มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 308 ตุลาคม 2540 ]

ทำไม ลูกเล็ก ๆ พูดไม่รู้เรื่อง

ร.ศ.สุพัตรา สุภาพ


"ลูกหนูอายุแค่ 3 ขวบ แต่พูดอะไรก็ไม่ฟัง แถมไม่พอใจ อะไรก็ส่งเสียงร้องลั่นไม่พอ ยังชอบตีคนอื่นด้วย บางทีก็ลงไปนอนดิ้นกระแด่ว ๆ เล่นเอาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ตกใจกันไปหมด เพราะเพิ่งเป็นหลานคนแรก ทุกคนจึงค่อนข้างตามใจจนเสียเด็ก"

กรณีนี้พอเห็นได้ว่า ทุกคนนั่นแหละตัวทำให้เสียเด็ก

เด็กอายุ 3 ขวบ เป็นผ้าก็ขาวสะอาด อยู่ที่ผู้ใหญ่จะแต่งแต้ม ถ้าแกทำผิดแล้ว ยังเห็นว่าไม่ผิด แกก็จะทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร หากผู้ใหญ่พูดกันเองไม่รู้เรื่อง ว่าจะเลี้ยงลูกหลานได้อย่างไร เด็กก็คงเป็นแพะรับบาป อาจจะทำตัวไม่น่ารักจนโต ให้ชาวบ้านระอาใจ

เลี้ยงลูกต้องให้คนอื่นรักลูกเราด้วย ไม่ใช่รักแบบผิด ๆ แบบเด็กทำอะไรไม่เข้าท่า ก็ว่าน่าเอ็นดู จนเด็กทำเป็นนิสัย ยิ่งบ้านไหนมีผู้ใหญ่ เช่น ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอามาก ๆ ยิ่งเป็นปัญหา ถ้ารักหลานเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะปู่ย่าตายาย จะรักหลานมากกว่าลูก เลยดุว่าไม่เป็น เด็กเลยเสียคนง่าย

มีคุณพ่ออีกคนหนึ่งมาหาผู้เขียน และเล่าให้ฟังว่า ลูกชายวัย 5 ขวบ แก่นแก้ว ดื้อ ชอบเถียง และมีเรื่องเตะต่อยกับเพื่อน ๆ จนเพื่อน ๆ กลัว เห็นหน้าก็ไม่อยากเข้าใกล้ ครูอาจารย์ก็ระอา

คุณพ่อคุณแม่ท่านนี้บอกว่า เขามีงานมาก เลยให้เมียดูแลลูกแทน เมียก็รักลูก ไม่ค่อยว่ากล่าวเท่าไร พอเห็นเขาว่า บางทีก็เถียงกันต่อหน้าลูก ลูกเลยยิ่งได้ใจ เพราะเขาเถียงสู้เมียไม่ได้ และไม่อยากมีเรื่องด้วย เขาบอกว่า เขาเครียดงานไม่พอ ต้องมาเครียดเรื่องลูกด้วย

ผู้เขียนเข้าใจคุณพ่อคนนี้ เขาไม่ได้เครียดแค่ลูกยังรวมเมียด้วย ที่เครียด เพราะเกิดความขัดแย้ง กับลูกกับเมียนั่นแหละ ที่ลูกเป็นแบบนั้นอาจจะเห็นว่า คุณแม่ก็ยังเอาชนะคุณพ่อได้ แล้วทำไม แกจะชนะทั้งคุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้… ในเมื่อคุณแม่ ก็เป็นพวกเดียวกับแกอยู่แล้ว

คุณพ่อจึงเปรียบเหมือนลูกไก่ในกำมือ (น้อย ๆ ของแก) จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด (ปากคุณแม่) ที่แกทำก็ได้จากตัวอย่างในบ้านทั้งนั้น แถมยังทำใจกว้าง เผื่อแผ่อาละวาดไปยัง เพื่อนตัวน้อย ๆ ให้ครูได้เห็นเป็นบุญตา (ด้วยความโกรธ)

ที่หนูน้อยเที่ยวมีเรื่องกับใครต่อใคร จึงไม่ใช่เป็นความผิดของแกเท่าไรนัก เพราะผู้ใหญ่ก็มีส่วนทำให้แกเป็นแบบนั้น และแกเองก็ไม่รู้ว่ าจะทำตัวอย่างไร เลยดูทำตัวไม่น่ารัก เช่น ดื้อ เถียง ขว้างของ ลงมือ ลงเท้า ฯลฯ พ่อแม่ญาติพี่น้องจึงควรตกลงกันให้ดีว่า จะเลี้ยงลูกหลานตัวน้อย ๆ อย่างไร ขอให้พูดภาษาเดียวกัน เหมือนเพลงจะร้องแตกเสียงกันเพลงจะฟังไม่ไพเราะ

การเลี้ยงลูกหลานก็เช่นกัน ถ้าต่างคนต่างเลี้ยง ตามที่ตัวพอใจ   ในที่สุดได้ลูกหลาน ที่คนเกลียดขี้หน้าเข้าไส้มาอีกราย รักลูกหลาน ต้องเลี้ยงให้คนอื่นรักด้วย ไม่ใช่ลูกหลาน เถียง หรือกระทืบเท้า หรือลงไปดิ้น กลับเห็นว่าน่ารัก ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านดูแล้ว น่าทุบสักทีให้หายซ่า

วิธีการแก้ไขเรื่อง ลูกเจ้าปัญหาแบบพอพูดจากันได้ ตามประสาผู้ใหญ่กับเด็กได้ หากลองเอาวิธีต่อไปนี้

เป็นแบบอย่างที่ดี
เด็กคือเด็ก ยิ่งอายุแค่ 3-5 ขวบ ตามตัวอย่างที่ว่ามา ยิ่งเข้าใจเหตุผลได้ยาก ยกเว้นจะทำตัวอย่างให้ดูด้วย ผู้ใหญ่ จึงต้องทำตัวให้ดี (ไม่ว่าอยากชั่วช้าก็ตาม) เช่น

พูดจาไพเราะอ่อนหวาน (แม้เคยสามหาว), มีน้ำใจ (แม้จะแห้งแล้งมาก่อน), มีใจนักกีฬา เวลาผิดก็ขออภัย, รู้จักขอโทษด้วยคำพูดและท่าทาง ฯลฯ เด็กเล็กจะได้จำสิ่งดี ๆ ไปทำบ้าง

"แซม ฮอร์น" เขียนเรื่อง "Tongue Fu! How to Deflect, Disarm and Defuse Any Defuse Any Verbal Conflict" กล่าวว่า เวลามีเรื่องไม่ชอบใจกัน อย่าได้แสดงความไม่พอใจ ขอให้ตั้งสติอารมณ์สงบใจสักพัก แล้วดูว่า ช่วงนั้นควรทำอะไร ถ้าเถียงออกไป จะเสียหรือได้ ถ้าไม่พูดจะได้หรือเสียอะไร ถ้าเราไม่มีทางชนะ ขอให้หยุดก่อน เพื่อให้อีกฝ่ายสงบลง ยิ่งเป็นเด็ก การนิ่ง จะทำให้แกกลัว กลัวจะไม่รัก กลัวไม่พูดด้วย กลัวว่าแกไม่ดี ฯลฯ การพูดจึงต้องรู้จักพูด หรือรู้จักหยุด

สร้างวินัยแต่เล็ก
เป็นการบอกลูกว่า อะไรผิดอะไรถูก ถ้าแกทำไม่ถูก ก็บอกแกให้เข้าใจ เด็กเล็ก ๆ ไม่ค่อยรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะสิ่งใดที่แกทำจะทำเพราะอยากรู้อยากเห็น และอยากดูว่าผู้ใหญ่มีปฏิกิริยาอะไร

ถ้าผู้ใหญ่บอกว่า การกระทืบเท้าไม่ดี แกจะได้แยกแยะถูก หรือการทุบเพื่อน เถียงเพื่อน มีเรื่องกับเพื่อนไม่น่ารักตรงไหน แกจะได้ปฏิบัติถูกได้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ดีก็ไม่โดนว่า ก็ขอให้ทำต่อไป

ไม่ว่าต่อหน้าคนอื่น
เด็กไม่ว่าจะเล็กหรือโตแล้วก็ตาม จะอายถ้าโดนว่าต่อหน้าชาวบ้าน เมื่ออายมาก ก็จะเอาชนะมากขึ้น หากรังแกใคร ก็จะถูกทุบตีมากขึ้น การดื้อก็จะดื้อกว่าเก่า

การอบรมเด็ก จึงต้องค่อย ๆ พูดจาลับหลังคนอื่น เป็นการให้เหตุผล ไม่ว่ากล่าวแบบ ใช้อารมณ์ ยิ่งเด็กเล็ก ๆ จะงง ถ้าผู้ใหญ่ตีหน้ายักษ์เข้าใส่ หรือทำหน้าตื่นเต้นเหมือนเห็น โรงแรมถูกไฟไหม้ เด็กจะยิ่งไม่เข้าใจ

ในสายตาเด็กตัวน้อย ๆ แกเห็นว่าเรื่องที่แกทำไปไม่ใช่เรื่องใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ ทำตื่นเต้นอยู่ได้ แล้วยังมาว่าแกให้หน้าน้อย ๆ ของแกเสียหาย ทำไมไม่รักษาใจกันบ้าง ค่อย ๆ พูดจากันก็ได้ ด้วยการจูงมือไปพูดกันในที่ลับตาใครต่อใคร

ทำตัวเป็นพวกเดียวกัน
ถ้าเราเอาชนะเด็กไม่ได้ บางครั้งต้องใช้กลยุทธ์ให้เด็กคิดว่าเราก็คือ พวกเดียวกับแก แต่ไม่ต้องถึงกับทำตัว (ปัญญาอ่อน) พูดจาไม่ชัดหรือลงไปนอนดิ้นกระแด่ว แบบเด็ก 3-5 ขวบ เป็นแค่ให้แกไว้วางใจว่า เราคือผู้ใหญ่ที่แกไว้วางใจได้พึ่งได้

เวลาเด็กหมดใจกับเรา แกจะเชื่อฟังเราได้ง่าย เพราะแกรัก และไม่อยากให้เรา เสียใจนั่นเอง ยิ่งแกรักเราเท่าไร แกจะไม่อยากให้เราผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น แกคงคิดว่าเรา คือ พวกเดียวกันกับแก อย่าประหัดประหารกันเองเลย

การให้เด็กยอมรับ จึงทำให้เข้ากับแกง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ สอนแก ให้รู้ว่า การอยู่ร่วมกันต้องทำตัวดี มีความน่ารัก ไม่ก้าวร้าวทุบตีชาวบ้าน เพื่อจะได้มีเพื่อนมีพวก มาเล่นกับเราบ้าง ขณะเดียวกันสอนเด็กให้รู้จักเข้ากลุ่มเข้าพวกคนดี ๆ จะได้รู้จักเลียนแบบ สิ่งดี ๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดแต่ต้นเป็นเพียงบางวิธีช่วยให้เด็กเป็นคนดี พอพูดจากันรู้เรื่องได้บ้าง แต่ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับเด็ก และผู้คนรอบข้างว่าจะช่วยนำเด็กให้มีชีวิตที่ดีได้แค่ไหน

เด็กเปรียบเสมือนเรือ ที่ผู้ใหญ่จะต้องช่วยพาเรือลำนี้ผ่านน้ำผ่านทะเล ผ่านพายุได้ ถึงฝั่งอย่างปลอดภัย ขอแค่เรือไม่รั่ว ไม่ผุไปเสียก่อน ทุกอย่างคงเป็นไปได้ และคงเป็นไปด้วยดี

ร.ศ.สุพัตรา สุภาพ


ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1