มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 9 กันยายน 2540]

โรคขี้ลืม

ไมตรี ลิมปิชาติ


เพื่อนผมคนหนึ่งมีอาชีพทำหนังสือพิมพ์ งานหลัก คือเขียนหนังสือ เขาบอกผมว่า ตอนนี้เขาเขียนหนังสือได้ช้ามาก คือ แทนที่จะเขียนรวดเดียวจบ กลับต้องคอยอ่านทบทวนบรรทัดแรก ๆ ที่ได้เขียนไปแล้ว ถ้าไม่อ่านจะเขียนต่อไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าเขียนอะไรไปบ้าง

น้องสาวของผมบ้านอยู่ต่างจังหวัด มาทำธุระที่กรุงเทพฯ เสร็จกลับบ้าน ขณะลงจากรถไฟ เพื่อนั่งรถ 3 ล้อกลับบ้านนั้น ชี้บอกทางสารถี 3 ล้อไม่ถูกว่าบ้านอยู่ที่ไหน

น้องสาวเล่าให้ผมฟังว่า ตอนแรกนึกว่าเมารถไฟ เพราะเพิ่งลงจากรถแต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ น้องมีอาการแบบสะลึมสะลืออยู่นานกว่า 10 นาที กว่าจะบอกคนขี่รถ 3 ล้อให้นำไปส่งบ้านได้ น้องจึงต้องไปพบหมอ หมอตรวจในเบื้องต้นบอกว่า น้องเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ฟังแล้วน่ากลัว

หลังจากได้กินยาไม่ถึงสัปดาห์ อาการของน้องดีขึ้น ไม่มีอาการแบบเดิม แต่ก็ยังไม่ค่อยไว้ใจตัวเอง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพบหมอเฉพาะโรค ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อตรวจเช็กร่างกาย ให้ละเอียดอีกครั้ง ขณะเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผมก็ยังไม่ทราบผลจากน้อง

ผู้รู้เคยบอกผมว่า คนที่มีอายุเกิน 50 ปี อย่างกับเพื่อน และน้องสาวของผม รวมทั้งตัวผมเองด้วย มักจะกลายเป็นคนขี้ลืมมากขึ้น ตอนสมัยผมเป็นหนุ่ม เวลาเข้าห้องประชุม หรือเวลาถูกเจ้านายสั่งโน่น สั่งนี่ ผมจะไม่จด เพราะจะจำได้ทุกเรื่อง

ส่วนปัจจุบัน จดทุกเรื่องที่ถูกเจ้านายสั่ง ทั้ง ๆ ที่จดไว้แต่มักจะลืมเปิดอ่านเสียนี่ แม้ซื้อลอตเตอรี ก็ยังลืมตรวจ เพราะนอกจากเป็นคนขี้ลืมแล้วยังไม่ได้ซื้อประจำด้วย

ผมเคยขับรถไปทำงาน ระหว่างทางรู้สึกว่าที่เท้าผิดปกติ พอก้มลงดูเท่านั้น ถึงกับใจหายวาบ เพราะลืมใส่รองเท้าหนังสำหรับใช้ใส่ไปทำงาน ใส่แต่รองเท้าแตะมาแทน โชคดีที่ใกล้ ๆ ตรงนั้นมีร้านขายรองเท้าแวะเข้าซื้อได้

ตอนที่ผมเพิ่งใส่ฟันปลอมใหม่ ๆ เป็นแบบชนิดถอดได้ ผมเคยลืมใส่ฟันปลอมไปทำงาน พอรู้ตัวต้องรีบขับรถกลับไปเอาฟันปลอมที่บ้าน เพราะไม่สามารถหาซื้อฟันปลอม เหมือนรองเท้าได้ เพราะปากใครปากมัน ฟันปลอมของคนอื่นนำมาใช้กับปากเราไม่ได้ด้วย ตอนหลัง ๆ ผมจึงต้องแก้ด้วยการ พอตื่นเช้าลุกขึ้นจากเตียงจะต้องหยิบฟันปลอมที่ถอดแช่น้ำไว้ใส่เข้าปากไว้ก่อนกันลืม

ตั้งแต่มีอายุเกินเลข 40 มาแล้ว ผมต้องใช้แว่นสายตาเวลาอ่านหนังสือ วันไหนลืมแว่น ก็จะอ่านหนังสือไม่ได้ ผมเป็นคนติดอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์

มีอยู่ครั้งหนึ่งลืมแว่น ไม่ได้เอาติดไปทำงาน จึงทำงานไม่ได้เพราะ จะต้องอ่านหนังสือ ผมต้องออกจากที่ทำงานไปหาซื้อแว่น ผมลืมแว่นบ่อยมาก แม้เวลาจะเดินทางไปต่างจังหวัด ผมก็เคยลืมจึงต้องแก้ไขด้วยวิธีไปหาซื้อแว่น บางครั้งก็ไม่ใช่ว่าจะหาซื้อได้ง่าย ๆ ถ้าบังเอิญต้องออกไปอยู่ตามชนบท

เพื่อไม่ให้มีปัญหาอีกต่อไป ผมจึงใช้วิธีซื้อแว่นไว้ให้มากอัน เก็บแว่นไว้ที่ห้องรับแขกอันหนึ่ง ห้องทำงานอันหนึ่ง และไม่ลืมไว้ในห้องน้ำอีกอัน เพราะผมชอบอ่านหนังสือในห้องน้ำ เท่านี้ยังไม่พอ ยังเก็บแว่นไว้ที่รถและในกระเป๋าเจมส์บอนอย่างละอันด้วย

บนโต๊ะทำงานก็มีแว่นไว้พร้อมที่จะใช้ได้ถึง 2 อัน เมื่อต้องใช้แว่นหลายอัน ผมจึงต้องซื้อแว่นแบบราคาปานกลาง คุณภาพพอที่จะนำมาใส่อ่านหนังสือได้ การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ทำให้ไม่เสียเวลากับการหาแว่น ถ้าทุกคนแก้ปัญหาเรื่องแว่น เหมือนกับผม รับรองว่า ร้านขายแว่นต้องกลายเป็นเศรษฐีทุกร้าน

เนื่องจากผมต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย ฉะนั้นในกระเป๋าเสื้อผ้า ผมจะเอาแว่นใส่เตรียมไว้เสมอ เหตุเพราะกลัวลืมแว่นมากเกินไป บางครั้งผมมีแว่นติดตัวถึง 3 อัน ก็มี คือนอกจากอยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าแล้ว ยังอยู่ในกระเป๋าใส่กล้องถ่ายรูป แล้วยังถือติดมือไปอีก นับเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ไม่น้อย

ทั้ง ๆ ที่มีแว่นไว้หลายอัน แต่บางครั้งผมก็ต้องค้นหาแว่น เพราะจำไม่ได้ว่าวางแว่นอยู่ตรงจุดไหน ในลิ้นชักหรือหลังตู้เย็น ผมเคยเขียนนวนิยายเรื่องหนึ่ง ชื่อยอดหญิงนักตบ

นางเอกของเรื่องเป็นนักวอลเลย์บอล แล้วก็มีเพื่อนนางเอกหลายคนที่อยู่ในทีมเดียวกัน เพื่อนของนางเอกคนหนึ่งคัดทีมชาติไม่ติด จึงไม่ได้ไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น แต่เขียนไปเขียนมา กลับมีชื่อของนักวอลเลย์บอลคนที่ว่านี้ไปโผล่ที่ญี่ปุ่นอีก

โชคดีที่บรรณาธิการได้อ่านแล้ว ทักท้วงมาก่อน ผมจึงแก้ไขได้ทันก่อนที่จะนำเรื่องลงพิมพ์

ปัจจุบันเวลาผมไปเที่ยวศูนย์การค้า ผมเอารถจอดอยู่ชั้นไหน ผมจะจดไว้ในกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แล้วใส่กระเป๋าไว้เสมอ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง จอดรถไว้แล้ว ผมจำไม่ได้ ต้องเดินหารถอยู่นาน หาจนหน้าซีด เพราะนึกว่า รถคงถูกขโมยไปแล้ว แต่ยังไม่ทันได้โทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ พบรถเสียก่อน มิเช่นนั้นคงจะยุ่ง

ผมยังดีครับ เพื่อนผมคนหนึ่งขับรถไปงานเลี้ยง แต่พอขากลับเรียกรถแท็กซี่กลับบ้าน หน้าตาเฉย ไปถึงบ้าน เมียร้องถามว่า ทำไมกลับรถแท็กซี่ จึงนึกขึ้นได้ รีบนั่งแท็กซี่กลับไปเอารถ แบบนี้ก็มี

บางคนยิ่งกว่านั้น จอดรถไว้แล้วจำไม่ได้ เมื่อหารถไม่พบ รีบโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจทันที เพราะกลัวว่าถ้าชักช้า คนขโมยรถจะนำรถไปไกล ตามจับยาก กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องขอโทษตำรวจแทบตาย

เพื่อนอีกคนหนึ่งของผม จำหมายเลขทะเบียนรถของตัวเองไม่ได้ บังเอิญระยะนั้น มีรถหายบ่อย เขาขับรถผ่านเข้าไปในซอยมืด ๆ แห่งหนึ่ง ตำรวจสายตรวจดักตรวจ โดยยกมือให้หยุดรถ แล้วถามเขาว่า ทะเบียนรถของคุณหมายเลขเท่าไร เขาตอบไม่ได้ ตำรวจสงสัยจึงถูกนำตัวไปโรงพัก กว่าจะหลุดออกมาได้ก็ต้องเหนื่อย เพราะบังเอิญลืมบัตรประจำตัวไว้ที่บ้านเขา จึงต้องพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการโทรศัพท์ไปบอกให้ภรรยานำหลักฐานมายืนยันความเป็นเจ้าของรถ ทุกอย่างจึงเรียบร้อยลงได้

พูดถึงรถ ผมเองเคยทำสวิตซ์ซ้อนไว้เพื่อป้องกันโจร หมายถึงว่าปิดสวิตซ์ จะสตาร์ตเครื่องอย่างไรเครื่องก็ไม่ทำงาน ตอนที่ติดตั้งสวิตซ์ป้องกันโจรสองวันแรก ผมลืมเปิดสวิตซ์ พยายามสตาร์ตเครื่องเท่าไรเครื่องก็ไม่ติด จึงต้องขอร้องให้เพื่อนพนักงานซึ่งอยู่บ้านใกล้ ๆ กันกับผม มาช่วยเข็นรถ

เข็นจนเหนื่อย เครื่องก็ไม่ติด ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ลืมเปิดสวิตซ์ ผมจึงเปิดสวิตซ์ต่อจากนั้น แค่เข็นรถนิดเดียงเครื่องรถก็ติดทันที เมื่อเครื่องยนต์ทำงาน ผมร้องบอกขอบคุณคนที่มาช่วยเข็นรถ แต่ไม่กล้าบอกความจริงถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องเข็นรถ เป็นความลับดำมืดจนกระทั่งถึงวันนี้

เรื่องขี้ลืมของผมยังมีอีกมาก นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดมานานแล้ว เมื่อสมัยเด็กกลับจำแม่น แต่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาหยก ๆ เมื่อวานนี้กลับลืม เหมือนกับที่เพลงลูกทุ่งเ ขียนไว้เลยว่า

"สิ่งไหนอยากลืมกลับจำ สิ่งไหนอยากจำกลับลืม"

ผมเชื่อว่า คนอื่น ๆ ถ้าถึงวัยอายุมากขึ้น คงต้องขี้ลืมกันทุกคน อาจจะยกเว้นบางคน ซึ่งจะต้องถือว่า เป็นคนพิเศษ ข้อสำคัญถึงแม้จะเป็นคนขี้ลืมก็จริง แต่ไม่ควรลืมขี้ เพราะถ้าลืมก็จะกลายเป็นคนท้องผูก เป็นอันตรายกับร่างกาย

สำหรับท่านชาย จงจำไว้ให้ขึ้นใจว่า ลืมอะไรก็ลืมได้แต่ไม่ควรลืมเมียเด็ดขาด ครับ นัดกับเมียที่ไหน เมียจะสั่งอะไร สามีที่ดีควรท่องไว้ให้ขึ้นใจ แล้วจะปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง จะบอกให้

ไมตรี ลิมปิชาติ


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1