มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ที่มา..หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 22 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543์]


เลี้ยงลูกอย่างไรหลังหย่าร้าง

กนกวลี


คำว่า "หย่าร้าง" หรือคำว่า "แยกทาง" เป็นคำที่คนมีครอบครัวแล้วไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้ฟัง ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง

แต่ในชีวิตจริงของเรา บางครั้งก็เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คนที่เคยโกรธกันจะเป็นจะตาย ผลสุดท้ายมาเป็นคนรักกันอยู่ด้วยกันไป จนตายจากกันไปก็เยอะแยะ คนที่รักกันจะเป็นจะตาย ผลสุดท้ายก็ต้องแยกทางกันไปไกลสุดลูกหูลูกตาก็มีมาก เป็นเรื่องลำบากที่จะให้ลงตัวแน่นอน

ถึงแม้ทุกคู่ทุกคนจะตั้งความหวังที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ นานถึงขั้นตายจากกันไป เมื่อถึงวัยอันสมควร หลายคู่ทำได้ แต่ก็มีหลายคู่ที่ทำไม่ได้

หลายคู่ต้องแยกทางกันเดินด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ เป็นเหตุผลที่ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนสองคน ที่ตัดสินใจเป็นครอบครัวเดียวกัน บางคู่แยกทางกัน เพราะเหตุผลทีล้ำลึกเกินกว่าจะบรรยาย แต่เหตุและผลที่ใช้กันมากที่สุด คือ "ทัศนคติไม่ตรงกัน" เพราะเป็นเหตุผลกว้างๆ ที่ครอบคลุมเกือบทุกเรื่อง

คำว่า "ทัศนคติ" มันดูเหมือนไม่มีตัวตน (แต่ถ้าคนจริงๆ จะพบว่ามีนะ)
คำว่า "ทัศนคติ" ดูเหมือนเป็นคำกลางๆ ที่นำมาอ้างได้ง่ายๆ
ที่สำคัญที่สุดที่หลายคู่ชอบใช้คำนี้ เพราะเป็นคำที่คนได้ยินได้ฟังแล้ว จะซักไซ้ไล่เรียงหาคำตอบที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมไม่ได้ง่ายนัก เพราะเมื่อใดก็ตามบอกว่า แยกทางกันเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า ไม่ควรมีคำถามอะไรตามมา เพื่อค้นหาความจริงของการแยกทางได้มากกว่านี้

"ทัศนคติไม่ตรงกัน" จึงเป็นคำฮิตติดตลาด ของการหย่าร้างมาทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ช่างเถอะ เหตุผลของการหย่าร้างจะเป็นเพราะอะไร บางทีก็ไม่น่าสนใจที่จะไปรู้อะไรมากนัก เพราะรู้ไปก็เท่านั้น ยังไงๆ ก็หย่ากันแล้วนี่ สิ่งที่ควรจะค้นหาคำตอบ มากกว่าค้นหาเหตุผลของการหย่าร้าง คือ "จะเลี้ยงลูกอย่างไรหลังหย่าร้าง"

ถ้าคู่ไหนหย่ากันก่อนมีลูกก็ถือได้ว่า ปัญหาที่จะตามมาก็น้อยลงหน่อย ผลกระทบใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการหย่าร้าง ก็จะค่อนข้างน้อยกว่าคู่ที่มีลูก แต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่ดี คนที่เคยหย่าแล้วจะตอบคำถามนี้ได้ดี

ใครที่เคยหย่าจะเขียนมาเล่าให้ได้รับรู้กันบ้างก็ไม่ขัดข้องนะ ว่าหย่าแล้วมีผลกระทบอะไรบ้าง

บังเอิญวันนี้ไม่ได้คุยเรื่องผลกระทบจากการหย่าทั่วๆ ไป จึงขอยกยอดไว้คุยกันในโอกาสอันควร แต่ที่ชวนคุยวันนี้ คือ เรื่องผลกระทบที่เกิดจากการหย่าร้างจากคู่ที่มีลูกแล้ว และแน่นอนที่สุด ทุกครั้งที่มีการหย่าร้าง ลูกมักจะถูกกำหนดให้ไปอยู่กับคนใดคนหนึ่ง ไม่อยู่กับ พ่อ ก็ต้องอยู่กับ แม่ มีน้อยรายที่หย่าแล้ว แต่ทั้งคู่ยังอยู่กับลูกต่อไป

การที่ลูกจะไปอยู่กับใครนี้ บางทีก็ขึ้นอยู่กับ การสมัครใจของลูก บางทีก็ขึ้นอยู่กับ ผลแห่งกฎหมาย ที่จะตัดสินออกมาว่า จะให้ไปอยู่กับพ่อหรือแม่ เพราะส่วนมากมักจะตกลงกันไม่ได้เมื่อหย่า ว่า จะให้ลูกไปอยู่กับใคร จึงต้องใช้กฎหมายเข้ามาตัดสิน

เมื่อลูกต้องไปอยู่กับพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง จึงมาถึงคำถามที่ว่า คนที่เป็นพ่อหรือแม่นั้น จะปฏิบัติต่อลูกหรือจะเลี้ยงลูกอย่างไรเมื่อต้องหย่าร้าง เพราะหลังจากแยกทางกันแล้ว คนที่เคยเป็นพ่อ จะเป็นแค่พ่ออย่างเดียวไม่เพียงพอ คนที่เคยเป็นแม่ จะเป็นแค่แม่อย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในคนเดียวกัน

การจะเลี้ยงลูกหลังหย่าร้างให้ไปได้ดี
จึงมีหลักที่น่าจะประกอบด้วย 5 ไม่ 6 ให้

"ไม่และให้" ข้อแรกคือ....ไม่ต่อว่า "พ่อ" หรือต่อว่า "แม่" ให้ลูกฟัง

การต่อว่าอดีตคู่ครองคู่ชีวิตของเรา ซึ่งเขาหรือเธอ ก็คือ พ่อหรือแม่ของลูกเรา จะไม่เกิดผลดีต่อใครทั้งสิ้น

บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าได้ต่อว่าคู่ของตัวเองที่เลิกรากันไปแล้ว ในทางเลวร้ายมากเท่าไหร่ ลูกจะได้หันมารักตัวคนที่ต่อว่ามากขึ้นเท่านั้น นี่คือความเข้าใจผิดอย่างมหันต์

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อลูกได้ยินพ่อหรือแม่ ต่อว่าอีกคนหนึ่งซึ่งก็คือพ่อหรือแม่ของลูก ลูกจะเกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย บางครั้งมากเกินกว่าที่คุณจะคาดคิด และจะเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เมื่อวันหนึ่งลูกอาจมานั่งขบคิดว่า พ่อหรือแม่ที่เขาอยู่ด้วยทุกวันนี้ กับพ่อหรือแม่ที่จากไป ใครเลวกว่ากันแน่?

คนที่ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในตัวคนเดียวกัน หลังจากหย่าร้างกันแล้ว จะพูดถึง "พ่อ" หรือ "แม่" ของลูกที่แยกกันอยู่ไปแล้วให้ลูกที่ยังอยู่กับเราฟังอย่างไรดี นี่คือปัญหา จะไม่พูดถึงซะเลยก็คงไม่ได้ เพราะยังไงๆ ลูกก็รู้ก็เห็นอยู่แล้วว่าใครคือพ่อ ใครคือแม่ เพียงแต่ว่าแยกกันอยู่เท่านั้นและลูกนั่นแหละ จะเป็นคนถามถึงพ่อหรือแม่ของเขาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

เพราะคนเคยอยู่ด้วยกัน ยิ่งเป็นพ่อแม่ลูกกันด้วยแล้ว จะไม่ให้พูดถึงกันมันดูกระไรอยู่ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำยังไงดี

ตรงนี้ควรใช้หลัก "ให้" ในข้อแรกคือ... "ให้วางเฉยหรือชื่นชม" ทางที่ดีที่สุดคือการวางเฉยไม่เอ่ยถึง ไม่พูดถึงคู่ครองของเราที่แยกทางกันไปแล้วกับลูก ถึงแม้บางครั้งลูกอาจจะเอ่ยถึงบ้างก็ตาม เราต้องพยายามวางเฉยไว้ให้ได้ เพราะถ้าเอ่ยถึงเมื่อไหร่ เดี๋ยวก็อดเอ่ยถึงในทางเลวร้ายไม่ได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นผลร้ายกับลูกอย่างที่บอกไปแล้ว

แต่ถ้าปล่อยให้ระยะของเวลาที่เลิกร้างกันห่างออกไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเคียดแค้นชิงชังที่เคยมีต่อกัน หรือความไม่เข้าใจกันเริ่มเจือจางลง คงต้องหาช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ เหมาะสมทั้งอารมณ์ของเราและเหมาะสม ทั้งการเติบโตขึ้นของลูกด้วย ช่วยพูดถึง "พ่อ" หรือ "แม่" ของลูกที่จากไปในจุดที่ดีบ้าง เพราะ "พ่อ" หรือ "แม่" ของลูกของเราคงไม่เลวไปซะทุกอย่าง อย่างน้อยที่สุด ก็คงมีความดีที่เราเคยมองเห็นอยู่บ้าง

ถ้าเขาหรือเธอไม่มีจุดดีอะไรเลย มีแต่จุดด้อย เราคงไม่ตัดสินใจแต่งงานกันมั้ง ต้องคิดอยู่เสมอว่า ถึงจะหย่าร้างกันด้วยสาเหตุที่รุนแรงขนาดไหนก็ตาม เขาหรือเธอก็ยังเป็นพ่อหรือแม่ของลูกของเราวันยังค่ำ ทำอย่างไรก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะให้ลูกต้องเกลียดชังอีกคนหนึ่ง เหมือนเราไปด้วยทำไม ในเมื่อเขาไม่รู้เรื่องอีโหน่อีเหน่อะไรด้วย ที่สำคัญคือ ถึงแม้จะหย่าร้างกันไป ก็ยังคงสภาพการเป็นคนรู้จักที่ดีกันได้ไม่ใช่หรือ

หลักข้อที่สอง… ไม่ลงโทษลูก เพราะเกลียดคนที่แยกจากเราไป แต่ควรให้ความอบอุ่นลูกมากๆ

พ่อหรือแม่บางคนอยู่ในฐานะ ปากกัดตีนถีบ เมื่อถูกอีกฝ่ายทิ้งลูกไว้ให้เลี้ยง และบังเอิญลูกดันไปมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับคนที่ทิ้งตนเองไป เมื่อเห็นหน้าลูก ก็จะนึกไปถึงใบหน้าของคนที่ทิ้งไป ซึ่งไม่ค่อยชอบขี้หน้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จนเกิดอารมณ์ไม่พอใจ บางรายชอบหาเรื่องลงไม้ลงมือกับลูก เพื่อความสะใจของตนเองทั้งๆ ที่บางทีไม่มีเรื่องใหญ่โตอะไรแต่ทำไปเพราะความสะใจ เหมือนกับต้องการทำกับลูกเพื่อกระทบถึงคนที่ทิ้งไป

ในความเป็นจริง คนที่ทิ้งไปก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร เพราะไม่ได้เกิดอะไรขึ้นกับเขาแต่เกิดขึ้นกับลูก คนที่เจ็บปวดจากการถูกลงโทษโดยไร้เหตุผล คือคนที่เป็น "ลูก" ของเรานั่นเอง

ทางที่ดีควรให้ความอบอุ่นลูกมากๆ และควรมากยิ่งกว่าลูกของพ่อแม่ทั่วๆ ไป เพราะลูกของเรา เขาไม่มีใครอีกแล้ว เขามีเราคนเดียว จึงควรให้ความอบอุ่นลูกมากๆ เพิ่มเป็นสองเท่าจึงจะเข้าท่ากว่า

หลักข้อที่สามคือ.... ไม่คิดเรื่องเก่าๆ ให้คิดไปข้างหน้า

หลายคนไม่สามารถลืมเรื่องเก่าที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตคู่ที่ผ่านมาได้

จำแล้วจำเล่า จำเข้าไปในสมอง ถ้าตรองดูดีๆ จะพบว่า เรื่องเก่าๆ ที่ไม่ลืม มักจะเป็นเรื่องด้านลบ เมื่อจบเรื่องเก่าไม่ได้ ก็มักจะครุ่นคิดจนเกิดทุกข์ บางรายคิดเลยเถิดไร้สาระ จับต้นชนปลายไม่ถูก ถึงขั้นทิ้งลูกก็มี ชีวิตก็จะมีแต่ความเศร้าหมองเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็น ลูกก็จะไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี อาจจะทำให้มีปัญหาทับถมเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกก็ได้

ทางที่ดีควรให้คิดไปข้างหน้า คิดถึงอนาคตข้างหน้าของตัวเองและของลูก โดยเฉพาะอนาคตของลูก จะปลูกฝังลูกอย่างไรให้ดีที่สุด จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้องเอา "ลูก" เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

อย่าไปคิดเรื่องเก่าๆ เป็นอันขาด จะทำให้เราขาดความสุขและลูกก็จะขาดความสุขไปด้วย

หลักข้อที่สี่คือ…ไม่คิดว่าเป็นแค่พ่อหรือแม่ ให้คิดและปฏิบัติตนเป็นทั้งพ่อและแม่

ต้องยอมรับความจริงเบื้องต้นกันก่อนว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการหย่าร้างเกิดขึ้น ย่อมหมายถึง การแยกกันกินแยกกันอยู่ แยกกันคิด แยกกันทำของคนที่เป็นพ่อแม่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

เมื่อพ่อแม่ต้องแยกกันอยู่ ทำให้ลูกต้องอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่อยู่กับพ่อ ก็ต้องอยู่กับแม่ ไม่ว่าลูกจะอยู่กับใคร คนนั้นจะต้องเอาความเป็นพ่อเป็นแม่มารวมกัน เพื่อที่ลูกจะได้ไม่เกิดความรู้สึกว่าขาดพ่อหรือแม่

ถ้าพ่อต้องอยู่กับลูกสาว พ่อก็ต้องทำตัวเป็นแม่ด้วย เพื่อไม่ให้ลูกสาวเกิดความรู้สึกแปลกแยกหรือรู้สึกว่าขาดอะไรไป

นอกจากนั้น พ่อต้องพร้อมที่จะคุยกับลูกสาวในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ลูกสาวมักจะไม่คุยกับพ่อ แต่มักจะคุยกับแม่มากกว่า เช่นเรื่องการมีประจำเดือนของลูกสาว หรือแม้กระทั่งเรื่องเพื่อนต่างเพศ

พ่อที่ต้องเป็นแม่ด้วย ควรหาความรอบรู้ในเรื่องสรีระร่างกาย ของผู้หญิงบ้างพอสมควร อย่างน้อยก็ควรรู้บ้างพอที่จะตอบคำถามของลูก หรือให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติตัวของลูกได้ พ่อจะต้องไม่เขินอายที่จะพูดเรื่องที่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศกับลูกสาว ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม

ถ้าเป็นไปได้ อาจต้องปรึกษานักจิตวิทยา หรือหาตำรับตำรามาเป็นแนวทางในการพูดจา เพราะเรื่องทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ถ้าพูดผิดพูดถูกอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด และอาจทำให้ลูกสาวนำไปคิดเอาเองแบบผิดๆ ถูกๆ ก็ได้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตธรรมดาๆ ต่อไปได้

เรื่อง "เพื่อนต่างเพศ" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนที่เป็นลูกสาวมักจะกล้าพูดคุยกับคนที่เป็นแม่มากกว่าคุยกับพ่อ

ฉะนั้น เมื่อลูกสาวต้องอยู่กับพ่อกันสองคนโดยไม่มีแม่ คนที่เป็นพ่อต้องมีศิลปะการวางตัววางตนให้คนที่เป็นลูกสาว กล้าเอ่ยวาจาปรึกษาหารือ ลูกสาวจะได้ไม่นำเรื่องราวของหัวใจไปปรึกษาผู้อื่น ผู้ที่อาจจะไม่มีความปรารถนาดีเท่าคนที่เป็นพ่อก็ได้ ถ้าปรึกษาพ่อได้ เชื่อได้ว่าลูกจะไม่นำเรื่องส่วนตัวของตนไปดั้นด้นปรึกษาหารือผู้อื่น

ต่อมาคือหลักข้อที่ห้า ไม่เลี้ยงแบบใช้อำนาจ ให้เลี้ยงแบบให้ความเข้าใจ

คนที่เป็นพ่อเป็นแม่มักจะคิดว่าตนมีอำนาจเหนือลูก ในทุกๆ กรณี จึงมักชอบใช้อำนาจกับลูกอยู่บ่อยๆ

บางทีก็ใช้ทางอ้อม แบบคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ไม่รู้ตัวหรอกว่า กำลังใช้อำนาจ เรื่องการใช้อำนาจของพ่อแม่นี่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายจนใช้ไม่ได้เลย ยังเป็นเรื่องที่พอจะใช้ได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะคำว่า "อำนาจ" ไม่ค่อยเข้าใครออกใคร

เมื่อมีโอกาสใช้บ่อยๆ ก็มักอดไม่ได้ ที่จะใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้ อย่าว่าแต่จะใช้กับลูกเลย จะใช้กับใครก็ไม่ดี มีแต่จะสร้างและสะสมความเกลียดชัง ความทุกข์ระทมให้ผู้ถูกอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเล่นงานมากขึ้นเท่านั้น เพียงแต่เขาพูดไม่ออก บอกไม่ได้เท่านั้นเอง เพราะเขาเป็นลูก และถ้าลูกกำลังอยู่ใน "ช่วงวัยรุ่น" ซึ่งอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อถูก "ใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม" ปราศจากเหตุผล อาจทำให้ลูกเสียคนเลยทีเดียว

หนทางเดียวที่ดีที่สุดคือต้องเลี้ยงแบบ "ให้ความเข้าใจ" เป็นการให้ความเข้าใจด้วยเหตุด้วยผลแบบประชาธิปไตย ปรึกษาหารือกันตลอดเวลา ลูกก็จะมีโอกาสพัฒนาให้ "เติบโตอย่างมีคุณค่า" เหมือนลูกคนอื่นๆ ที่มีพ่อและแม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันได้โดยไม่ยากเย็น

หลักข้อสุดท้ายของการเลี้ยงลูกอย่างไรเมื่อหย่าร้าง คือ "ให้เวลา"

ลูกที่อยู่กับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวนั้น ต้องการ "เวลา" จากพ่อหรือแม่เหมือนเด็กคนอื่นที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่ลูก ไม่ใช่ว่าเมื่อมีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวแล้ว ลูกจะได้เวลาที่จะดูแลเอาใจใส่ลดลงไปครึ่งหนึ่ง แท้ที่จริงแล้ว ลูกยังต้องการเวลาอยู่ใกล้ชิดพ่อหรือแม่มากที่สุด เท่าที่จะมากได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ

แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่สามารถจัดเวลาได้มากพอ ก็ควรจะพูดให้ลูกเข้าใจ อย่าปล่อยให้ลูกเข้าใจผิดแล้วก็คิดเอาเองว่า "พ่อ" หรือ "แม่" ไม่สนใจ อย่าลืมว่าทุกคนในโลกนี้มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่ว่าจะจัดสรรเวลาอย่างไร ไม่ให้กระทบกระเทือนถึงลูกและหน้าที่การงาน

การจัดสรรเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่ง ของการดูแลลูกที่พ่อแม่หย่าร้างกัน การหย่าร้างเป็นสิ่งที่ไม่มีครอบครัวไหน บ้านไหนอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีหลักในการจัดการกับชีวิตให้ดี

โดยเฉพาะ "หลัก" ในการเลี้ยงดูลูก ที่นำเสนอมาทั้ง 5-6 ข้อ คงพอจะช่วยเป็นแนวทางให้กับครอบครัวที่ต้องหย่าร้างว่า ควรจะเลี้ยงลูกอย่างไร

ขอให้เลี้ยงลูกกันให้ได้ดี ถึงแม้ลูกจะไม่มีพ่อแม่ลูก อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันก็ตาม


ขอบคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1