มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2541 ]

คนฆ่าตัวตายไม่สบายอย่างที่คิด

พริฐ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์


การได้เกิดมาเป็นคน นับเป็นบุญอันใหญ่หลวง ใครที่คิดสั้นฆ่าตัวตาย จึงไม่ใช่ทางออก ในการแก้ไขปัญหา ทุกชีวิตล้วนมีค่าเมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป เรามาพูดคุยกับ น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมีทางออกและวิธีช่วยเหลือคนกำลังคิดสั้นได้อย่างไร

ปัญหาการฆ่าตัวตาย ทำไมจึงเพิ่มสูงขึ้นมากในปัจจุบัน
เดิมประเทศไทยมีปัญหาการฆ่าตัวตายไม่สูงมากนัก คือ มีอัตราการฆ่าตัวตาย ปีละประมาณ 6 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ในระยะหลังอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ก็คือ เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้มีคนตกงาน หากยังหางานทำไม่ได้ หรือมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวก็จะมี "ความเครียดสะสมเรื้อรัง" และหากยังแก้ปัญหาไม่ตกก็จะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า "ระยะสิ้นหวัง" ซึ่งอาจเกิดภาวะทางจิตใจที่เรียกว่า "โรคซึมเศร้า" คนที่มีความคิดจะ ฆ่าตัวตาย นั้นเป็นอาการหนึ่งของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้อีกอาการหนึ่งของคนที่เป็นโรคนี้ก็มักจะมองโลกในแง่ร้าย ชอบตำหนิตัวเอง และคิดว่าการฆ่าตัวตาย เป็นทางออก โดยมองเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เช่น สอบได้คะแนนไม่ดีก็คิดว่าเป็นความผิดใหญ่หลวง ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลัวเรียนไม่จบ บางคนหางานทำไม่ได้เลยคิดว่า ทำให้ครอบครัวลำบาก หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสียชื่อเสียง

อาจจะกล่าวได้ว่า คนที่คิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 80 มีปัญหาทางด้านจิตใจ และส่วนใหญ่เป็นโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้านี้มีสาเหตุหลายประการ เช่น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสาเหตุสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ ภาวะสิ้นหวัง เนื่องจากการเผชิญความเครียด ความกดดัน หรือปัญหาที่แก้ไม่ตก สะสมอย่างเรื้อรัง เช่น แก้ไขปัญหาการเรียนไม่ตก แก้ปัญหาครอบครัวไม่ตก แก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจไม่ตก คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ในการศึกษาของกรมสุขภาพจิตได้มีการศึกษาอุบัติการเหล่านี้ในคนไทย ก็พบว่าความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ของคนมีเพิ่มขึ้นอย่างที่เราเรียกว่าชัดเจน ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ในระยะปกติจะมีความคิดฆ่าตัวตายอยู่ในประชากรประมาณ 4% เศษ ๆ แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 8-9% และเวลาไปสำรวจเจาะเฉพาะ กลุ่มคนที่ตกงานก็พบว่า คนกลุ่มนี้มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เพิ่มเป็นอีกหนึ่งเท่าตัว จากคนปกติ คือประมาณ 18% สรุปภาพปัจจุบันได้ว่า คนเครียดมากขึ้น และผลจากความเครียดทำให้คนมีความคิดฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว เมื่อเทียบกับภาวะปกติ และถ้าดูเฉพาะกลุ่มคนที่ตกงานก็จะเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว

"ผมอยากจะเน้นว่า การตกงาน หรือการมีหนี้สิ้น หรือการสอบตก หรือการมีปัญหากับคนรัก อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่สาเหตุของการฆ่าตัวตาย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่เป็นเพราะคนเหล่านี้มีสภาวะทางจิตใจที่เผชิญกับ ความเครียดมานานทำให้สภาพจิตใจแย่ ถ้าเรามีเพื่อนสนิทจะรู้ดีว่าเพื่อนที่สอบไม่ดี หรือมีหนี้สิน ไม่ได้คิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้น การที่เราไปบอกว่าคนฆ่าตัวตาย เพราะสาเหตุนั้นสาเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง"

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะรู้ตัวเองได้อย่างไร
ทุกคนมีโอกาสมีอาการซึมเศร้าได้มาก เพราะว่าการที่เผชิญกับปัญหาเรื้อรัง แก้ปัญหาไม่ตก รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานที่เราไม่รู้จักมาก่อน แม้กระทั้งนายกรัฐมนตรี ของประเทศนอรเวยังลาพักร้อน 3 อาทิตย์ เพื่อไปรักษาโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ ผมอยากจะเน้นว่า ใครที่คิดว่าตัวเองท้อแท้ ก็ควรรีบ ไปขอรับคำปรึกษา อย่านิ่งดูดาย ปล่อยให้อารมณ์เศร้ากัดกร่อน ไปจนกระทั่งรู้สึกว่า ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ การที่คนเราจะเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ

คนที่คิดฆ่าตัวตายมีข้อสังเกต และวิธีป้องกันได้อย่างไร
มีจุดที่สังเกตอยู่ 2 ประการ
ประการแรก คนที่คิดฆ่าตัวตาย จะมีอาการของโรคซึมเศร้าซึ่งแบ่งได้ 4 อาการ

  1. มีอารมณ์เศร้าท้อแท้ต่อเนื่องกันเกิน 2 อาทิตย์
  2. มีอาการทางร่างกายกินไม่ได้นอนไม่หลับ
  3. จะมีอาการมองโลกในแง่ร้าย
  4. จะเข้าสังคมน้อยและเก็บตัวมากขึ้น

ถ้าพบเห็นว่าบุคคลใดมีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 2 อาการ ได้ ง่ายก็อย่าชะล่าใจ และระวังว่าคนใกล้ชิดเรานั้นอาจมีปัญหา ควรให้กำลังใจ แนะนำ หรือพาไป ขอรับคำปรึกษาจากผู้ที่มีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ

ส่วนประการที่สอง คนที่ตัดสินฆ่าตัวตายโดยมากจะอยู่ในภาวะลังเลใจ และมักจะส่งสัญญาณเตือน เช่น บ่นว่า "ต่อไปนี้จะไม่เห็นหน้ากันอีกแล้ว" "ปัญหามากอย่างนี้ถ้าตายไปคงพ้นทุกข์" ประโยคเหล่านี้เรียกว่าเป็นการสั่งเสีย ถ้าคนรอบข้างได้ยินต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ทั้งนี้ญาติพี่น้องของคนที่ฆ่าตัวตาย ยอมรับว่า คนที่ฆ่าตัวตาย จะมีการสั่งเสีย แต่ปัญหาใหญ่ คือ ญาติพี่น้องมักจะคิดว่า คงไม่ทำจริง เลยทำให้ไม่ได้ช่วยเหลืออย่างจริงจัง

รูปแบบการฆ่าตัวตาย ที่พบมากในประเทศไทยมีอะไรบ้าง
การฆ่าตัวตาย ในเมืองไทยมีการใช้วิธีที่เหมือนกับในต่างประเทศทั่วโลก คือ มีทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธ การกระโดดจากที่สูง การผูกคอ การกินยาพิษ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีพื้นฐาน ปัญหาใหญ่ก็คือ ต้องเน้นเป็นข่าวอยู่เสมอว่าการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่การแก้ปัญหา คนที่เสียชีวิตไปแล้วยังทำให้ญาติพี่น้องต้องเจ็บปวด หนี้สินหรือปัญหาที่ทิ้งไว้ก็เป็นภาระของคนที่อยู่ข้างหลัง เรียกว่าปัญหาที่เขาแก้ไม่ตกก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี เพราะฉะนั้นควรแก้ไขที่ต้นเหตุดีกว่า คือ เข้ารับการรักษาหากเป็นโรคซึมเศร้า

สภาพปัญหาในปัจจุบันทำให้คนคิดฆ่าตัวตาย มากขึ้น กรมสุขภาพจิตมีวิธีแก้ปัญหาในเชิงรุกอย่างไร

ขณะนี้ที่เราเน้นมากที่สุด คือ
1. มุ่งเน้นให้คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวทั้งหลายตระหนักถึง ปัญหาของ การฆ่าตัวตาย มาจากโรคซึมเศร้า และคอยสังเกตสัญญาณเตือน ของการสั่งเสีย จะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งคนที่ใกล้ชิดคอยช่วยเหลือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด
2. ทางกรมสุขภาพจิตพยายามจะให้มีบริการในการให้คำปรึกษา เข้าถึง เมื่อรู้ตัวเองก็ต้องการการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็น สายด่วนฮอตไลน์ คลินิกคลายเครียด โดยกรมก็พยายามอบรมแพทย์ทั่วไปให้สามารถวินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้ เพื่อที่จะได้ให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพได้
3. ต้องพยายามทำให้ทุกกลุ่มเห็นว่าควรมีส่วนร่วมในการแก้ไข ปัญหาจากชุมชนต่าง ๆ เช่น ครูจะเห็นว่าเด็กนักเรียนคนใดมีอาการของโรคซึมเศร้า หรือพระก็จะเป็นที่พึ่งของประชาชน คนจำนวนมากที่ท้อแท้หมดหวัง ก็มักจะไปคุยกับพระ เมื่อท่านเข้าใจท่านก็จะช่วยทางด้านจิตใจและช่วยแนะนำ ให้ไปปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้กลุ่มหมอดู ทางกรมพยายามที่จะเข้าไปจัดอบรม ให้คนกลุ่มนี้ช่วยเหลือกัน ให้เกิดความตระหนัก และช่วยกันแก้ปัญหา ประเด็นสุดท้ายที่กรมสุขภาพจิตอยากจะทำก็คือ พยายามขจัดปัจจัย ที่เข้าไปซ้ำเติมที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงโดยไม่จำเป็น เช่น การเสนอข่าว เป็นต้น

คิดว่าการเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ของสื่อมวลชน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย มากขึ้นหรือไม่ ?

"การเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตาย มีโอกาสที่จะทำให้เพิ่มและลดการระบาด ของการฆ่าตัวตายได้ ภายหลังการเสนอข่าว โดยขึ้นอยู่กับวิธีการเสนอข่าว ถ้าการเสนอข่าวมีลักษณะ

  1. ลงเป็นข่าวครึกโครม
  2. ให้ภาพและวิธีการฆ่าตัวตาย อย่างละเอียด
  3. ใช้วิธีการเชื่อมโยงสาเหตุการฆ่าตัวตาย อย่างง่าย ๆ
  4. ให้สีสันของการฆ่าตัวตาย และ
  5. การพยายามทำให้เห็นว่าการฆ่าตัวตาย เป็นฮีโร่
ถ้าเสนอข่าวตามลักษณะ 5 ประการ ข้างต้นจะทำให้มีการฆ่าตัว ตาย ในลักษณะคล้าย ๆ กันมากขึ้น แต่ถ้ามีการเสนอข่าวในมุมตรงกันข้าม คือ

  1. เน้นว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้อง
  2. ชี้ให้เห็นว่าการฆ่าตัวตาย มาจากหลายสาเหตุที่มีความซับซ้อน
  3. เสนอข่าวแบบให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่มีอาการของโรคซึมเศร้า ไปขอรับคำปรึกษากับจิตแพทย์ หากเสนอข่าวในลักษณะนี้ก็จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ "

"การเสนอข่าวในลักษณะแรกที่ผมบอกว่า ทำให้การฆ่าตัวตาย เพิ่มมากขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่า ข่าวไปทำให้คนทั่วไปคิดอยาก ฆ่าตัวตาย แต่เราต้องเข้าใจว่าในประชากรจะ มีคนจำนวนหนึ่งประมาณ 10% ที่มีสภาวะทางจิตใจที่ย่ำแย่หรือมีปัญหาอยู่แล้ว คนเหล่านี้ เมื่อได้รับข่าวในทางลบ ก็จะยิ่งโน้มน้าวทำให้คนเหล่านี้คล้อยตาม และตัดสินใจ ฆ่าตัวตาย มากขึ้น บางคนอาจจะกำลังเลือกวิธีการพอเห็นตัวอย่างก็เลยเลือกวิธีในลักษณะเดียวกัน

หากสื่อมวลชนหลีกเลี่ยงไม่เสนอข่าว จะช่วยลดการฆ่าตัวตาย ได้หรือไม่
ผมเข้าใจว่าสื่อมวลชนคงหวังดี ต้องการเสนอข่าว ก็เพื่อให้ประชาชน ตระหนัก และรู้เท่าทันสถานการณ์ แต่ว่าสื่อมวลชนไม่ทราบว่าการเสนอข่าวนั้น ไปมีผลในทางลบได้ เพราะฉะนั้นจุดที่สำคัญคือ มาพบกันตรงกลาง ไม่ใช่การเสนอข่าวจะทำไม่ได้ แต่ให้ระมัดระวังหรือลดสีสันในการพาดหัวข่าวลง อาจจะให้ข้อเท็จจริงของการฆ่าตัวตาย ให้มากขึ้น สิ่งที่พบโดยทั่วไปก็คือ ผู้สื่อข่าวมักไปสอบถามความเห็นจากญาติพี่น้อง หรือไปนำจดหมายลาตายมาลงข่าว ว่าคนนั้นคิดฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุผลนั้นอย่างง่าย ๆ ซึ่งไปทำให้จูงใจคนที่มีภาวะจิตใจไม่ดี เกิดความรู้สึกว่าการฆ่าตัวตาย เป็นทางเลือกเพื่อหาทางออก เช่น ไปเสนอข่าวว่า อยากตายเพราะเรียนไม่ดี ทั้ง ๆ ที่จริง ไม่ใช่สาเหตุ แต่เป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า ที่จะมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นเพราะว่าทุกคนอาจจะไม่ทราบ จึงมองว่าเป็นสาเหตุ

หรือการเสนอภาพการฆ่าตัวตาย อย่างละเอียด เช่น ลงภาพการกระโดดตึกตั้งแต่ต้นจนจบ การลงข่าวอย่างนี้มาก ๆ ทำให้คนที่กำลังคิดหาวิธีการฆ่าตัวตาย เกิดรู้สึกวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดี

ศูนย์ฮอตไลน์ของกรมสุขภาพจิตช่วยแก้ปัญหาของคนที่คิดจะ ฆ่าตัวตาย ได้มากน้อยเพียงใด
ต้องแยกฮอตไลน์ 2 ประเภท คือ มีสายด่วนอัตโนมัติ 1667 จะเป็นสายด่วนที่ให้ข้อมูลจะไม่ได้ช่วยคนที่คิดฆ่าตัวตายโดยตรง ส่วนสายด่วนคอยให้คำปรึกษาที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลในความรับผิดชอบของ กรมสุขภาพจิต และกระจายอยู่ในโรงพยาบาลครอบคลุมทั่วประเทศ มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง คนที่โทรฯ เข้าไป จะได้รับประโยชน์มาก เพราะเจ้าหน้าที่จะช่วยให้คนที่คิดฆ่าตัวตาย ได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง และหาหนทางแก้ปัญหาอื่นที่แทนที่จะใช้วิธีการฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นอยากจะเน้นว่าหากใครคิดจะฆ่าตัวตาย ไม่ใช่จะพึ่ง 1667 แต่ควรโทรศัพท์ไปตามศูนย์ที่คอยให้คำปรึกษาที่ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

จำนวนจิตแพทย์ในเมืองไทยที่คอยให้คำปรึกษา เพียงพอกับจำนวนประชากรหรือไม่
ในเมืองไทยมีจิตแพทย์ที่ทำงานอยู่จริง 150 คน ถ้าหารด้วย 60 ล้านคนก็จะได้ประมาณ 1 ต่อ 400,000 คน ก็ถือว่าไม่พอเพียง และคงไม่สามารถไปลอกเลียน หรือเปรียบเทียบ กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีสัดส่วนจิตแพทย์ต่อจำนวนประชากร ประมาณ 1 ต่อ 20,000-50,000 คน เพราะโครงสร้างทางสังคมแตกต่างกัน เพียงแต่เราไม่ควรจะขาดแคลนมาก และหัวใจที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ เราควรให้การยอมรับบุคลากรอื่น ๆ ที่มีบทบาทในเรื่องของการให้บริการ แก้ปัญหาสุขภาพจิต เพราะจริง ๆ เรายังมีบุคลากรอีกหลายส่วนที่คอยให้การช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่คอยวินิจฉัยโรคเบื้อต้น มีพยาบาลที่ทำงานในศูนย์จิตเวชวิทยา มีนักสังคมสงเคราะห์ที่คอยทำงานด้านนี้อีกมาก รวมทั้งบุคคลในสังคมต่าง ๆ ก็มีส่วนในการช่วยกันแก้ปัญหา บ้านเราจะรอแต่จิตแพทย์คงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการผลิตจิตแพทย์ทีมีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงรวมทั้งสาขาที่ใกล้เคียง ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยสถาบันการศึกษาของไทย ก็มีศักยภาพ ที่จะผลิตจิตแพทย์ได้ ปีละประมาณ 30-40 คน ปัญหาก็ คือ ควรจะสนับสนุนให้แพทย์สนใจมาเรียนทางสาขานี้มากขึ้น

พริฐ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์


ขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1