มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ คัดลอก จากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 20 ฉับบที่ 305 กรกฎาคม 2540 ]

อย่าทำให้ลูกเลวร้าย

รศ.สุพัตรา สุภาพ


เด็กทุกคนอยากเจริญเติบโตในทางที่ดีที่งาม แต่หลายคนกลายเป็นเด็กมีปัญหา เพราะพ่อแม่พูดจาทำให้เกิดปมด้อย เลยทำตัวผิดเด็กธรรมดาไปหน่อย เพราะเด็กจะเชื่อตามที่พ่อแม่พร่ำพูดกรอกหูทุกวัน เช่น ถ้าบอกลูกว่าลูกไม่ดี แกจะทำตัวไม่ดี เพราะแกคิดว่าแกคงดีกับเขาไม่ได้

ตัวอย่าง คุณปี๊ดเคยจับโกหก "เอ" ลูกชายวัย 8 ปี ตอนไปซื้อบะหมี่ แล้วเอก็แอบหยิบหมูไปกิน 2 ชิ้น แม่เลยว่าเอว่า

"เด็กขี้โกง" เอจำคำนี้ไว้ เขาเลยขโมยเงินน้องบ้างพี่บ้าง พ่อแม่ว่าเขาจะตอบว่า "ก็หนูไม่ดีตามแม่ว่าอยู่แล้ว" แกทำตัวเหมือนประชดตัวเอง

แม่เลยโกรธหาว่าลูกไม่รักดี และแสดงอาการรักลูกคนอื่นมากกว่า เอเลยยิ่งเป็นปมด้อยจนทำตัวเลวร้ายกว่าเก่า พ่อแม่จึงทำให้ลูกเลวได้โดยไม่รู้ตัว

เห็นผิดเป็นถูก
คุณเรศมี "อ๋อย" ลูกสาวคนเดียวที่รักสุดหัวใจ เลยปรนเปรอลูกทุกอย่างตั้งแต่เด็ก ตัวเองอดอยากแต่ให้ลูกดีที่สุด

ตั้งแต่โรงเรียนก็เกรดเอ แต่ลูกเรียนได้ไม่เท่าไรก็ออก เพราะเด็กไม่ชอบใจครู แทนที่คุณเรศจะไปถามคุณครู กลับเห็นว่าคุณครูทำให้ลูกเสียกำลังใจ

อายุแค่ 9 ปี แต่อ๋อยเป็นเด็กชอบหนีโรงเรียนไปเที่ยว แถมมีแฟนแต่เล็ก ๆ แม่ไม่ว่าอะไร พอว่าทีไร ลูกก็หนีออกจากบ้านแม่เลยไม่กล้าว่าอีก

พอโตขึ้นมีแฟน อ๋อยเกิดโกรธกับแฟน จึงทำลายข้าวของแฟนจนต้องเลิกกัน และต้องชดใช้ข้าวของของเขาด้วย

อย่าย้ำผิดเพศ
พ่อแม่ไม่น้อยไม่รู้ตัวว่าได้ทำให้ลูกผิดเพศ เช่น มีลูกชายก็หาว่าเหมือนลูกสาว มีลูกสาวก็หาว่าเหมือนลูกชาย การพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ แบบนี้ทำให้เด็กสับสน ไม่รู้ว่าตัวเป็นเพศไหนแน่

"คาโรล ซัวซา" ผู้ประสานงานเรื่อง ความรุนแรงการเลือกคู่บอกว่า การพูดแบบนี้มีแต่เสียมากกว่าได้ เนื่องจากทำให้เด็กแสดงอาการโกรธหรือก้าวร้าว ไม่ค่อยจะถูกกาลเทศะเท่าไร บางทีเลยออกไปในทางเก็บกด ไม่กล้าแสดงตัวกลัวหรือเสียใจ พอโตขึ้นเลยไม่กล้าสนิทกับใคร

ไม่ยอมรับความรู้สึก
เด็กไม่น้อยชอบพูดความจริงเวลาโกรธ แต่พ่อแม่มักจะประณาม เช่น

"หนูเกลียดเก๋"
"พูดแบบนั้นได้ยังไง" แปลว่าแม่ไม่สนใจว่าแกรูสึกอย่างไร ซึ่งแม่น่าจะพูด
"ลูกคงไม่เกลียดเก๋จริง ๆ ใช่ไหม"
"เกลียดจริง"
"ลูกคิดว่าเกลียดเก๋เพราะอะไร"

เป็นการให้แกได้ระบายความรู้สึก แล้วแกจะรูสึกดีขึ้น ถ้าเราไม่ฟังแกอาจจะเก็บกดความโกรธ จนไประบายในทางที่เสียหาย แต่ถ้าเราฟังอยางตั้งอกตั้งใจ โดยไม่พูดในทางตรงข้ามลูกจะไว้ใจเรา มีอะไรจะบอกดีกว่าให้ลูกหมดที่พึ่ง ผิดหวัง และเห็นว่าสิ่งที่แกคิดหาค่ามิได้ แม้แกจะคิดไม่ดี พ่อแม่ก็ต้องพยายามฟังเพื่อช่วยให้แกมีเหตุผล

"อเดล์น เฟเบอร์" นัการศึกษาเรื่องผู้ปกครองและผู้แต่งหนังสือ "กลยุทธ์พูดกับลูกเพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ที่บ้านและโรงเรียน" กล่าวว่า

ยิ่งลูกผิดหวังอะไรมา พ่อแม่ไม่ควรเห็นไม่สำคัญ เพราะจะทำให้ลูกหมดกำลังใจ

ส่งเสริมลูกในทางผิด
อาจจะเกิดจากความเอ็นดูแบบไร้ขอบเขต เช่น ลูกเตะตีใครก็ขำ ทำให้เด็กคิดว่าการเตะเป็นเรื่องดี เด็กบางคนตบหน้าพ่อแม่ พ่อแม่ก็ขำ เด็กเลยตบสนุกมือ (น้อย ๆ) ไป

ฉะนั้นเวลาทำร้ายคนอื่น พ่อแม่อย่าได้บังอาจเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย แต่แม่ไม่ควรไปว่า "ตัวแก" ขอให้ว่า "สิ่งที่แกทำ"

ชมเกินกว่าเหตุ
ลูกหลายคนพ่อแม่เห็นเป็นเทวดาน้อย ๆ จนแกลงดินไม่ได้หรือชมลูกเกินกว่าเหตุ จนลูกไม่เชื่อพ่อแม่ หาว่าพ่อแม่โกหกเป็นของแถม เช่น ชมลูกสวยทั้ง ๆ ที่ลูกขี้ริ้ว

ลูกเรียนได้เกรดไม่ดี ก็บอกว่าดี ผลก็คือ พอลูกโตขึ้นก็ฟังใครชมไม่ได้ เพราะคิดว่าก็คงพูดไปอย่างนั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรชมลูก เพียงแต่ต้องชมลูกอย่างจริงใจไม่เกิดเหตุ เช่น ชมว่าลูกพูดเก่งแต่เพื่อนบอกว่าชอบชวนทะเลาะ พ่อแม่จึงควรออกไปในทาง

"ตอนนี้ลูกเริ่มพูดได้ดีขึ้น หรือแม่คิดว่าลูกจะไม่เข้าใจประโยคนี้ตอนพูดกับเพื่อน" ลูกจะได้รู้ว่าปกติแกก็ไม่ใช่คนพูดเก่งแต่ความพยายามของแกเริ่มได้ผล

"มาริลิน กูทแมน" ผู้แต่งหนังสือ "การสร้างระเบียบวินัยให้ลูก" เน้นว่าถ้าพ่อแม่ชมลูกเกินกว่าเหตุ มีแต่ทำให้ลูกหมดความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อต้องออกไปผจญโลกที่พ้นจากบ้าน แถมยังหาว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจแกด้วย

ชมลูกจึงควรเป็นเหตุเป็นผล และไม่ควรชม และติในเวลาเดียวกัน เพราะจะกลายเป็นติ เช่น ลูกเก่งแต่กิน ฟังแล้วแย่มาก ดีแต่กิน ลูกพูดจาดีแต่ไม่เอาไหน ลูกจะคิดว่าตัวเองไม่เอาไหน

อย่าล้อเล่นปมด้อยของลูก
คนอื่นว่าเด็ก เด็กพอรับได่ แต่ถ้าพ่อแม่มาย้ำ สิ่งที่เด็กอับอาย เด็กจะยิ่งหมดกำลังใจ เพราะเด็กไปคิดว่าพ่อแม่ คือ กระจกเงาที่สะท้อนให้แกรู้ว่าควรทำ และคิดอย่างไร และการล้อเล่นจะทำให้เด็กไม่รู้ว่าที่พ่อแม่พูดจริงหรือเท็จกันแน่

ผู้เขียนจำได้ดี มีเด็กข้างบ้านไม่กล้ายิ้ม เพราะแม่บอกว่าฟันหลอเหมือนลูกกรงเหล็ก อีกคนว่าลูกปากเหม็น เหมือนหนูเน่า ลูกเลยไม่กล้าพูดจากับใคร

เด็กอีกคนตัวสูง พ่อแม่ก็บอกว่าเหมือนเสาโทนเลข ลูกเลยเดินตัวงอตลอด

ตอนเด็กหญิงชมพู่ยังเล็ก น้าก็บอกว่าชมพู่โตเหมือนควาย แกเลยอาย ไม่กล้ายืนใกล้ ๆ คนตัวเล็กกว่ากลัวเป็นซูเปอร์ควาย

การล้อเลียนแบบนี้เป็นปมด้อย และพานไม่สบายใจเอาง่าย ๆ แถมบางครั้งพอชมพู่เดินเร็ว ๆ น้าก็จะว่าอีกว่า

"เดินอย่างควายหาย"

ชมพู่เลยทำตัวไม่ถูก ไม่อยากพบน้า กลัวปากน้า ในใจก็คิดคุ้มแค้น อยากขวิดน้า เป็นของแถม การเลี้ยงดูลูกให้ดี จึงต้องรู้เขา (เด็ก) รู้เรา ไม่ใช่เลี้ยงแบบไม่คิด ลูกจะเสียคนเอาง่าย ๆ แล้วมีแต่ความทุกข์กันไปทุกฝ่าย

รศ.สุพัตรา สุภาพ


ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1