รศ.สุพัตรา สุภาพ
พ่อแม่มีความหมายแก่ลูกมาก โดยเฉพาะพ่อมีอิทธิพลต่อลูกสาว แม่มีอิทธิพลต่อลูกชาย ผู้เขียนจำได้ว่าตั้งแต่เด็กพ่อเป็นคนที่รักลูกรักเมีย ขยันในการทำมาหากิน และไม่เคยตีลูกที่ซนยิ่งกว่ามีลิงสักฝูง
สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้เขียนเห็นผู้ชายคล้าย ๆ พ่อดีไปหมด ดีขนาดยอมไปคุยกับ อาแป๊ะ ข้างห้องเช่าพ่อ ไปดูแลเวลาเขาเจ็บป่วย อาแป๊ะคนนั้นก็แสนดี เอาใจผู้เขียน และพาไปเที่ยวเป็นประจำ
พ่อกับอาแป๊ะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ขณะเดียวกันผู้เขียนรู้สึกกับผู้ชายคนอื่น ๆ ก็ดีไปด้วย ไม่รังเกียจ ดีว่าคนสมัยนั้นดี เด็ก ๆ จึงปลอดภัย ตอนนั้นผู้เขียนแค่ 5-6 ขวบเท่านั้น
ขณะเดียวกัน แม่เป็นคนรักลูกรักสามี ขยันขันแข็ง ทำกับข้าวเก่ง เลี้ยงลูกอย่างดี แม้จะดุไปหน่อย เพราะเห็นพ่อตามใจมาก แม่เลยดูเป็นเทพธิดาแบบอารมณ์ผันผวน เล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง น้องชายผู้เขียนซึ่งมีอยู่สองคน รักแม่และกตัญญูต่อแม่มาก พวกเขาเห็นผู้หญิงอื่น ๆ ดีไปหมดเช่นกัน และเข้ากับผู้หญิงได้ง่าย ยิ่งคนแก่ ๆ ยากจน น้องชายจะสนใจ เอาใจใส่มาก ช่วยเหลือทุกอย่างด้วยความสงสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอน้องชายมีรายได้ เขาจะให้แม่ และเลี้ยงแม่อย่างดียิ่ง
นักจิตวิทยาคนดัง คือ "จอยส์ บราเธอร์" ให้ข้อคิดเรื่องพ่อแม่ลูกได้น่าคิดไว้ว่า "แม่จะเป็นจุดสำคัญในชีวิตของลูกตอนยังเล็ก ๆ และลูกเป็นชีวิตจิตใจของแม่"
แม่คือทุกสิ่ง แม่เป็นความหวัง เป็นความรัก เป็นความอบอุ่น เป็นที่พึ่งทั้งกายและใจ
ถ้าแม่เป็นคนที่จิตใจดีและน่ารัก ภาพของแม่แบบนี้จะตราตรึงในใจเด็ก และจะชอบผู้คนที่คล้าย ๆ แม่หรือเป็นที่ชอบช่วยเหลือคน ถ้าแม่เป็นคนเข้มแข็ง และค่อนข้างเจ้าอารมณ์อาจมีอิทธิพลในการเลือกคู่ที่รักความยุติธรรม
แม่มีอิทธิพลต่อลูกชายในการเลือกคู่ครองหรือต่อผู้หญิง ถ้าแม่ใจดี อ่อนหวาน ลูกชายจะเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ชายที่ชอบช่วยเหลืองานบ้านและเป็นคู่ครองที่ดี แต่ถ้าแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เขาจะกลายเป็นคนที่กลัวความรัก เพราะแม้แต่แม่ยังเอาความแน่นอนไม่ได้
ถ้าเป็นพ่อก็จะมีอิทธิพลต่อลูกสาวคล้าย ๆ กัน คือ ถ้าพ่อรักใคร่ลูกสาว ลูกจะคิดว่าตัวเองดูดี และไม่รังเกียจผู้ชาย ถ้าพ่อเข้มงวดหรือเย็นชาหรือไม่ใส่ใจ ลูกสาวจะคิดว่า ตัวเองไม่น่ารักเท่าไหร หรืออาจกลัวผู้ชายเอาก็ได้ เหมือนกรณีที่เด็กถูกข่มขืน มักจะกลัวผู้ชาย
โดยเฉพาะถ้าคนโดนข่มขืนเป็นพ่อเด็กคนนั้น จะยิ่งไม่ไว้ใจผู้ชาย เนื่องจากเด็กเห็นว่า คนใกล้ตัวที่สุดยังทำร้ายแกทั้งกายและใจ แล้วแกจะไว้ใจผู้ชายคนไหนได้
"จอห์น มันนี่" จิตแพทย์และกุมารเวช เสริมความเห็นเรื่องพ่อแม่มีอิทธิพลต่อลูกว่า เป็นสิ่งที่เข้าไปซึมซาบในสมองของเด็กว่า ชอบหรือไม่ชอบ โดยเฉพาะช่วง 8 ปี จะเป็นจุดเริ่มของการตัดสินใจว่าจะชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร
ยิ่งตอนวัยรุ่นเด็กจะมีแบบฉบับของตัวเองก็จริง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่ จะเข้าไปฝังรากลึก โดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันก็อยากจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อยากเหมือนเพื่อน ไม่อยากแปลก แตกต่างออกไป ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่วัยรุ่นจะถือกระเป๋า รองเท้า หรือใส่เสื้อผ้า ทำผมคล้าย ๆ กัน เป็นช่วงเวลา หาเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนปลาย
การที่วัยรุ่นอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้แปลว่าจะไม่รักพ่อแม่ เพียงแต่ไม่อยากได้ชื่อว่า ลูกแหง่ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่วัยรุ่นไม่น้อย ทั้งหญิงและชาย เวลาต้องเดินทางไปทำกิจกรรม ตามที่โรงเรียนสั่ง จะไม่ชอบให้พ่อแม่ไปส่ง เพราะอายเพื่อน
มีเด็กชายคนหนึ่งอายุ 9 ปี ต้องไปฝึกลูกเสือที่โรงเรียน พอแม่มาส่งแล้วกอดจูบ แกจะบอกแม่ว่า "หนูโตแล้วนะ" แล้วแกก็มองเพื่อนอย่างเขิน ๆ
ส่วนเด็กผู้หญิงก็อายถ้าแม่ทำตัวเชย ๆ แกจะทนไม่ได้หากเพื่อนของแกมีแม่แต่งตัวสวย ๆ มีโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งเด็กชายวัย 12 ปี บอกพ่อให้ติดเครื่องปรับอากาศในรถ โดยให้เหตุผลง่าย ๆ "เพื่อน ๆ มีกันน่ะพ่อ"
แม้แต่การเล่นหรืองานอดิเรกวัยรุ่นจะทำคล้าย ๆ กัน เช่น ฟังเพลงนักร้องคนโปรด สะสมลายเซ็นดารา แต่งตัวเหมือนดารา ตอนมีของเล่นจากญี่ปุ่นที่เป็นเกมกดสัตว์เลี้ยง เด็กหลายคนก็อยากมีบ้าง พอไม่มีก็คุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง เข้าทำนองเชย มีเด็กชายคนหนึ่งอายุแค่ 10 ปี ชอบสะสมเพลงญี่ปุ่น ซีดี เล่นเอาพ่อแม่เสียเงินไม่น้อย แต่พ่อแม่คู่นี้บอกว่า
งานอดิเรกที่ดี ๆ ของเด็กจึงเป็นเรื่องดี พ่อแม่ไม่ควรห้ามปราม และเด็กจะทำอะไร มักขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ไม่น้อย เช่น
แต่เด็กยากจนจะชอบความสุขที่เห็น เช่น ออกจากโรงเรียนแต่เด็กเพื่อหาเงินทั้ง ๆ ที่พ่อแม่อ้อนวอนเท่าไร เด็กก็ไม่ยอมเรียน ส่วนเด็กยากจนบางคนอยากเรียน แต่ไม่มีเงินเรียน จึงได้แต่เสียใจทั้ง ๆ ที่ตั้งใจเรียน บางคนก็เรียนดีด้วย
จากตัวเองที่กล่าวมาแต่ต้นจะเห็นได้ว่า อิทธิพลของพ่อแม่ต่อด้านต่าง ๆ ของลูก จึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างเพียงแต่ว่าพ่อแม่จะมีอิทธิพลในด้านบวกหรือลบ พ่อแม่ควรส่งเสริมลูกแต่เด็ก ให้มีแบบฉบับของตัวเอง เพราะนั่นคือ การสอนลูกให้ช่วยตัวเอง ค้นพบตัวเอง ให้ลูกรู้ว่าลูกเป็นใคร ควรทำตัวแบบไหน หรือต้องทำอะไร ทำอย่างไร
โดยพ่อแม่ต้องเป็นต้นฉบับที่ลูกพอใจศรัทธา รักใคร่ ลูกจะได้ไม่ไปหาแบบฉบับนอกบ้าน ที่มีปัญหาจนอาจเสียคนได้
รศ.สุพัตรา สุภาพ
main |