มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 ]

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีคุณภาพ


ปัญหาหลากหลาย ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ที่พบในปัจจุบันจากข้อมูลของ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ และคณะ ที่นำมาทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมของเด็ก ผลของการวิจัยมี อาทิ เด็กและเยาวชนของไทย เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวน 27.9 ล้านคน อยู่ในครอบครัวเสี่ยง...

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลายคนคิดว่า แนวทางในการพัฒนาเด็ก และเยาวชนของไทย เดินมาถูกทางหรือไม่ หรือวันหนึ่งประเทศไทย จะต้องพบกับปัญหาที่เด็กชั้นประถม นำปืนเข้าไปยิงครูและเพื่อนในห้อง อย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ พยายามที่จะมองย้อน กลับไปข้างหลัง เพื่อดูว่า สิ่งที่เราทำตลอดมานั้น สมควรหรือไม่เพียงใด นพ.โยเซฟ ซื่อเพียรธรรม หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์สังคม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องนี้ และได้กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องถอยกลับไปดูว่า สิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง หรือตรงกับปัญหาหรือไม่ เพราะจากลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมที่มีความรุนแรงขึ้น ทั้งโดยที่เด็กเป็นผู้กระทำ และคนอื่นกระทำต่อเด็ก

คุณหมอโยเซฟกล่าวต่อไปว่า จากการย้อนกลับมามองปัญหา ทำให้มีการหาข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 เรื่องคือ สุขภาพ การศึกษา และพฤติกรรม สำหรับเรื่องสุขภาพนั้น เด็กไทยมีแนวโน้มการเจริญเติบโตดีขึ้น ในแต่ละช่วงอายุ อัตราการตายของทารก ก็ลดน้อยลงจากเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีอัตราการตาย 35 คน ใน 1,000 คน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 10 คนเท่านั้น การเจ็บป่วยของโรคยังมี แต่ความรุนแรงของโรคไม่รุนแรง เท่าเมื่อก่อน ส่วนเรื่องการศึกษา จำนวนเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา เปอร์เซ็นต์สูงขึ้นอย่างชัดเจน และเรื่องสุดท้ายพฤติกรรม พบว่า พื้นฐานในการมีปฏิสัมพันธ์นั้น เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง โดยเฉพาะเรื่องของความรุนแรงพบว่า เด็กชอบทำลายข้าวของ หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือแม้แต่ทำลายตัวเด็กเอง หลายครั้งจากการพูดคุยกับเด็ก และการแสดงออก เด็กเล็กที่กำลังเรียนประถม 1 อยากฆ่าตัวตาย เห็นได้จากเอามีดมาจิ้มตัวเอง เอาเชือกมาผูกคอตัวเอง รวมทั้งมีความคิดที่อยากฆ่าครู หรือเมื่อโตขึ้นยังชอบที่จะใช้ชีวิต แบบทำลายตัวเอง ทั้งสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และใช้ยาเสพย์ติด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ติดไปตั้งแต่ยังเด็กๆ อยู่นั่นเอง

หลังจากที่มีการศึกษา และพิจารณาทั้งสามสิ่งนี้แล้วพบว่า แม่รุ่นใหม่เลี้ยงลูกแบบค่านิยมที่ผิดพลาด มาโดยตลอด แม่เกือบทุกคนเลี้ยงลูกโดยอ่านจากคู่มือ หากลูกมีสิ่งที่ผิดไปจากตำรา ก็จะกลายเป็นว่า ลูกกำลังมีปัญหา ทั้งที่บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่คู่มือนั้นเหมาะสมกับเด็กบางคน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กบางคนอาจไม่เกิดกับเด็กอีกคนก็ได้ ดังนั้น แม่หลายคนจึงกังวล เครียด เมื่อเห็นว่า ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกับที่คู่มือบอก ทำให้แม่บางคนยิ่งสร้างช่องว่างระหว่างตัวเอง และลูกมากขึ้นจากความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงดู

ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่จะแก้ไขในเรื่องพฤติกรรมนั้น คุณหมอโยเซฟแนะนำว่า น่าจะเป็นการปรับแก้ไข ความเข้าใจให้ถูกต้อง พ่อแม่เมื่อมีลูกก็ไม่ต้องคิดกังวล หรือวิ่งหาตำรา จนคิดว่าถ้าขาดตำรา จะไม่สามารถเลี้ยงลูกต่อไปได้ เพราะคู่มือเลี้ยงลูกนั้นมีข้อจำกัด เหมือนกับการรับประทานยา ก็ต้องปรึกษาแพทย์ ตำราอาจไม่ผิด แต่อาจไม่เหมาะสมสำหรับเด็กบางคน ดังนั้น การเลี้ยงลูก ให้มีคุณภาพในความเห็นของตนเอง สิ่งแรกที่อยากแนะคือ ทำใจที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิด จากนั้นสิ่งแรกที่ควรทำก็คือ พ่อแม่ต้องแยกคำว่ารักออกจากเรื่องวิธีการเลี้ยงดูให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเวลาที่เลี้ยงลูกไปอาจเกิดความสับสน เช่น บางครั้งอาจถูกหาว่า รักลูกเกินไป หรือรักลูกน้อยเกินไป หรือบางทีก็กลายเป็นไม่รักลูกเลยก็ได้ ทั้งที่พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่การที่จะทำหรือไม่ทำอะไรหรืออย่างไรนั้น ขึ้นกับสภาวการณ์ หรือปัจจัยหลายอย่าง เช่น การที่พ่อแม่ตีลูก คนที่เห็นเหตุการณ์อาจมองว่า เป็นเพราะไม่รักลูก ในขณะที่พ่อแม่เองก็บอกว่า เพราะรักจึงได้ตี การที่คนอื่นมองว่า ไม่รักลูกยิ่งทำให้พ่อแม่ท้อแท้และกดดัน ในขณะที่ลูกยิ่งสับสน เพราะในขณะที่เจ็บตัว ยังต้องมานั่งงงกับพ่อแม่ที่บอกว่าตีเพราะรัก ดังนั้น อนาคตเขา อาจแสดงความรัก ด้วยวิธีการเดียวกันนี้ได้ แสดงให้เห็นว่า คำว่ารักเป็นคนละเรื่องกับ วิธีการ การนำมาปนกัน ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าดี

เรื่องที่สอง คือการให้ความสำคัญที่วิธีการมากกว่าผลลัพธ์ เป็นการเอาผลลัพธ์มาเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้สนใจเกี่ยวกับวิธีการที่เหมาะสม สำหรับแต่ละครอบครัว เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นแทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลเสีย จะเห็นว่าการที่เรากำหนดให้เด็กเก่ง ดี เป็นการคาดหวัง ยิ่งให้เก่งและดีมากเท่าใด ความคาดหวังก็ยิ่งมาก และยิ่งประกอบกับความห่วงกังวลต่างๆ จึงกลายเป็นความเครียดที่จะให้ได้ตามผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งเครียดทั้งพ่อแม่ และลูก พ่อแม่ก็ต้องเครียดไปกับการแสวงหาวิธีการ เครียดกับการที่ จะต้องพยายามปฏิบัติ เครียดกับการที่ต้องเปรียบเทียบผลลัพธ์ และการถูกเปรียบเทียบ พอเครียดแล้วทั้งสองฝ่าย ก็ต้องไปหาที่พึ่งหรือทางออกต่างๆ กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีก

สรุปง่ายๆ การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพก็คือ การให้โอกาสแก่ลูก ที่จะได้พัฒนาตามศักยภาพ ของแต่ละบุคคล ในแต่ละช่วงอายุอย่างเหมาะสม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง ภายใต้คำชี้นำของผู้ที่มีประสบการณ์ โดยอาศัยหลักวิชาการมาประยุกต์ ซึ่งเวลานี้ที่ รพ.รามาธิบดีกำลังเริ่มโครงการรณรงค์ส่งเสริม การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะมีการให้ความรู้ ที่ถูกต้องแก่พ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม และนำไปปฏิบัติได้จริง และกิจกรรมระยะยาวอื่นๆ ทางโรงพยาบาลจะเริ่มคลินิกลูกคุณภาพ ที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองสามารถมาใช้บริการได้ คลินิกนี้ไม่ใช่ที่ฉีดวัคซีน หรือชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงเด็ก แต่จะให้คำแนะนำ ที่จะเป็นองค์ประกอบให้พ่อแม่นำไปปฏิบัติ หรือจะเรียกว่า ช่วยปรับความเข้าใจ ที่ถูกต้องให้พ่อแม่ เพื่อลดความสำคัญในการใช้คู่มือการเลี้ยงลูก คลินิกนี้จะเปิดสำหรับทุกคน มีปัญหาโทร.ไปสอบถามได้ หรือผ่านไปมาก็เข้าไปสอบถามได้ และหากประสบความสำเร็จ ก็จะขยายไปสู่โรงพยาบาลเครือข่ายต่างๆ ที่สนใจคลินิกลูกคุณภาพ โดยคณะทำงานทุกคนต่างหวังว่า อีก 20 ปีข้างหน้า เราจะมีเด็กไทยที่มีคุณภาพมากขึ้น หากสามารถแก้ไขได้ถูกทิศทาง เหมือนเกาให้ถูกที่คัน.

คอลัมน์ บ้านนี้สีเขียว


ขอบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1