อมรากุล อินโอชานนท
คำพูดมีอิทธิพลต่อคนเราอย่างมาก สามารถสร้างมิตรก็ได้ สร้างศัตรูก็ได้ หรือพูดแล้วทำให้คนฟัง รู้สึกดีมีความหวัง หรือรู้สึกเจ็บปวดก็ได้อีกเช่นกัน บางครั้งอาจเจ็บลึกกว่าด้วยซ้ำ เพราะเจ็บที่ใจย่อมลืมเลือนได้ยาก และในความเป็นจริงแผลใจก็มักจะหายช้ากว่าแผลกาย กว่าจะทำใจหรือลบเลือนออกไปได้ บางคนอาจให้เวลายาวนาน
ดังนั้น จะพูดจาอะไรก็ควรระมัดระวัง โดยเฉพาะกับคนที่อ่อนไหว มีจิตใจเปราะบาง คำพูดของคุณมีโอกาสที่จะทำร้ายความรู้สึกของเขาได้มากจนคุณอาจจะนึกไม่ถึงทีเดียวค่ะ
อย่างคนที่มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว จิตใจของเขาจะหวั่นไหวง่าย คำพูดที่ไม่ควรพูด กับคนเหล่านี้อย่างเด็ดขาด คือ คำพูดในเชิงเย้ยหยันทำนองว่า "ไหนเก่งจริงก็ต้องทำ (ฆ่าตัวตาย) ให้สำเร็จสิ" ซึ่งเท่ากับเป็นการยั่วยุให้อีกฝ่ายลงมือฆ่าตัวตายซ้ำ
กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อมีคนพูดออกมาอย่างไม่คิดว่า "ที่เคยฆ่าตัวตายไม่เห็นจะตายจริงเลย" อีกฝ่ายก็โต้กลับทันควันว่า "เดี๋ยวจะทำให้ดู" จากนั้นก็ขึ้นไปนั่งห้อยขาอยู่บนระเบียงตึกสูง ๆ เป็นที่น่าหวาดเสียวของผู้พบเห็น โชคดีที่มีคนช่วยเกลี้ยกล่อมให้เลิกล้มความคิดที่จะกระโดลงมาก ไม่อย่างนั้นก็คงกลายเป็นโศกนาฏกรรมอีกราย
วาจาที่เป็นยาพิษอีกแบบหนึ่ง คือ การพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ เช่น แม่ที่พูดกับลูกด้วยอารมณ์โกรธว่า "อยู่ลำบากนักก็ไปตายเสีย" หรือ "อยู่ไปก็รังแต่จะทำให้ คนอื่นเดือดเนื้อร้อนใจ"
กรณีดังกล่าวมีจริง ๆ ค่ะ มีเด็กคนหนึ่งกินยาเพื่อฆ่าตัวตาย หลังจากช่วยชีวิตไว้ได้แล้ว จิตแพทย์ได้เข้ามาพูดคุย และพบว่า ทุกครั้งที่แม่ของเด็กคนนั้นโกรธขึ้นมา แม่ก็จะพูดประชดให้ลูกไปกินยาตายเสีย และปรากฏว่าลูกก็ทำจริง ๆ
เป็นเรื่องน่าเศร้านะคะ ถ้าพลั้งเผลอพูดอะไรออกไปโดยไม่ยั้งคิด แล้วทำให้อีกฝ่ายถึงกับคิดสั้น เพราะตัวผู้พูดเองก็คงหนีไม่พ้นความรู้สึกผิดที่จะติดฝังอยู่ในในนานเท่านาน ดีไม่ดี อาจทำให้สุขภาพจิตเสียไปอีก
ดังนั้นต่อจากนี้ไป ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันระมัดระวังคำพูดให้มาก ๆ โดยเฉพาะวาจาทั้งสองแบบข้างต้นค่ะ ซึ่งจัดเป็นคำพูดอันตรายที่สามารถผลักดันให้คนลงมือฆ่าตัวตายได้
และเมื่อใดก็ตาม ที่มีการพยายามฆ่าตัวตายเกิดขึ้น โปรดอย่ามองว่าเขาทำ เพื่อเรียกร้องความสนใจเลยค่ะ เพราะการที่ใครสักคนพยายามทำร้ายตัวเอง นั่นหมายถึง เขาส่งสัญญาณร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากในขณะนั้น เขากำลังมีความทุกข์ใจแสนสาหัส จนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เขากำลังอยู่ในความสับสนระหว่างความรู้สึกอยากตายและอยากที่จะมีชีวิตอยู่ เสมือนกับคนที่ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ถ้ามีใครสามารถช่วยทำให้เขามีความหวังเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ เขาก็พร้อมจะเลือกการมีชีวิตอยู่ต่อไปค่ะ
อมรากุล อินโอชานนท์
กรมสุขภาพจิต
main |