มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



โรคซึมเศร้า เราช่วยได้

พญ.สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา


อาการซึมเศร้าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการฆ่าตัวตาย ฉะนั้น การป้องกันการฆ่าตัวตายก็คือ การป้องกันมิให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งทำไม่ได้เสมอไป สิ่งที่ทำได้แน่นอนที่สุดก็คือ การบำบัดอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นแล้วนั้นให้ทุเลา หรือให้หมดไป

ความเศร้าเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งในชีวิต มนุษย์ทุกคนต้องเคยผ่านมา เพราะความเศร้าเกิดจากความผิดหวัง, ล้มเหลว, หรือสูญเสีย

นี่เป็นประสบการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ อาจจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างอื่นอีกมาซ้ำเติม ที่ทำให้เกิดความเศร้า เช่น ลูกถูกรถชน, สามีไปมีเมียน้อย, บ้านถูกไฟไหม้ ฯลฯ ด้วยเหตุที่ความเศร้าเป็น "universal experience" นี้เอง ในภาษาอังกฤษจึงมีศัพท์ให้มากมาย สำหรับเรื่องของความเศร้าเพียงอย่างเดียว เช่น depression, gloominess, despondency, dejection, sadness, grief, bereavement, downheartedness, melancholy, mourning, low spirit.

  • การแบ่งชนิดของความเศร้า

มีมากมายหลายแบบ และจนบัดนี้ไม่มีใครตกลง ยอมรับเอาการแบ่งชนิด (Classification) แบบใดโดยเฉพาะ เป็นมาตรฐานสากลเลย ผู้เขียนขอแบ่งความเศร้าออกเป็น 4 แบบ ดังนี้

1. ความเศร้าในคนปกติ (Normal Grief)

มักเกิดขึ้นภายหลังการตายของญาติสนิท หรือภายหลังวิกฤตกาลในชีวิต เช่น ค้าขายขาดทุน, สอบตก, อกหัก อาการจะไม่รุนแรง กินระยะเวลาสั้นและทุเลาลงได้ อาจร้องไห้ฟูมฟายกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือเงียบขรึม, ซึมเศร้า, เบื่อหน่ายท้อแท้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติภายในเวลาไม่นานนัก ข้อสำคัญไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติภารกิจประจำวัน และไม่มีผลเสียต่อหน้าที่การงานจนเห็นได้ชัด อาจมีเพียงความเผลอเรอผิดพลาดนิดหน่อยเพราะขาดสมาธิ กับทั้งไม่เสียความสัมพันธ์ต่อบุคคลแวดล้อม การปลอบโยนให้กำลังใจและความเห็นอกเห็นใจก็เพียงพอแล้ว ที่จะเยียวยาความเศร้าชั้นนี้

2. โรคประสาทชนิดซึมเศร้า (Depressive Neurosis)

จัดอยู่ในประเภทโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง คนไข้ประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุด โรคประสาทชนิดซึมเศร้านี้ เป็นภาวะเรื้อรังของอาการเศร้าซึ่งกินเวลานาน คนไข้บางราย ตีราคาตนเองต่ำกว่าความเป็นจริงและดูถูกตนเอง (self-depreciation) รู้สึกว่าตัวเป็นคนต่ำต้อย, ขี้ริ้ว, โง่เขลา, เสื่อมสมรรถภาพ, ไร้เกียรติ หรือเป็นคนชั่วช้า รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ สาเหตุที่ช่วยส่งเสริม ให้เกิดอาการของโรคประสาทชนิดนี้ ได้แก่ การตายของญาติสนิท, ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตกาลของชีวิต เช่น ไฟไหม้บ้าน ฯลฯ เป็นต้น

3. โรคซึมเศร้า (Major Depression)

อาการสำคัญ คือ ซึมเศร้า, นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร, น้ำหนักตัวลด, หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ที่พบได้ คือ การมีอารมณ์เศร้า, รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้, มองโลกในแง่ร้าย (pessimistic), สิ้นหวัง, ดูถูกตนเอง, อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายหมดกำลังใจ, ตัดสินใจช้าและยากกว่าปกติ, หมกมุ่นแต่ความทุกข์ของตนเอง, ตึงเครียด, คนไข้ประเภทนี้มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายบ่อยมาก

ร่วมไปกับอาการดังกล่าว จะมีอาการที่แสดงออกทางฝ่ายกาย ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโมัติ (Autonomic Nervous System) ของกล้ามเนื้อและอวัยวะสัมผัสบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ, แน่นตื้อ, มึนงง, อ่อนเพลีย, เยื่ออาหาร, ท้องผูก, นอนไม่หลับ ผู้หญิงที่มีอาการเศร้าจะเกิดการผิดปกติของประจำเดือนได้บ่อย บางรายคลาดเคลื่อนไป แต่บางรายก็หายไปเฉยๆ ไม่มาเลย และบางรายก็เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

อาการเศร้าที่เห็นได้ชัดนั้นไม่มีปัญหา เพราะญาติ หรือเพื่อนร่วมงานจะสังเกตเห็นได้ ทำให้มีโอกาสเริ่มต้นการรักษา ตั้งแต่อาการยังไม่มาก ซึ่งทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลง

ทารกวัยขวบแรกของชีวิตหรือวัยเยาว์มากที่ขาดแม่ (Maternal Deprivation) จะแสดงความเศร้าออกมา ในรูปของการเจริญเติบโตล่าช้า ผิดปกติทั้งทางร่างกายและสติปัญญา ซึ่งถ้าดูผิวเผินอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดว่าเป็นพวกปัญญาอ่อน (Mental deficiency) ก็ได้

ในเด็กโต อาการเศร้าอาจจะออกมาในรูปของ ความประพฤติเกะกะเกเรก้าวร้าวผู้อื่น, ชอบรังแกเพื่อน, ดื้อรั้นขัดขืน, เจ้าอารมณ์ผิดปกติ หรือ เรียนหนังสือเลวลง

เด็กวัยรุ่นที่มีความเศร้าอาจแสดงความประพฤติแบบอันธพาล (delinquent behavior) โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่มาจากครอบครัว ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ

อาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่อาจออกมาในรูปของ อาการทางฝ่ายกายดังกล่าวมาแล้ว

ผู้สูงอายุเป็นอีกพวกหนึ่งที่มีอาการฝ่ายกายมาก คนไข้ประเภทนี้มักอยู่ในวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมทางร่างกาย, ความมั่นคงทางสังคม และความมีหน้าตาก็ลดน้อยลงคนไข้รู้สึกสูญเสีย เพราะในผู้หญิงวัยนี้กำลังจะหมดประจำเดือน (menopause) สังขารร่วงโรย ขณะเดียวกันลูกเต้าก็กำลังจะจากไปโดยการแต่งงาน ผู้ชายก็จวนจะเกษียณไปแล้ว อำนาจ วาสนาและความสะดวกสบาย มีหน้าตาก็อาจเสื่อมลง

4. ภาวะซึมเศร้าในโรคจิต

กล่าวโดยย่อในคนไข้ในกลุ่มนี้ ก็คือคนไข้มีทั้ง อาการซึมเศร้าและอาการทางจิต (psychosis) และอาการซึมเศร้าจะเด่นมาก ความคิดที่จะฆ่าตัวตายอาจเกิดจากอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน คนไข้มักมีความผิดปกติด้านความคิด ระแวงว่าผู้อื่นจะมาทำร้าย จะมาฆ่า คนไข้กลุ่มนี้ได้แก่ พวกโรคจิตชนิดซึมเศร้า ซึ่งมักมีอาการซึมเศร้ามาก, หวาดกลัวและกระวนกระวาย โรคจิตชนิดซึมเศร้าสลับคลั่ง (Bipolar Disorder) และโรคทางระบบประสาที่มีอาการทางจิตบางโรค เช่น โรคหลอดเลือดในสมองแข็ง (cerebral arteriosclerosis), โรค Alzheimer นอกจากนั้นคนไข้โรคจิตเภท (schizophrenia) บางรายก็อาจมีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

  • การรักษาอาการซึมเศร้า

อาการซึมเศร้าที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ต้องการความเห็นอกเห็นใจ, ความเข้าใจและกำลังใจมากที่สุด ฉะนั้นญาติและเพื่อนฝูง จึงมีส่วนช่วยให้การบำบัดอาการซึมเศร้าไม่น้อย และมีส่วนช่วยให้คนไข้ทุเลาเร็วขึ้น นอกนั้นเป็นหน้าที่ของแพทย์ ที่จะให้การรักษา ซึ่งบางรายอาจต้องอยู่โรงพยาบาล แพทย์จะให้ยาบำบัดอาการซึมเศร้า (antidepressant drugs) หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า (Electro Convulsive Therapy) แล้วแต่กรณี และอาจใช้ยาลดความวิตกกังวลหรือยานอนหลับร่วมด้วยในบางราย คนไข้ที่มีอาการที่จิตร่วมด้วยก็ให้ยารักษาโรคจิต ขณะเดียวกันก็ให้การบำบัดทางจิตใจ (Psychotherapy) ซึ่งมีส่วนช่วยได้มาก

ถ้าทุกคนในโลกมีไมตรีจิตต่อกัน เข้าใจ และเห็นใจกัน คนฆ่าตัวตายคงแทบจะไม่มีเลย ท่านก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ช่วยลดจำนวนฆ่าตัวตายลงได้


[ที่มา..นิตยสาร fitness ปีที่ 10 ฉบับที่ 106]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1