|
คนขี้ระแวง...
จะเกิดอะไรกับชีวิตได้บ้างไหม?
คำถามที่มีคำตอบ |
ผู้สูงอายุนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์มาก
บางคนเคยถูกหลอกให้เสียเงินทอง บางคนก็เคยถูกต้มตุ๋นมามาก
พออายุมากเข้า ใครจะมา "หลอกคนแก่" ก็คงไม่ง่ายนัก บางบริษัทที่มีสินค้าขายตรงก็อาจมีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วม
จะได้ซื้อสินค้าไปมากๆ ซึ่งบางครั้งก็ได้ผลแต่ส่วนใหญ่จะพบว่า
การเปิดกระเป๋าผู้สูงอายุทีก็แสนจะยาก
ครั้งหนึ่งผมได้ไปนั่งฟังการบรรยายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
แก่ผู้สูงอายุก็เลยลองถามคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ว่า เข้ามาฟังแบบนี้จะไม่เบื่อหรือเห็นมีแต่โฆษณาสินค้า
คุณป้าแก่ตอบว่าไม่เบื่อหรอก
"มาแล้วก็มีของแจกกลับไป ส่วนที่จะซื้อหรือไม่ซื้อนั้น
เป็นเรื่องของเรา ต้องดูเหตุผลอย่าให้เขาหลอกเอาได้"
เท่าที่ผมสังเกตดูความขี้ระแวงในผู้สูงอายุ
อาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน บางรายมีมรดกมีสมบัติมาก
ก็อาจระแวง ว่าลูกหลานจะมาหลอกเอาไป
ขณะที่บางคนอาจกลัวคนข้างบ้านจะมาทำร้ายเอา
นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีญาติพาผู้สูงอายุท่านหนึ่ง
มาปรึกษาเดิมทีนั้นคุณตาพร แกก็ป่วยเป็นเบาหวานต้องกินยาเป็นประจำ ช่วงหลายเดือนมานี้ญาติๆ ก็สังเกตว่า คุณตาพรนอนไม่ค่อยหลับ ถามดูก็บอกว่าต้องระวังตัวกลัวคนเขาจะมาทำร้าย
กับเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ติดๆ กัน คุณตาก็ทำเป็นหูดี คอยฟังคนข้างบ้านเขาคุยกันว่าจะเกี่ยวกับตัวแกหรือเปล่า
ฟังไปฟังมาก็รู้สึกว่าคลับคล้ายคลับคลา ก็เลยเก็บเอามานอนกังวล
หูไม่ดีกับความระแวง
มีการวิจัยกันว่าความขี้ระแวงนี้เกิดจากอะไรก็พบว่า
สัมพันธ์กับหูตาไม่ใคร่ดีของผู้สูงอายุเช่น พบว่าผู้สูงอายุที่มีอาการระแวงนั้น
หูไม่ดีถึง 58 เปอร์เซนต์ เทียบกับผู้สูงอายุปกติจะมีปัญหาการได้ยิน
เพียง 36 เปอร์เซนต์ อีกรายหนึ่งก็พบว่าตาฝ้าฟางมองอะไรไม่ชัด อาจทำให้ผู้สูงอายุแปลความหมายของสิ่งที่เห็นผิดพลาด
จนเกิดความระแวงขึ้นมาได้ โดยผู้สูงอายุกลุ่มที่ระแวงนั้น
มีปัญหาการมองเห็นถึง 78 เปอร์เซนต์
เทียบกับผู้สูงอายุปกติมีปัญหาเพียง 50 เปอร์เซ็นต์
เราอาจพูดได้ว่าการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องทำให้ผู้สูงอายุสับสน
จนเก็บเอามาคิดระแวงได้ นี่เป็นหลักการที่สำคัญในการรักษาคือ ญาติต้องเข้าใจคอยอธิบายความหมายหรือข้อสงสัยที่ผู้สูงอายุมี
อย่าให้เขาไปคิดเอง รายที่ "หูหาเรื่อง" ก็อาจต้องหาเครื่องช่วยฟังโดยเร่งด่วน รายที่ตาไม่ดีก็ต้องไปปรึกษากับหมอตาว่าพอแก้ไขได้บ้างไหม
ผู้หญิงระแวงมากกว่าผู้ชาย
หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิง
มีความขี้ระแวงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาหลายชิ้น
ที่ระบุว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะระแวงมากกว่าผู้ชาย
บางรายงานบอกว่า 10-11 เท่าเลยทีเดียวตรงนี้คงอธิบายได้บ้างว่า
คงเป็นจากอุปนิสัยของสตรีที่มีความละเอียดรอบคอบขี้สงสัยนั่นเอง
เป็นโรคจิต ?
อาการระแวงไม่จำเป็นต้องเป็นโรคจิต
ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ใช่ด้วยซ้ำ แต่อาจเป็นเพียง "อาการทางจิต"
อย่างเดียวเช่น อาจระแวงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ
แต่ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ถ้าหากมีหูแว่วประสาทหลอนแล้ว
ก็น่าจะเข้าข่ายโรคจิต (Psychosis) นะครับ เพียงแต่ว่าในผู้สูงอายุนั้น
สาเหตุอาจมาจากการเจ็บป่วยทางร่างกายก็ได้ เช่น
บางรายป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม บางรายเกิดจากการใช้ยานอนหลับ ฯลฯ
ต้องป้องกันไว้ก่อน
ในผู้สูงอายุหากรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หูตาดี
เดินเหินคล่องแคล่ว การเจ็บป่วยก็จะน้อย ที่สำคัญต้องมีการออกกำลังกาย
มีกิจกรรมงานอดิเรก สังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือเข้าชมรมต่างๆ บ้าง เป็นการใช้เวลาอย่างมีประโยชน์สร้างความสมดุลความสบายใจ (คนที่สบายใจย่อมระแวงน้อยลงโดยอัตโนมัติ) การได้ไปวัดถือศีล สวดมนต์ทำสมาธิก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างความสบายใจ
ลดความขี้วิตกกังวลของผู้สูงอายุลงไปได้
การรักษา
หากอาการเป็นน้อยๆ การพูดคุยเรื่องราวที่ผู้สูงอายุกังวล
ก็อาจแก้ไขปัญหาไปได้ นอกจากบางรายที่เป็นอยู่นาน
หรือมีอาการหลายๆ อย่างร่วมด้วย อย่างกรณีของคุณตาพร
มีทั้งการระแวงและหูแว่วเป็นครั้งคราว ก็จำเป็นต้องได้รับยา
ต้านอาการทางจิต ซึ่งก็มักตอบสนองภายใน 1-2 สัปดาห์
แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ว่า ผู้สูงอายุบางคนมีอาการข้างเคียงได้
โดยเฉพาะอาการสั่นตามมือ, ลิ้นคอแข็ง มุมปากกระตุก
ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยากันใหม่
อาการระแวงอาจทำให้ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ
เกิดความเดือดร้อนบ้าง (บางคนอาจไปด่าคนข้างบ้าน
เพราะคิดว่าเขาด่าก่อน) แต่ก็ควรเข้าใจว่าสามารถป้องกันได้พอสมควร หรือแม้แต่อาการมากก็ยังรักษาได้สำหรับรายที่เป็นไม่มาก
ก็คงคิดในแง่ดีได้ว่า จะได้ไม่ถูกคนอื่นเขาต้มเอาง่ายๆ เพราะผู้สูงอายุบางคนใจดีจนถูกหลอกอยู่บ่อยๆ
ก็มีปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง
นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง
|