นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ข่าวการฆ่าตัวตายวัยรุ่นสองรายในช่วงนี้น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากกว่า ที่เป็นอยู่ แม้ว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล แต่เราไม่อาจอธิบาย สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใกล้เคียงได้เลยถ้าเราละเลยคำอธิบายทางสังคม องค์ความรู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายพัฒนาไปมากในทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่ามี "ปัจจัยพื้นฐาน" หลายตัวที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเชื้อเพลิงแห่งการฆ่าตัวตาย ปัจจัยเหล่านั้น คือ
ข้อแรก โรคอารมณ์เศร้า
หมายถึงภาวะซึมเศร้าที่มีการเปลี่ยนแปลงของสมดุลเคมีในระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดเป็นโรคขึ้น ไม่ใช่ภาวะซึมเศร้าชั่วครั้งคราวอย่างที่หลายคนเข้าใจ
วัยรุ่นที่ได้รับความเครียดอย่างฉับพลันมากพอหรือเรื้อรังมานานพอที่จะทำลายสมดุลนี้ ย่อมเกิดเป็นโรคและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในที่สุดถ้าไม่รักษา
การวินิจฉัยโรคนี้ในวัยรุ่นยังไม่ใช่เรื่องง่ายน่าจะมีแต่กุมารจิตแพทย์เท่านั้นที่สามารถ วินิจฉัยได้แม่นยำและไม่ overdiagnosis
ข้อสอง การใช้สารเสพติด
ทำให้วัยรุ่นขาดความยับยั้งชั่งใจและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ง่ายขึ้น ยังไม่นับวัยรุ่นที่ใช้ยาบางคนมีโรคทางจิตเวชบางอย่างซ่อนอยู่ก่อนแล้ว การค้นหาปัจจัยข้อนี้ไม่ยากนัก คุณพ่อคุณแม่น่าจะทำได้
ปัจจัยที่สาม ความก้าวร้าวและหุนหันพลันแล่น
ปัจจัยข้อนี้ยากตั้งแต่คำนิยาม อย่างไรจึงเรียกว่าก้าวร้าว อย่างไรจึงเรียกว่าหุนหันพลันแล่น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและนิยาม อย่างไรก็ตามปัจจัยข้อนี้ป้องกันได้คือ
เลี้ยงดูเด็กให้รู้จักขอบเขตและวินัยตั้งแต่เล็ก ด้วยวิธีการให้รางวัลพฤติกรรมที่ดีและเพิกเฉยพฤติกรรมที่ไม่ดี ใช้วิธีกำจัดสิทธิหรือตัดสิทธิเมื่อต้องการทำโทษ เช่น จัดการให้เด็กเล็กที่อาละวาด ไปอยู่คนเดียวในห้องจนกว่าจะสงบอารมณ์ได้ หรือตัดค่าขนมบางส่วนเมื่อเด็กทำร้ายร่างกายผู้อื่น
เด็กที่รู้ขอบเขตของตัวเองย่อมดูแลความก้าวร้าวของตนเองได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงเด็กด้วยวินัยที่ชัดเจนโดยส่ม่ำเสมอ อาจจะผ่อนปรนได้บ้างตามโอกาส แต่ไม่ใช่เลี้ยงลูกตามอารมณ์ประจำวันของตน เช่น วันธรรมดาเลี้ยงอย่าง วันถูกหวย เลี้ยงอีกอย่าง วันหวยถูกกินเกลี้ยงเลี้ยงอีกอย่าง วันเงินเดือนออกเลี้ยงอีกอย่าง เป็นต้น
การเลี้ยงลูกที่ไม่สม่ำเสมออาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นในอนาคตได้
ทั้งสองพฤติกรรมนี้ป้องกันได้เมื่อเริ่มแต่เด็กเล็ก จะเริ่มแต่เด็กได้คุณพ่อคุณแม่ ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง จุดอ่อนของพวกเราคือ ยามที่วัยรุ่นยังเด็กเขาต้องการคุณพ่อคุณแม่มาก(แต่ทุกคนก็กลับออกไปทำงาน)
ยามเมื่อเขาโตแล้ว เป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่มีฐานะมั่นคง แต่ถึงเวลานั้น วัยรุ่นเขาก็ไม่ต้องการคุณพ่อคุณแม่อีกแล้ว
ปัจจัยที่สี่ ประวัติครอบครัวของโรคอารมณ์เศร้า หรือการฆ่าตัวตาย
ปัจจัยข้อนี้คุณพ่อคุณแม่สืบหาเองได้ ถ้ามีประวัติดั่งว่าในครอบครัวของตนก็ให้ระมัดระวัง มากขึ้น เพราะพฤติกรรมฆ่าตัวตายในบางคนนนั้นเป็นเรื่องทางชีววิทยาและพันธุกรรม
ยกตัวอย่างการฆ่าตัวตายในตระกูลเฮมิงเวย์ ซึ่งนอกจากเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ยิงตัวตาย แล้วคุณปู่ น้องสาม น้องหก และหลานของเขาล้วนฆ่าตัวตายทั้งสิ้น
ปัจจัยที่ห้า ประวัติถูกทำทารุณกรรมหรือถูกล่วงเกินทางเพศ
ข้อนี้เป็นงานของทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันสอดส่องและดูแล เด็กที่ประสบเหตุการณ์ เหล่านี้ เมื่อโตขึ้นไม่กระทำกับผู้อื่นต่อ ก็มักจะลงเอยด้วยอารมณ์เศร้าและทำร้ายตนเอง
องค์ความรู้เรื่องปัจจัยพื้นฐานทั้งห้าข้อนี้น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องคืนความแข็งแรงให้สถาบันครอบครัว
ผู้เขียนมีความเห็นว่าข้อดีข้อหนึ่งของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ อยู่บ้านมากขึ้น
นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงแล้ว เราควรรู้จัก "ปัจจัยกระตุ้น" ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดระเบิดการฆ่าตัวตายอีกด้วย
งานวิจัยในอเมริกาบอกว่า ปัจจัยกระตุ้นของเขาคือการมีอาวุธปืนในครอบครอง ความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นต้น
แต่เราไม่รู้เลยว่าของไทยมีอะไรบ้าง เพราะไม่มีการวิจัย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัจจัยกระตุ้นข้อหนึ่งในสังคมในสังคมไทยน่าจะเป็นภาวะที่พวกเรา (รวมทั้งวัยรุ่น) มีความเป็นปัจเจกบุคคลน้อยเกินไป เรายกความเป็นบุคคลของเรา ให้กับรัฐไปนานมากแล้ว
ความเป็นตัวของตัวเองของคนไทยค่อนข้างน้อย พวกเราไม่มีอำนาจ หรือเจตคติ หรือความสามารถที่จะช่วยตนเองหรือแก้ไขเรื่องหลายเรื่อง
เราแก้ไขเรื่องขยะไม่ได้เพราะเรารอรัฐช่วย
เราแก้ไขเรื่องน้ำท่วมไม่ได้เพราะเรารอรัฐช่วย
เราแก้ไขเรื่องควันพิษที่รมนักเรียนไม่ได้เพราะเรารอรัฐช่วย
เราแก้ปัญหาที่จอดรถไม่ได้เพราะเรารอรัฐช่วย
ยังมีอีกเรื่องที่เราทำไม่ได้เพราะเรายกชีวิตของเราให้รัฐไปแล้ว
นักสังคมวิทยา Durkheim เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1897 ว่าสังคมแบบนี้ ชวนฆ่าตัวตายอย่างยิ่ง
ปัจจัยกระตุ้นข้อที่สองน่าจะเป็นการศึกษาแบบแพ้คัดออก
วัยรุ่นโตมากับสภาพสังคมที่ให้ความเป็นปัจเจกกับเขาน้อยมากยังไม่พอ เขายังต้องพบกับนักศึกษาที่แพ้ไม่ได้มาตลอดชีวิตอีก
ชนะได้ที่นั่งต่อ แพ้ไปไหน ? เขามีอำนาจเจตคติ หรือความสามารถที่จะดูแลตนเอง ยามเขาแพ้ในสนามสอบได้จริง ๆ หรือ ?
เราคิดว่าเขาหาทางออกได้เองจริง ๆ หรือ ?
เขาถูกโปรแกรมมาตลอดว่า "แพ้คัดออก" เมื่อรวมกับปัจจัยพื้นฐานข้างต้น ย่อมมีวันหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่แพ้คัดออก แต่เป็นแพ้คัดลงหลุมเลยทีเดียว
คุณพ่อคุณแม่ควรจะระลึกได้เสียที่ว่าพวกเราไม่ควรปล่อยการศึกษาแบบแพ้คัดออกนี้ ให้ลอยนวลต่อไปอีก ไม่ลูกใครก็ลูกใครจะตกเป็นหยื่อของระบบอีก
องค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นนี้น่าจะทำให้นักศึกษาตระหนักว่าระบบการศึกษา ในปัจจุบัน เป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
สื่อมวลชนเสนอข่าวฆ่าตัวตายจะเหนี่ยวนำ ให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบหรือไม่
เรื่องนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่มีรายงานสำคัญสองชิ้นที่สนับสนุนคำกล่าวข้างต้น
ชิ้นหนึ่ง วารสาร American Sociologic Review ปี 1994 รายงานจำนวน ผู้ฆ่าตัวตาย ในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น หลังจากการพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ของหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ระหว่างปี 1948-1967
จากรายงานข่าวทั้งหมด 35 ข่าว ทำให้มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายทั่วประเทศสูงกว่าปกติรวม 1298คน
รายที่เหนี่ยวนำคนตายได้มากที่สุดคือ มาริลิน มอนโร ตาย 6 สิงหาคม 1962 ทำให้จำนวนผู้ฆ่าตัวตายในเดือนกันยายน สูงกว่าที่ควรจะเป็น 197 คน
อีกชิ้นหนึ่ง จากหนังสือ Suicide and Its Prevention ปี 1998 จากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นกว่าปกติ ในระยะสองสัปดา หลังจากโทรทัศน์ แพร่ภาพยนต์ที่มีฉากการฆ่าตัวตายจำนวน 4 เรื่อง
อย่าลืมว่ารายงานทั้งสองชิ้นเป็น "ปรากฏการณ์" ไม่ใช่ข้อสรุป และมีผู้คัดค้านหรือเห็นแย้ง จำนวนพอสมควร ว่าตัวเลขที่สูงขึ้นยังมีทางเกิดจากเหตุอื่น ๆ อีกมาก
ในกรณีนี้ ถ้าชั่งน้ำหนักระหว่างผลเสียของการปิดกั้นข่าวกับผลเสียของเนื้อข่าว การปิดกั้นข่าวน่าจะเป็นผลเสียมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่ชินกับการถูกปิดหูปิดตาและพลอยปิดสติปัญญาไปด้วยนี้ สมควรทำความคุ้นเคยกับเสรีภาพของการเสนอข่าวให้มาก ๆ
พวกเราพบข่าวไม่เข้าท่าแล้วค่อยรุมประณามผู้เสนอข่าวดีกว่าเปิดโอกาสให้มีการ เซ็นเซอร์ข่าว โดยเจตนา วิธีนี้สติปัญญาไม่สูญหายไปไหน
ข่าวการฆ่าตัวตายครั้งนี้จึงน่าจะได้รับการเปิดเผย วิเคราะห์วิจารณ์ โดยไม่ละเมิดครอบครัวผู้เสียชีวิต
หาหนทางที่จะคืนความแข็งแรงให้สถาบันครอบครัว เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษาเพราะเป็นปัจจัยกระตุ้นโดยเร็ว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
main |