ แต่เป็นคำที่ไร้สาระ และผู้ฟังไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่า ผู้ป่วยหมายความว่าอย่างไร
การกลับพูดได้ในรายอภาษานั้นอาจจะเร็วและพูดได้เต็มที่ แต่ส่วนใหญ่จะฟื้นช้า และไม่ค่อยจะเต็มที่ ผู้ป่วยและญาติจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากนักอรรถบำบัด
ท้ายสุดเมื่อมีความเข้าใจและได้ความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ทุกท่านคงจะเห็นพ้องกันว่า การป้องกันไม่ให้เป็นอัมพาต น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การหมั่นดูแลรักษาสุขภาพทั้งกาย ใจ และสมอง โดยมีพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน คลายเครียด งดสิ่งเสพย์ติด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ และมีชีวิตโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
main |