ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม |
ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาคนดัง สำนักเก่าเจ้าเดิมชำแหละพฤติกรรม ผู้โดยสารท้ายรถเมล์ สาย 134 คันที่พา ด.ญ.อ้อย และ น.ส.กุ้ง เหยื่อช่างกลหื่นกาม ไปลงนรกทั้งเป็น
"คนยุคนี้ต่างคนต่างไม่สนใจกัน ทำให้สังคมขาดความเอื้ออาทร ความจริงถ้าคนอยู่บน รถเมล์คันนั้น เปลี่ยนระบบความคิดใหม่ จากตัวใครตัวมันมาใช้สติว่า ต้องช่วยเหลือ เกื้อกูลเหยื่อเท่าที่ทำได้ สถานการณ์คงดีกว่านี้"
กับคำถามที่ว่า ถ้าไม่อยากให้ลูกสาวหรือน้องสาวคุณ เจอสภาพเช่นนี้ ต้องทำอย่างไร
อ.วัลลภให้มุมมองว่า "ถ้ามองในแง่การสอนลูกหลานผู้หญิงในบ้านเราที่ผ่านมา ผมว่าเราสอนกันไม่ค่อยถูกเท่าไร เช่น สอนว่าอย่าคุยกับคนแปลกหน้า อย่ากลับบ้านดึก ถึงแม้จะสอนด้วยความห่วงใย แต่เราไม่ควรสั่งสอนแบบนี้ เพราะในทางจิตวิทยา แปลกมาก กลับตรงกันข้าม ถือว่าการที่คนเรายิ่งสั่งสอนให้กลัว ยิ่งกลัว ยิ่งหวาดระแวง ยิ่งถูกข่มง่าย ทำให้ไอ้พวกโรคจิตได้ใจ"
"ที่ถูกควรสอนว่า เป็นลูกผู้หญิงไปไหนไปได้ แต่ควรไปกับเพื่อน ถ้าหลีกเลี่ยงคนชั่ว หรือเหตุการณ์เลวร้ายได้ ควรเลี่ยง แต่อย่ากลัวที่จะมอง หรือพูดกับคนแปลกหน้า เมื่อเจอเหตุการณ์เลวร้ายต้องใช้หลักการเผชิญหน้า เผชิญความจริง ถ้าสอนแบบนี้ ลูกหลานจะเกิดความรู้สึกเชื่อมั่น กล้าเผชิญปัญหาด้วยสติอารมณ์ ไม่ตื่นตระหนก การกล้าพูดดีๆหรือใช้น้ำเย็นเข้าลูบ นอกจากช่วยประวิงเวลา ทำให้พวกนี้เกรงใจ ยังช่วยให้ตัวเองมองเห็นทางรอดมากขึ้น"
ดร.วัลลภอธิบายว่า จากสถิติผู้หญิงถูกข่มขืนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาพบว่า เหยื่อมักแสดงปฏิกิริยากลัว ยิ่งกลัว ยิ่งไม่กล้าพูด ยิ่งทำให้พวกนี้ได้ใจ จะรอดพ้นจากพวกบ้ากาม บ้าอำนาจ หรือชอบใช้ความรุนแรงได้ ต้องใช้วิธีเจรจาดีๆ ขณะที่สังคมรอบข้างต้องช่วยเป็นธุระ จึงจะช่วยลดอุณหภูมิเลวร้ายของสถานการณ์
ดร.วัลลภให้คำชี้แนะถึงเพื่อนและครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อว่า สิ่งที่ต้องทำคือทำตัวให้เป็นปรกติทุกอย่าง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่าเข้าไปปลอบโยนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะยิ่งปลอบก็ยิ่งตอกย้ำแผลใจให้ลึก แต่ควรช่วยเปลี่ยนบรรยากาศไม่ให้เขาหวนนึกถึงสภาพเดิมๆ ที่ผ่านมา จากนั้นให้รีบลบแผลใจด้วยการพาไปหาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาบำบัดมืออาชีพ ผู้บำบัดจะลบล้างด้วยการให้ระบายออกมา เอาภาพไม่ดีออก เอาภาพใหม่ที่ดี ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า มีความหวัง ใส่เข้าไปแทน
อาจารย์วัลลภฝากแถมท้าย ที่สำคัญตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ไม่ควรใช้วิธี สอบสวนแบบเค้นรายละเอียดหาความจริง ดูอย่างตำรวจออสเตรเลีย เมื่อเกิดกรณีข่มขืน เขาจะไม่ถามรายละเอียด หรือย้ำหลักฐานมาก เพราะยิ่งเร่งให้เหยื่อไปฆ่าตัวตายเร็วขึ้น
ประเด็นเดียวกัน ปราโมทย์ เมษะมาน ผู้อำนวยการโรงเรียนศิลปะป้องกันตัว ปราโมทย์ยิม ให้ทรรศนะว่า "เท่าที่มีประสบการณ์ ถ้ายังไม่เก่ง ไม่มีวิธีต่อสู้ป้องกันตัววิธีไหน ได้ผล 100% อย่างไรก็ตาม วิธีที่เหมาะที่สุด สำหรับผู้หญิง จะใช้ป้องกันตัว ควรเป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้กำลัง แต่เน้นหลบหลีก ปัดป้อง หาทางเล่นงานจุดอ่อนของผู้รุกราน"
ปราโมทย์บอกว่า ปรกติมนุษย์ทุกคนจะมีสัญชาตญาณในการป้องกันตัวโดยกำเนิด แต่ก็ไม่พ้นต้องเรียนรู้บ้าง น่าเสียดาย ที่สิ่งเหล่านี้ มิได้มีสอนในหลักสูตร ของกระทรวงศึกษาธิการ
"เท่าที่รู้ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ บางโรงเรียนมีสอนวิชากระบี่กระบอง นับว่าเป็นสิ่งดี แต่จุดอ่อนของวิชานี้อยู่ที่เอาครูพละมาสอน เปิดตำราสอนงูๆปลาๆ สอนกันตามแบบฉบับ มุ่งแต่ท่ารำสวยๆ ให้เด็กตีเล่นไปเรื่อยๆ ไม่สามารถเอาไปใช้ได้ ในชีวิตจริง จะโทษครูพละก็ไม่ถูก เพราะไม่มีผู้ชำนาญการด้านนี้ไปถ่ายทอดให้ แล้วครูจะถ่ายทอดของจริงที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้เด็กได้อย่างไร"
"ตรงกันข้าม ถ้าเด็กได้เรียนรู้ศิลปะป้องกันตัวมาบ้าง จะรู้ว่าอาวุธในตัวหรือรอบตัวเรา มีให้เลือกใช้มากมาย หากมีความคล่องตัวและรู้จักนำมาใช้ให้เป็น ไม่ว่าเล็บมือ ปากกาลูกลื่น หรือหนังสือม้วนให้แข็ง เป็นอาวุธทั้งนั้น"
อ.ปราโมทย์ปรับให้เข้ากับตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นว่า กรณีเด็กสาวสองคน ที่ตกเป็นเหยื่อ นักเรียนช่างกลหื่นกามบนรถเมล์ ถ้าเคยฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวเบื้องต้นมาบ้างจะรู้ว่า เมื่อถูกมีดหรือปืนจี้ มีวิธีป้องกันตัวที่ได้ผลให้เลือกใช้หลายวิธี เช่น พูดจาให้ฝ่ายตรงข้าม เกิดความชะล่าใจ จากนั้นปัดพับ หรือหมุนกลับหลังครึ่งวงกลม โดดออกข้างๆ ใช้มือทิ่มลูกตา ปากกาทิ่มจุดอ่อน หรือหนังสือม้วนฟาด เท่านี้ก็สามารถเอาตัวรอด จากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ไม่เคยฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวมาก่อน อ.ปราโมทย์แนะว่า ควรใช้วิธียกมือไหว้ อ้อนวอน ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ คุยกับเขาดีๆ มีโอกาสให้รีบวิ่งหนีจะ ได้ผลกว่า เพราะแม้แต่นักยูโด คาราเต้ หรือเทควันโดสายดำบางคน ที่ไม่ใช้วิธีหลบหลีก ปัดป้อง จ้องจะทุ่มลูกเดียว ยังถูกแทงตายมาแล้วหลายคน
ขณะที่ อุษา เลิศศรีสันทัด เจ้าหน้าที่ประสานงานมูลนิธิผู้หญิง มีมุมมองว่า
"อยากให้คนในสังคมตื่นตัว ไม่ควรมองว่าผู้หญิงที่ไปกับผู้ชายเป็นเด็กไม่ดี หรือสมยอมตลอด มีตัวอย่างมากมายที่จู่ๆ คนร้ายเข้ามาทำร้าย หรือฉุดกระชากผู้หญิง ซึ่งไม่รู้จักมาก่อน แล้วตะโกนใส่หน้าคนอื่นว่า เรื่องส่วนตัว ระหว่างแฟน หรือผัวเมีย คนอื่นอย่ายุ่ง เหตุการณ์เช่นนี้ ต่อให้เกี่ยวข้องกันจริง หากผู้หญิงถูกทำร้าย ผู้ที่พบเห็นก็ไม่ควรนิ่งดูดาย"
อุษาให้ทรรศนะว่า ที่ผ่านมาลูกผู้หญิงถูกสอนมามากว่า ไม่ควรแต่งตัวยั่ว ไปคนเดียวในที่เปลี่ยว หรือกลับบ้านดึก แต่จากบทเรียนเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิด แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นเสมอไป ที่ภัยของลูกผู้หญิง จะเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยข้างต้น เพราะแม้แต่กลางวัน และต่อหน้าผู้คนมากมาย ก็ยังเกิดเหตุการณ์นี้ได้
"จะหวังสูตรสำเร็จให้ลูกผู้หญิงทุกคนใช้ป้องกันตัวคงหวังยาก มีแต่ต้องใช้สติให้มาก ควบคุมอารมณ์ให้ได้ และต้องกลับภาพไปมองที่ฝ่ายชาย หรือสังคมทุกวันนี้มากกว่าว่า ควรช่วยกันยุติความรุนแรง แทนที่จะมองว่าเป็นภาระของลูกผู้หญิงแต่ละคน ที่ต้องหาทางป้องกันตัว เพราะถ้ามองอย่างนั้น บอกได้เลยไม่มีหวัง"
บุญทรง คลอสเนอร์-เนเทิน หัวอกคนเป็นแม่ลูกสาววัย 12 บอกว่า
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องประณามผู้โดยสารที่เห็นเหตุการณ์ แต่แล้งน้ำใจด้วย อยากบอกว่า พวกนี้เหมือนพวกโรคจิต ชอบดูหนังสด อย่างน้อยทำอะไรไม่ได้ เข้าไปพูดคุย หรือขอร้องก็ยังดี แต่ไม่น่าเชื่อว่า ทุกคนกลับยืนดูเด็กผู้หญิงถูกทำร้าย ด้วยความสะใจ"
บุญทรงบอกว่า สำหรับเหยื่อความรุนแรงครั้งนี้ควรตระหนักว่า ชีวิตเราสำคัญกว่า สิ่งอื่นใด อย่าไปยึดติดกับพรหมจารี ขณะเดียวกันผู้กระทำผิดกำลังได้ชดใช้กรรม ด้วยการถูกสังคมและกฎหมายพิพากษาขั้นรุนแรง
ก่อนจบเรื่องนี้ อยากวิงวอนแถมท้ายไปยังผู้ปรารถนาดีทั้งหลายว่า ไม่ควรเอาเหยื่อความรุนแรงครั้งนี้ ไปออกทีวีเป็นอุทาหรณ์เหมือนที่ผ่านมา เพราะการกระทำดังกล่าวนอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ยังเหมือนเอาผู้บอบช้ำ ไปถูกรุมโทรมซ้ำสอง.
สกู๊ปหน้า 1 ไทยรัฐ
main |