นายแพทย์สุรพงษ์ อำพันวงษ์
อุบัติการณ์การเกิดอัมพาตในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ในยุโรป พบว่าอัตราการเกิดอัมพาตนั้น พบผู้ป่วยในอัตราที่สูงราว 500-1,000 คน ต่อประชากร 1 แสนคน สำหรับสถิติในประเทศไทย ทางสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ศึกษาไว้พบว่า อัตราป่วยของผู้ป่วยอัมพาต อยู่ในอัตราที่สูงถึง 690 คนต่อประชากร 1 แสนคน
ในสหรัฐอเมริกาและประเทศที่เจริญแล้ว อัมพาตเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญเป็นอันดับ 3 ของประชากร รองลงมาจากโรคหัวใจ โรคมะเร็ง สำหรับประเทศไทยผู้ป่วยอัมพาตโดยทั่ว ๆ ไป จะมีอัตราตายประมาณ 20-25% ของผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้นในปีหนึ่ง ๆ ประชากรไทยจะมีผู้ป่วยอัมพาตเพิ่มขึ้นปีละราว 1 แสนคนทุกปี จะเห็นได้ว่าปัญหาของอัมพาตจึงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาสำคัญ ทางสาธารณสุข ของประเทศ
โรคอัมพาตมีผลกระทบถึงสมอง ทำนองเดียวกับโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน ที่มีผลกระทบถึงหัวใจ ซึ่งจะไปทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แล้วกล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื้อสมองถูกทำลายเสมอเมื่อเป็นอัมพาต แบบเดียวกับที่กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ในรายที่เส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจเกิดอุดตัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ความรู้สึกนึกคิด ของผู้ที่เป็นอัมพาต จะเสียเสมอไป อาการทุกอย่างของอัมพาตเป็นผลมาจากสมองถูกทำลาย ถ้าสมองถูกทำลาย หรือสมองบริเวณสำคัญถูกทำลาย ผู้นั้นก็จะสูญเสียความสามารถสำคัญ ๆ เช่น การเคลื่อนไหว การพูด ความทรงจำ สมาธิ และความสามารถในการเรียนรู้ หรืออาจจะมีความคิดสับสน กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ ผู้ป่วยจะรับความคิดใหม่ ๆ ได้ช้าลง ญาตต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเลือนลอย ไม่อยู่กับความจริง หรือการประเมินสมรรถภาพของตนเอง และความสัมพันธ์กับผู้อื่นบกพร่อง
แม้ว่าความสูญเสียของสมอง จะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว แต่ก็มีความหนักเบาแตกต่างกันไป ความผิดปกติหรือ ความพิการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้น ไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีผลกระทบด้านจิตวิทยาของผู้ป่วยด้วย และยิ่งกว่านั้นผลทางจิตวิทยา ย่อมเกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ป่วยอัมพาตเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจจะเป็นสามีหรือภรรยา และหลาย ๆ กรณีอาจจะรวมถึงบุตรด้วย วิธีการที่จะปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ มิฉะนั้นความยุ่งยากหลาย ๆ ประการจะต้องเกิดขึ้นในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบางคนในครอบครัวไม่สามารถยอมรับสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับผู้ป่วยอัมพาตได้
การสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเองก็ตาม ความสามารถในการตัดสินใจของผู้ป่วยอัมพาตก็ตาม จะมีผลกระทบถึงผู้ดูแลด้วย ดังนั้นผู้ดูแลควรใช้ความพยายามส่วนใหญ่ ไปในการช่วยให้ผู้ป่วยเรียกความสามารถ ในการควบคุมตนเองกลับคืนมา ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งก็หมายความว่า ท่านจะต้องหาวิธีปรับการดำรงชีวิตของท่าน และครอบครัวโดยถือผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อให้ท่านสามารถควบคุมดูแลทุกสิ่งทุกอย่างได้
เพื่อให้บรรลุถึงขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นนี้ได้ ท่านจะต้องรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวท่านเอง ตลอดจนเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวท่านด้วย จะต้องรู้และเข้าใจว่าท่านจะคาดหวังอะไรจากผู้ป่วยได้บ้าง ผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์กับตัวของท่าน จะต้องเน้นความสำคัญไม่เพียงการระวังดูแลผู้ป่วยอัมพาตใกล้ตัวท่านเท่านั้น แต่ยังจะต้องดูแลความเป็นอยู่ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตตัวท่านด้วย
สามีและภรรยาของผู้ป่วยจำนวนมาก มีความรู้สึกรุนแรงว่าตนเองผิด คนใกล้ชิดมักจะคิดว่าตนได้ทำอะไรจึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องเป็นอัมพาต หรือว่าครอบครัวถูกลงโทษด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ความคิดที่ว่า "ทำไมต้องเป็นฉัน" "ทำไมต้องเป็นเรา" เป็นปฏิกิริยาที่ปกติสำหรับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์น่าตกใจ ที่ไม่คาดฝัน บางคนโดยเฉพาะผู้เป็นภรรยา อาจจะรู้สึกว่าตนควรจะได้ดูแลสามีให้ดีกว่านี้ ภรรยาอาจคิดว่าได้ดูแลอาหารการกินไม่เหมาะสม หรือควรจะห้ามปรามการสูบบุหรี่หรือการดื่มเหล้าให้จริงจังกว่าที่ได้กระทำไป หรืออาจคิดว่าเราควรจะสังเกตอาการ หรือวี่แววของการเป็นอัมพาตได้แต่เนิ่น ๆ และภรรยาบางคนก็อาจแสดงความขุ่นเคือง ที่ตนตกอยู่ในภาวะที่เป็นอยู่ขณะนั้น
ความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก ๆ ของการป่วย คนส่วนมากจะค่อย ๆ เข้าใจว่าตนมิใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และจะเริ่มรู้สึกผิดน้อยลง การที่จะไม่ให้รู้สึกขัดใจในสภาพดังกล่าวเสียเลย ทำได้ยากกว่า และเมื่อรู้สึกอย่างนั้นก็เลยสำนึกผิดพยายามอย่าจมอยู่กับความคิดเหล่านี้ ถ้ามีโอกาสก็ควรพูดคุญกับผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น พยาบาล อำเภอ หรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือแม้แต่เพื่อนที่เข้าอกเข้าใจกัน ให้หายอึดอัด ท่านจะต้องเชื่อว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดเลยในการที่ใครเกิดล้มป่วยเป็นอัมพาต และไม่ต้องรู้สึกละอายใจในการที่คุณไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ หลังการเจ็บป่วยของอีกฝ่ายหนึ่ง
ความรู้สึกปกติอีกประการหนึ่งคือ รู้สึกเป็นทุกข์เสียจนกลายเป็นคนสิ้นหวัง อาจรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ แม้แต่กิจประจำวันที่เคยทำอยู่ บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หรือบางคนเซื่องซึม ซึมเศร้า ผิดหวัง
คนส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในสถานการณ์กดดัน จะเกิดความรู้สึกว่าหมดหนทาง อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเช่นนี้ครอบงำ เคยมีปรากฏบ่อย ๆ ที่บางครั้งเรารู้สึกว่าเหตุการณ์จะแย่ไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว แต่มันก็ยังเลวลงไปอีกจนได้ แต่ก็มีบางครั้งที่ท่านนึกว่าไม่มีอะไรจะดีขึ้น แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็กลับดีขึ้นได้ จงพยายามทำตนเป็นคนที่อยู่อย่างมีความหวังในชีวิต และอย่าหมกมุ่นจนลืมให้เวลาตัวเองบ้าง ถ้าตัวท่านเองดูดี ใจของท่านจะรู้สึกดีขึ้นด้วย ดังนั้นจงให้ความสนใจกับการแต่งเนื้อแต่งตัว และพยายามเพิ่มขวัญ และกำลังใจให้ตัวเองโดยการทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เช่น ทำขนมอร่อย ๆ สักอย่าง (สำหรับสุภาพสตรี) หรือซ่อมเครื่องตัดหญ้าที่ชำรุดให้ใช้ได้ดี (สำหรับสุภาพบุรุษ) สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่าน ต่อสู้กับความรู้สึกเหนื่อยหน่ายสิ้นหวังได้ แต่ถ้าพยายามแล้ว ยังมีความรู้สึกเหนื่อยล้ามาก และอาการเซื่องซึมไม่หายไป ก็จงไปหาแพทย์ แต่ควรระวังที่จะไม่รับประทานยาใด ๆ มากเกินไป นอกจากยาที่แพทย์สั่ง
และถ้ารู้สึกตัวว่าสูบบุหรี่หรือดื่มสุราจัดขึ้นก็จงหาวิธีที่จะลด เพราะการสูบบุหรี่หรือการดื่มสุราจัดนั้นไม่ได้ช่วยลดความรู้สึกเป็นทุกข์ และไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ท่านรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เรื่องที่สำคัญเหนือเรื่องใด ๆ คือการระวังรักษาสุขภาพของท่านเองให้ดี และต้องไม่ปล่อยให้ป่วยเจ็บลงไปเหมือนกับผู้ที่ท่านดูแลอยู่
โรคอัมพาตไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะผู้ป่วยอัมพาต แต่เป็นปัญหาของทั้งครอบครัว แต่ละครอบครัวต่างก็มีวิธีของตนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิธีเดียวกัน คนเราต่างก็ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป อย่าตื่นกลัว อย่าท้อถอย อย่าซึมเศร้า
ขอให้จำไว้ว่าหากท่านสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อรับสถานการณ์เหล่านี้ได้ โดยที่ยังมีเวลาสำเหลือหรับดูแลตนเองได้ดีเพียงใด ก็จะส่งผลดีกับผู้ป่วยอัมพาต และตัวท่านเอง ท่านจะเป็นหลักให้ผู้ป่วยพึ่งพิงได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อตัวท่านเอง เป็นปกติสุขและกลมกลืนกับโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
นายแพทย์สุรพงษ์ อำพันวงษ์
main |