ร.ศ.สุพัตรา สุภาพ
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต่างไปจากพ่อแม่ ตอนพ่อแม่เป็นวัยรุ่น รอบตัวยังไม่มีอะไร ที่ทำให้เสียคน ได้มากเท่ากับทุกวันนี้ พ่อแม่ถึงได้งงที่ลูกทำอะไรแปลกไปจากที่หวัง พ่อแม่ถามก็ว่าจู้จี้ ไม่พอใจ พอพ่อแม่ไม่ถามก็หาว่าไม่ใส่ใจ พ่อแม่เลยทำตัวไม่ถูก วิธีง่าย ๆ คือฟังกันบ้าง
การฟังนี้ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ แค่ทำก็น่าจะพอแล้ว เช่น เล่นฟุตบอลกับลูกชาย ตีแบดมินตันกับลูกสาว ดูโทรทัศน์ด้วยกัน ฯลฯ
อย่าลืมว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ร่างกายจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ชอบมองว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่พูดไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่วัยรุ่นเองก็งงกับตัวเอง ยังไม่ชินและปรับตัวฉับพลันยาก จึงอยากได้พ่อแม่เข้าใจ
"ฟิลลิปส์ ออสบอนด์" ผู้แต่งหนังสือ "Parenting for the 90's" กล่าวว่า การได้อยู่กับลูกจะเป็นหนทางให้พูดคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในบ้านหรือนอกบ้าน
"รอน แทฟเพล" นักจิตวิทยาและผู้แต่งหนังสือ "Parenting by Harts" กล่าวว่า การเข้าใจลูกไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากันก็ได้ แค่อยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน กลับบ้านด้วยกันก็พอมีทางเข้าใจกันได้ เพราะช่วงนั้น การพูดจากัน อาจจะง่ายกว่าพูดกันแบบเป็นทางการ และวัยรุ่นจะรู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนมากกว่าผู้คุม
เรื่องของการเข้าใจวัยรุ่นจึงควรออกมาในรูป
อย่าทะเลาะเบาะแว้งต่อหน้าลูก
พ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกแบบคนละทาง เช่น แม่พูดอย่าง พ่อพูดอีกอย่าง เด็กจะสับสน และหากคนไหนใหญ่ เด็กจะเชื่อคนนั้น ถ้าพ่อตามใจ แม่ไม่เอาด้วย เด็กอาจต้านในใจ หรืออยากเอาชนะได้ โดยเฉพาะทำตัวเป็นพวกกับคนไหนก็ได้ที่คิดว่าพอพึ่งได้
ทางที่ดีพ่อแม่ต้องรักสามัคคี ในการอบรมลูก อย่าขัดกันเอง หรือมีเรื่องก็ตกลงกันให้ได้ ลูกจะได้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นได้ ก็มีทางออกได้ หากลูกมีปัญหาจะได้มีกำลังใจแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ จะได้มาหาพ่อแม่เพื่อช่วยเหลือ
หากพ่อแม่ทะเลาะกันเอง ลูกคงหมดกำลังใจจะขอความช่วยเหลือ ยิ่งประเภททะเลาะกันต่อหน้าลูก ลูกยิ่งหมดความเชื่อถือเพราะมีความรู้สึกว่า ทำไมพ่อแม่พูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะพูดกับแกรู้เรื่องได้อย่างไร พ่อแม่จึงต้อง แสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่รักสามัคคีกัน
อย่าบังคับแต่ให้คำแนะนำ
วัยรุ่นจะต้านถ้าสั่ง แต่ถ้าแกถามอะไร เราน่าจะถามว่าแกคิดอย่างไร เพื่อให้แกมีโอกาสพูด ระบายความในใจโดยไม่ขัดคอ เราจะได้ดูท่าทีว่า วัยรุ่นคิดอย่างไร เป็นการฟังก่อนและค่อยพูด เมื่อแกพร้อมจะฟัง และถ้าให้วัยรุ่นรู้จักทางออกเอง จะทำให้แกอยู่ในโลกได้อย่างมีเหตุผลและแข็งแกร่งขึ้น
เช่น เด็กหญิงแหม่มไม่เรียนหนังสือแต่ไปเที่ยวตามศูนย์การค้า พอพ่อแม่รู้เข้า ก็เลยเรียกแหม่มมาคุย ซึ่งแหม่มตกใจในตอนแรกก็จริงแต่เมื่อเห็นพ่อแม่ถามด้วยดี แกมั่นใจว่าแกพูดความจริงได้
"ถ้าพ่อแม่ว่าหนูคงเที่ยวเหมือนเคย แต่นี่พ่อแม่ถามหนูดี ๆ แล้วยังไม่โกรธ หนูเลยไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง" แหม่มให้สัญญาจริงจัง
"อาเดล เฟเบอร์" ผู้แต่งหนังสือรวมเรื่อง "How to talk So Kids Will Listen and Listen So Kids Will Talk " เน้นว่าให้พูดกับลูก เมื่อลูกอยากพูดอยากบอก โดยพ่อแม่ต้องใจเย็น ยอมรับสภาพของลูก ว่า ต้องการอะไร แล้วลูกกับคุณ จะพอทำความเข้าใจกันได้
ฟังอย่างตั้งใจ
อย่าลืมวัยรุ่นไม่ชอบให้พ่อแม่ไปยุ่งกับเรื่องของเขา ยกเว้นพ่อแม่จะทำบ้าน ให้อยากบอก อยากเล่า และเวลาวัยรุ่นเล่าอะไร ขอให้ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย หรือรู้สึกว่า ไร้สาระ และจะให้ดีต้องมีเวลาให้วัยรุ่น จะเป็นช่วงไหนก็ได้ ที่แกมีเวลาพูดกับเราได้ เช่น ตอนกินข้าวเย็น หรือตอนนั่งรถไปโรงเรียน หรือกลับจากโรงเรียน หรือตอนนั่งดูโทรทัศน์ เป็นต้น
แค่กอดวัยรุ่นก็พอใจ
วัยรุ่นก็คือ เด็ก (ตัวโต) คนหนึ่ง เป็นการโตแค่ตัวแต่ใจยังโหยหาความเข้าใจและความรัก ความอบอุ่นจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจและคอยเอาใจใส่วัยรุ่นว่าแกมีปัญหาอะไร
บางครั้งดูแกรื่นเริง แต่อาจจะซ่อนเร้นความทุกข์ในใจ และไม่อยากบอกใคร แต่ในใจแกอาจทุกข์จนเหลือที่จะกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ หรือวัยรุ่นอาจซึมเศร้า ไม่พูดไม่จา ก็ไม่ได้แปลว่าแกไม่อยากพบใคร แกอาจอยากให้ใครกอด หรือแค่แตะไหล่ ลูบหลัง แกก็อาจพอใจ เพราะแค่ภาษาท่าทางอาจทำให้จิตใจสดชื่นได้
บางครั้งเราอยากได้ใครสักคนที่เข้าใจแม้จะไม่พูด แค่มองหน้า มองตากัน อย่างเห็นใจ เราก็สุขใจแล้ว
ด้วยเหตุนี้หากวัยรุ่นอยากอยู่เงียบ ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ พ่อแม่ควรปล่อยแก อย่าไปซักถาม เนื่องจากบางครั้งแกไม่พร้อมจะพูด ถ้าหากวัยรุ่นอยากได้รับความเห็นใจ อาจเข้ามาหาเรา แล้วกอดเราหรืออาจจะซบหน้าร้องไห้ พ่อแม่ควรกอดแก ถ้าแกอยากบอกแกจะบอก แต่ถ้าแกเฉยและไม่พูดอะไร เราได้แค่กอด ลูบหลัง ลูบไหล่ เป็นสัญลักษณ์ว่าพ่อกับแม่ จะอยู่เคียงข้างแกไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน แค่นี้วัยรุ่นจะรู้สึกอบอุ่น และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แม้จะอัดอั้นตันใจ
เฟเบอร์เน้นว่า วัยรุ่นต้องการคนที่เข้าใจและช่วยเหลือได้ยามทุกข์ยามยาก อย่าลืมวัยรุ่นดูเป็นผู้ใหญ่ แต่ในใจยังเป็นเด็กที่ไม่รู้ว่าโลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะแกมองทุกอย่างเป็นอุดมคติไปหมดทั้ง ๆ ที่ชีวิตจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น
วัยรุ่นจึงอาจจะเจอคนที่ตัวคิดว่าดี พอคบกันนาน ๆ เข้า กลายเป็นคนไม่ดี หรือมาหลอกลวง ทำให้แกผิดหวัง บางครั้งถึงกับคิดฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่คิดว่ารักตัวแล้วกลับไม่รัก วัยรุ่นจะคิดว่า ตัวเหมือนคนหลงในทะเลทราย ที่หาที่พักพิงไม่ได้
วัยรุ่นจึงเป็นวัยเปราะบาง หากพ่อแม่ไม่เข้าใจแกอาจเตลิดได้ เพราะวัยนี้ จะยึดเพื่อนเป็นหลัก มีอะไรก็บอกเพื่อน และจะบอกพ่อแม่เป็นคนสุดท้าย
"ไมเคิล รีวา" ผู้แต่ง "Uncommon Sense for Parents with Teengers" เน้นว่าก่อน 11 ปี มีอะไรบอกพ่อแม่ แต่พออายุเกินกว่านั้นจะเห็นเพื่อนสำคัญ ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องน้อยใจ ขอแค่เข้าใจ และพยายามเป็นที่พักพิงทางใจ และกาย เพื่อลูกจะได้ไม่เสียคนต่อไป
ร.ศ.สุพัตรา สุภาพ
main |