พญ.ฐิตวี แก้วพรสวรรค์
คร๊อก
ฟี้ เอาอีกแล้ว
เปียกกันอีกแล้ว
นี้คงเป็นเสียงโอดครวญของเหล่าผู้เป็นแม่จำนวนหนึ่งที่คอยพร่ำบ่นอยู่เสมอเมื่อประสบกับ เหตุการณ์อย่างนี้ เหตุการณ์ของที่นอนเปียกชื้น เพราะสาเหตุจากเจ้าประคุณลูกน้อย แสนน่ารัก ดันมาฉี่รดที่นอนเอาซะนี่ ซึ่งคุณแม่หลายท่านอาจคิดว่าปัญหาเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่อง ที่ร้ายแรงซักกะนิดลิตเติ้ลบิท ที่จะต้องมาสนใจกัน โตขึ้นเดี๋ยวก็หายเองแหละ เด็ก ๆก็ต้อง ฉี่รดที่นอนบ้างเป็นธรรมดา
ถ้าเป็นนาน ๆ ครั้ง คงจะไม่เป็นอะไรหรอก แต่ที่คุณแม่ทั้งหลายต้องทนอิดหนาระอาใจ กันอยู่เนือง ๆ จนต้องหาซื้อผ้าปูที่นอนมาเตรียมไว้เป็นโหล ๆ อย่างนี้ เห็นทีคงไม่ไหวแน่
วันนี้เราจึงต้องขออนุญาตเข้ามาหาสาเหตุให้รู้กันหน่อยนะว่า อาการของปัสสาวะรดที่นอน นั้น มันเป็นเรื่องของอะไรกันแน่ และคำตอบที่ได้มาในเบื้องต้นก็คือ ปัสสาวะรดที่นอน เป็นภาวะที่ร่างกายขับน้ำออกมาทางท่อปัสสาวะโดยที่เด็กนั้นไม่รู้ตัว ฉะนั้นการสร้างพฤติกรรมให้เป็นนิสัยปฏิบัติจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องคอยปลูกฝัง ซึ่งหนทางที่ว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานทางด้านการรักษาพยาบาลทางจิตเวชนั้นเริ่มขึ้น
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคิดไม่ถึงหรือกลัวกันมากว่าทำไมจะต้องส่งลูกน้อยของฉัน ไปที่จิตเวชด้วย ก็ลูกฉันไม่ได้เป็นบ้าซักหน่อย อืมส์
นั่นนะซิ เมื่อสงสัยกันอย่างนี้แล้ว เราจึงต้องขอเปิดประตูเพื่อไปดูงานในส่วนของจิตเวชกันซะเลยว่า มันมีอะไรกันนะ ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของปัสสาวะรดที่นอนที่น้อง ๆ หลายคน บอกตรง ๆเลยว่า เป็นกันเยอะมาก...
ก
โดยคราวนี้ผู้ที่จะให้ความกระจ่างแจ้งกันแบบเห็นกันจะ ๆ ก็คงต้องมอบหน้าที่นี้ให้กับ จิตแพทย์เด็กใจดีจากหน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เธอคือ
พ.ญ.ฐิตวี แก้วพรสวรรค์ และจากพลิกแฟ้มประวัติของคุณหมอคนเก่งคนนี้แล้ว ก็พบว่า
คุณหมอฐิตวีได้จบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ชื่อดัง คือที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ประมาณปี 27นู่นแหนะ จากนั้นก็ต้องออกไปรับใช้สังคมด้วยการใช้ทุนอีก 1 ปี แล้วค่อยกลับมาฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชทั่วไปที่ศิริราชอีก 3 ปี พอจบแล้วก็ยังไม่พอ คุณหมอฐิตวีก็ได้ไปเรียนต่ออีก 2 ปี ที่ฝรั่งเศส โดยจบบอร์ดทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น แล้วคราวนี้ก็กลับมาทำงานที่ศิริราชมาโดยตลอด
คราวนี้ลองไปดูในส่วนของงานทางด้านจิตเวชเด็กกันดีกว่าว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง แล้วทำไมหนอคุณหมอถึงสนอกสนใจอยากที่จะมาเป็นจิตแพทย์นักเนี่ย
"จริง ๆ แล้วหมอเป็นคนชอบเด็กนะ โดยในตอนแรกก็มีความตั้งใจว่าจะต้องมาเป็น กุมารแพทย์ แต่พอดีอาจารย์ผู้ใหญ่ของที่นี้ (ศิริราช) มีความเห็นว่าตัวหมอเองน่าจะมี ความสนใจทางงานด้านจิตเวชมากกว่า และกอปรกับตัวท่านเองก็อยากให้เรามาเป็นอาจารย์ ประจำอยู่ที่ศิริราชด้วย ก็เลยต้องมาฝึกงานทางด้านจิตเวช
"พอเราได้มาฝึกทางด้านจิตเวชแล้ว ก็มีความรู้สึกว่ามันเป็นขอบข่ายงานที่เราคิดไม่ถึงเลยจริง ๆ ว่าเราจะได้อะไรเยอะแยะขนาดนี้ ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อน เราก็จะดูคนไข้ไปว่าโรคนี้มันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นนะ เราไม่เคยคิดเลยว่าจิตใจของคนไข้เป็นอย่างไรเวลาที่เขาเจ็บป่วย แล้วญาติ ๆ เขาล่ะจะเป็นอย่างไรบ้างนะ เขาจะมีความวิตกกังวลแค่ไหน จะต้องรอหมอนานมั้ย เสียเงินเสียทองเท่าไร มีเงินค่ารถกลับบ้านมั้ย ซึ่งงานตรงนี้มันช่วยให้เรามองอะไรได้เยอะขึ้น
" ขณะเดียวกันเราก็ได้เริ่มมองตัวเองว่าเวลาเราเจอคนไข้ประเภทต่าง ๆ เราจะมีความรู้สึก อย่างไรบ้างกับตัวเอง เอ๊ะ
ทำไมเวลาเราเจอคนไข้ประเภทนี้เราถึงรู้สึกสงสารเขาผิดปกติ หรือเวลาเจอคนไข้บางประเภททำไมเราถึงมีความรู้สึกอึดอัด ซึ่งงานตรงนี้ก็ทำให้เรา ได้มีโอกาสในการวิเคราะห์ตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าเราได้มีการพัฒนาทางด้านจิตใจของเรา เข้าไปด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกว่าขอบข่ายงานทางด้านจิตเวชนี้เป็นขอบข่ายที่น่าสนใจมาก
"จิตเวชเด็กและวัยรุ่นมักจะครอบคลุมทั้งในเรื่องปัญหาทางด้านจิตใจ สังคม อารมณ์
พฤติกรรม รวมทั้งพัฒนาการของเด็กด้วย ซึ่งงานในส่วนที่หมอต้องรับผิดชอบนั้น ก็จะมีในส่วนของการให้บริการ ซึ่งก็หมายถึงการตรวจคนไข้ โดยจะมีการออกตรวจกัน
5 วันเลย อย่างในวันจันทร์ก็จะทำการออกตรวจให้กับทางโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น โรงเรียนในละแวกนี้ วันอังคารก็จะตรวจเด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียนและเด็กสมาธิสั้น วันพุธก็จะทำการตรวจจิตเวชทั่วไปสำหรับเด็กและวัยรุ่น วันพฤหัสบดีก็จะตรวจ ในเรื่องของปัสสาวะรดที่นอน และวันศุกร์ก็จะทำการตรวจในส่วนของจิตเวชสำหรับผู้ใหญ่ นอกจากนั้นก็จะมีงานในด้านการสอนด้วย ซึ่งหมอเองก็จะทำการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ ในระดับชั้นปี 4 และปี 6 แล้วก็พวกแพทย์ประจำบ้าน แล้วยังจะมีงานวิจัยอีก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบทำงานวิจัยอยู่ด้วย"
ตอนนี้ก็มาถึงเรื่องราวที่เป็นประเด็นกันในคราวนี้เลยดีกว่าว่าปัสสาวะรดที่นอนนั้น เป็นอย่างไรกันแน่ แล้วจะรู้ได้อย่างไรละเนี่ยว่าลูกน้อยกำลังประสบปัญหานี้แล้ว ก็เห็นเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ก็ฉี่รดที่นอนกันทั้งนั้นแหละ
"ปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่เด็กปัสสาวะออกมาขณะหลับโดยไม่รู้ตัว ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 5-6 ปีและเป็นมากกว่า 1 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติแล้ว แต่ถ้านาน ๆ ครั้ง เดือนละครั้งอะไรอย่างนี้เราก็สามารถรอดูก่อนได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจเด็กอายุมากแล้วรอต่อไป เกรงว่าจะไม่ดีขึ้นก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์กันดูก่อน อย่างน้อยก็อาจได้รับคำแนะนำ ที่เหมาะสมว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ป้องกันหรือระแวดระวังอย่างไร
สรุปอาการก็คือ
1. จะต้องปัสสาวะโดยไม่รู้ตัวขณะหลับ
2. เป็นมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
3. อายุ 5-6 ปีขึ้นไป
"เรื่องของปัสสาวะรดที่นอน ถ้าจะให้พูดถึงสาเหตุแล้ว มันก็มีสาเหตุด้วยกันทั้งทางร่างกาย แล้วก็จิตใจ อย่างแรกก็คือปัญหาทางด้านร่างกาย ส่วนใหญ่ปัญหาทางด้านร่างกาย เราจะพบว่า เด็กอาจมีปัญหาในเรื่องของระบบปัสสาวะที่ผิดปกติ หรือมีการติดเชื้อบนทางเดินปัสสาวะ บางทีอาจเป็นเบาหวานหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะรดที่นอนได้
"คราวนี้เรามาดูปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์ พัฒนาการกันบ้าง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับเด็กที่มีปัญหาในเรื่องปัสสาวะรดที่นอน เราเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กพวกนี้ มีปัญหานั้นก็จะแบ่งเป็น
1. ทางด้านพัฒนาการ คือเด็กคนนั้นจะมีพัฒนาการที่ล่าช้าในเรื่องของการควบคุมระบบการขับถ่าย
2. ในส่วนของการฝึกการขับถ่าย
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งบางครอบครัว อาจเข้มงวด หรือปล่อยปละละเลยเกินไป
3. ในเรื่องของจิตใจและอารมณ์
คือเด็กพวกนี้บางครั้งเขาอาจกลั้นปัสสาวะได้ดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งมีปัญหาทางด้านจิตใจ และอารมณ์อย่างเช่นตอนเข้าโรงเรียนใหม่ แม่มีน้องใหม่ หรือว่าต้องย้ายถิ่นฐานอะไรแบบนี้ ก็จะทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะรดที่นอนได้ นอกจากนี้ ปัสสาวะรดที่นอน ก็พอจะมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรมได้อยู่เหมือนกัน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่าคนไข้ที่ปัสสาวะรดที่นอนมีประวัติทางครอบครัวถึง 60-70% โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตามที่ไม่ใช่สาเหตุมาจากทางด้านร่างกาย ก็ควรนำมารักษา กับทางจิตเวช
"เราจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีปัญหาเรื่องของการปัสสาวะรดที่นอนแล้ว คือโดยทั่วไปแล้ว พัฒนาการของเด็กจะต้องสามารถกลั้นปัสสาวะเองได้ในตอนกลางวันก่อน โดยในช่วงกลางวันจะต้องกลั้นได้ในช่วงระหว่างระยะประมาณ 2 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ ส่วนในตอนกลางคืนควรจะประมาณ 3 ขวบถึง 3 ขวบครึ่ง หรืออย่างมากก็ไม่ควรเกิน 4 ขวบ ก็ควรจะกลั้นเองได้แล้ว ซึ่งถ้าเลยจาก 4 ขวบแล้วยังกลั้นเองไม่ได้ นั่นก็เป็นสัญญานเตือนบอก แล้วว่าเด็กคนนี้อาจมีปัญหาในเรื่องการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะในเวลากลางคืน แล้วคราวนี้เรามาลองสังเกตอาการต่อจนถึงอายุ 5 ขวบ บวกเวลาจากเดิมที่ตั้งไว้อีก 1 ปี ซึ่งถ้าหากเกิน 5 ขวบ ขึ้นไปแล้วยัง มีปัญหาในเรื่องการปัสสาวะรดที่นอนอยู่ ต้องถือว่า เด็กคนนั้นผิดปกติแล้ว
"ปัสสาวะรดที่นอนดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะน่ากลัวนะมันไม่ถึงกับตายหรอก แต่นี้มันเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเราพบว่าภายหลังที่เด็กอายุ
5 ขวบไปแล้วยังไม่ได้มารับการรักษา เด็กพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาอื่นตามมาด้วย
เช่น ปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และปัญหาทางด้านพฤติกรรมต่าง ๆ และโอกาสที่จะหายเองหลังอายุ 5 ขวบนั้น มันก็มีเปอร์เซนต์ที่น้อยมาก ฉะนั้นถึงมีความจำเป็นที่ควรจะมาทำการรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ "
พอจะทราบมาว่าเด็กมีภาวะของปัสสาวะรดที่นอนนั้นเยอะมากแต่มันเยอะแค่ไหนนะ
"ปัจจุบันเด็กที่มีภาวะปัสสาวะรดที่นอนอย่างนี้ หมออยากจะบอกว่าเยอะมาก เรียกได้ว่าเด็กที่อายุ 7 ขวบนั้นพบได้ถึง 8% เกือบ ๆ จะถึง 10% ซึ่งโดยส่วนใหญ่เลย จะพบแต่ปัญหาในส่วนของพัฒนาการของการฝึกการขับถ่ายซะเยอะเลย ซึ่งปัญหาในส่วนของโรคทางด้านร่างกายเท่าที่ตรวจมานั้นพบน้อยมาก
เพศหญิงพบมากกว่าเพศชายหรือ? จริง ๆ แล้วเราจะพบทั้ง 2 เพศพอ ๆ กัน
โดยส่วนใหญ่จะกลับตรงกันข้ามกัน ซึ่งในเด็กเล็ก ๆ นั้น เราจะพบเพศชายมากกว่า แต่ที่สำคัญหมอกับมาเจอในสภาวะที่อยู่โรงพยาบาล ซึ่งพบว่าเด็กผู้หญิงมักมาหาหมอ มากกว่าเด็กผู้ชาย แต่เขาว่ากันนะโรคนี้ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง
"ที่บอกว่าผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิงก็เพราะว่าผู้ชายนั้นหายยากกว่าหายช้ากว่าผู้หญิง จากการที่เราไปทดสอบมาพบว่าระยะเวลาที่ผู้ชายใช้ในการขับถ่ายนั้นช้ากว่า ยาวกว่าผู้หญิง และผู้ชายมักจะเป็นซ้ำมากกว่าด้วย เพราะฉะนั้นผู้ชายตอนเด็ก ๆ อาจเคยกลั้นปัสสาวะได้ดี แล้วมาช่วงหนึ่งอาจกลับมาเป็นใหม่ได้มากกว่าผู้หญิง
"ที่บอกว่าสามารถเป็นซ้ำได้นั้นก็หมายความว่าเด็กเมื่อมีการพัฒนาที่ดีแล้ว สามารถกลั้นปัสสาวะได้เองอยู่บ้าง ครั้นในช่วงวัย 6-7 ขวบ มันก็อาจกลับมาใหม่ได้ เช่นไปเจอภาวะของความเครียดอย่างที่บอกไป ไม่ว่าจะเป็นการย้ายที่อยู่ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆในชีวิต ก็อาจกลับมาเป็นได้"
"เมื่อได้ทราบแล้วว่าสาเหตุของปัสสาวะรดที่นอนนั้นเกิดจากอะไร ถึงตอนนี้ไปรู้ในส่วนของการรักษาพยาบาลกันบ้างดีกว่า ซึ่งการใช้ยาแน่นอนยังเป็นสิ่งที่ยอดนิยมอยู่ แต่ว่าที่ผ่านมาบอกได้เลยว่ามักไม่ค่อยจะได้ผลกันเท่าไหร่นะ"
"ในส่วนของการรักษาพยาบาลนั้น การใช้ยาถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกดี เด็กกินเพียงแค่เม็ดเดียว หรือจะใช้วิธีการพ่นจมูกก็ได้ และการใช้ยานั้นเด็ก ๆ จะต้องกินไปเรื่อย ๆ ซึ่งยาประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ดื้ออย่างที่เราเข้าใจกันหรอกว่าเวลากินไปแล้วสักระยะ ก็ต้องเพิ่มขนาด คือมันจะหายหรือไม่หายนั้นก็จะเห็นผลได้ภายใน 2 สัปดาห์ พูดง่าย ๆคือ ถ้ามันไม่หายก็คือไม่หาย ซึ่งการใช้ยานั้นส่วนใหญ่เมื่อกินไปแล้ว มักจะดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่หายขาด ซึ่งยาที่ให้ไป เราก็จะให้ในปริมาณไม่มากหรอก"
"แต่ในส่วนของการใช้ยาถ้าจะพูดถึงในเรื่องของประสิทธิภาพนั้นที่ผ่านมาปรกฏว่า ได้ผลค่อนข้างน้อย มีการสำรวจกันว่ายาที่ใช้กินนั้นมักจะได้ผลประมาณ 30% และเมื่อหยุดยาแล้วก็มักจะเป็นใหม่กันเยอะซึ่งถ้าเด็กต้องการจะได้ผลเร็ว อย่างเช่นอาทิตย์หน้าจะไปเข้าค่ายแล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการยา"
แต่หนทางแห่งการรักษานั้นเพียงแค่ยาอย่างเดียวคงจะไม่พอแน่ คุณหมอฐิตวีจึงได้หาหนทางในการรักษาให้ถึงต้นตอเลยทีเดียว โดยคุณหมอได้ผลิตนวตกรรมชิ้นเยี่ยมในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเด็กปัสสาวะรดที่นอน เพื่อเป็นของขวัญให้กับน้อง ๆ จอมซนที่ชอบทำให้คุณแม่ต้องมาเหนื่อยเพราะต้องทนซัก ที่นอนเปียกชื้นกันได้ทุกวี่ทุกวันนี่นา โดยงานนี้คุณหมอได้เปรยเอาไว้ว่าถ้าอยากจะมารักษา ด้วยเครื่องนี้ละก็ต้องมาที่ศิริราช ที่เดียวเท่านั้น
"ขณะนี้หมอได้ประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาใช้เองเรียกว่า Siriraj Pipi Stop โดยเครื่องมือตัวนี้ เราได้ทดลองใช้กับคนไข้ที่มารักษากับทางศิริราชแล้วพบว่าได้ผลค่อนข้างดีมาก ประมาณ 80% ซึ่งหลักการของเจ้าเครื่องตัวนี้จะใช้วิธีการบำบัดแบบพฤติกรรม โดยการอาศัยเครื่อง เป็นตัวปลุกให้ตื่น ซึ่งจะมีอุปกรณ์ก็คือแถบผ้าที่เราจะใส่สายดีเทคเตอร์เข้าไปข้างใน แล้วเสียบกับกล่องตัวนี้ จากนั้นก็นำเอาแผ่นผ้ามารองไว้ที่กางเกงในของเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กหลับแล้วถ้าฉี่รดออกมาก็จะเกิดเสียงดัง ทำให้เมื่อเด็กตื่นขึ้นมาก็ต้องลุกออกมา เข้าห้องน้ำ
"ข้อดีของเจ้าเครื่องนี้ก็คือมันจะปลุกในจังหวะที่เหมาะสม คือจะปลุกเมื่อมีปัสสาวะหยดแรก ออกมาไม่เหมือนกับวิธีการปลุกตื่นแบบเดิม ๆ คือปลุกเมื่อเด็กยังไม่ได้ฉี่เลย ซึ่งก็ไม่ได้เกิดการเรียนรู้ วิธีการนี้เราต้องการสร้างเงื่อนไขให้แก่เด็กว่า เมื่อไหร่ฉี่จะต้องตื่น เพราะเมื่อไหร่ที่มีฉี่หยดแรกออกมาปุ๊บเด็กก็จะตื่นจากเสียงที่ดังออกมา ก็จะทำให้เด็ก เริ่มที่จะรู้ตัวเวลาที่เด็กจะฉี่ จนกระทั่งเด็กมีพัฒนาการจนสามารถหลับได้สนิท โดยไม่ต้องลุกออกมาฉี่"
"สำกรับการใช้เครื่องมือที่เรียกกันว่า Siriraj Pipi Stop ไม่ใช่วิธีการใหม่เลยนะ เรารู้มาตั้งนานแล้วค่ะว่ามีเครื่องมืออย่างนี้ไว้ทำการรักษาโรคปัสสาวะรดที่นอนได้ดี ซึ่งที่เมืองนอกนั้นเขาจะใช้เป็นอันดับแรกเลย เพียงแต่ในเมืองไทยยังไม่มีใครคิด ที่จะทำเครื่องมือนี้ออกมาใช้ ซึ่งพอหมอกลับมาจากฝรั่งเศสปุ๊บหมอก็นำมาใช้เองเลย เพราะว่าประโยชน์ของเครื่องตัวนี้ 1. ไม่แพง ประหยัด 2. ไม่ลำบากต่อการพกพา
3. ไม่มีอันตราย ฉะนั้นเรื่องของการใช้เครื่องมืออันนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครนำมาใช้ในเมืองไทยมากกว่า"
"ถ้าหากว่าคนไข้สนใจที่อยากจะมาใช้เครื่อง เราก็จะต้องใช้วิธีทดลองคนไข้สักนิดว่า เด็กเป็นคนที่ปลุกตื่นยากแค่ไหน เด็กให้ความร่วมมือกับเราได้เท่าไหร่ ถ้าเด็กให้ความร่วมมือดี เราก็จะให้ใช้เครื่องมือเลย จากประสบการณ์ถ้าเด็กคนไหนให้ความร่วมมือดี พ่อแม่ให้ความดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด รับรองว่าได้ผลดีมาก แต่สำหรับการใช้เครื่องมือนี้ ในคนที่อายุมากแล้ว ค่อนข้างจะมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง เพราะไหนจะมี ประจำเดือน ซึ่งนั้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นการมาหาหมอ ควรอย่างยิ่งที่จะมาหากัน ก่อนที่ตัวเองจะเป็นวัยรุ่นถึงจะดีที่สุด"
"ส่วนใหญ่ที่ใช้เครื่องมือนี้แล้ว ภายในระยะเวลา 3 เดือน ก็มักจะหาย แต่ก็มีอยู่รายหนึ่ง ที่ใช้เวลาถึง 6 เดือน สำหรับกรณีใช้แล้วโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่ก็มีเหมือนกันแต่น้อย ที่ใช้แล้วจะกลับมาเป็นใหม่นั้นมีประมาณไม่ถึง 20% เห็นจะได้ ซึ่งพวกนี้เมื่อกลับมาหมอจะให้ทำซ้ำอีกครั้ง ประมาณ 2 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน จากนั้นก็พบว่าไม่ค่อยมีปัญหากลับมาอีก ถ้ามีโอกาสที่จะกลับมามันก็จะต้องน้อยเข้าไปอีก"
"เมื่อรู้ในเรื่องของวิธีการรักษาแล้วว่ามีอะไรกันบ้าง คราวนี้ไปดูสิว่าถ้าจะเริ่มรักษา จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจแค่ไหน ขั้นตอนการรักษาจะสลับซับซ้อนเพียงใด
"ขั้นตอนการรักษานั้นในตอนแรกเราจะให้เด็กตรวจปัสสาวะก่อนดูว่าเด็กมีปัญหา ทางด้านร่างกายอะไรมั้ย เช่น ตรวจเรื่องระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจร่างกาย โดยเฉพาะเรื่องของ ระบบการขับถ่าย ซึ่งถ้าตรวจแล้วไม่พบปัญหาทางด้านร่างกาย เราก็จะต้องทำการเช็กประวัติ ตรวจสภาพจิตใจ ให้พ่อแม่และเด็กทำแบบสอบถาม ทางด้านจิตวิทยา วาดรูปที่เป็นแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยา จากนั้นเราก็มาคุยกับเด็ก ดูว่าเด็กให้ความร่วมมือกับเราดีสักแค่ไหน พ่อแม่ให้ความร่วมมือกับเราบ้างหรือเปล่า ถ้าพ่อแม่ให้ความร่วมมือดีสามารถที่จะปฏิบัติตามที่เราแนะนำได้ เราก็จะเริ่มเข้าขั้นทดลอง โดยให้เข้าเลือกวิธีการรักษาซึ่งก็มีอยู่ 2 แบบ อย่างที่เรียนให้ทราบ คือเขาอยากจะใช้ยา หรืออยากจะใช้เครื่องมือ ถ้าเขาอยากจะใช้ยา มันก็มีข้อดี คือมันง่าย สะดวก ซึ่งพ่อแม่บางคน อาจไม่สามารถมีเวลาที่จะมาช่วยดูแลลูกในจุดนี้ เพียงแต่ว่าเขาควรจะรู้สักนิดว่า การใช้ยาควรจะใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องควรระวัง"
"การรักษานั้นควรที่จะริ่มกันตั้งแต่อายุ 6 ขวบเป็นต้นไป ในระยะ 5-6 ขวบ ถ้ายังมีปัญหา ปัสสาวะรดที่นอนอยู่ ขั้นตอนแรกก็ควรที่จะเริ่มไปปรึกษาแพทย์ได้แล้ว โดยจะมาที่จิตเวช ก่อนก็ได้ เพราะกุมารแพทย์เข้าก็รู้ว่าโรคนี้เป็นอย่างไรเขาก็จะทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจร่างกายก่อนเพื่อที่จะดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลเกิดจากอะไร เป็นโรคทางด้านร่างกาย หรือเปล่า ถ้าเป็นโรคทางด้านร่างกายก็ควรที่จะเริ่มมาทำการรักษา แต่ถ้าไม่ใช่เขาก็จะส่งมาที่ จิตเวชเพื่อเตรียมในเรื่องของการฝึกหัดขับถ่ายให้เหมาะสมกับวัย จริง ๆ แล้วถ้าเด็กขนาด
3 ขวบครึ่ง ถ้ายังฉี่รดที่นอนอยู่ก็เริ่มสังวรณ์ได้แล้วนะว่าอาจมีข้อบกพร่องในเรื่องของ การฝึกหัดขับถ่าย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องรีบมาปรึกษากัน"
"ในการรักษาเด็กจะต้องมาพบหมอทุก ๆ 2 สัปดาห์ จนครบ 3 เดือน หลังจากนั้นก็ติดตาม ผลต่ออีกเดือนละครั้งจนครบ 6 เดือน ซึ่งถ้า 6 เดือนไปแล้วเด็กไม่กลับมาเป็นใหม่อีก ก็มักจะหายขาด และส่วนใหญ่ก็พบว่าภายหลังจาก 6 เดือน ไปแล้วก็ไม่ค่อยจะกลับมา เป็นใหม่อีก ส่วนพวกที่กลับมาเป็นใหม่ราว 20% อาจเผลอเพราะว่าวันนั้น อาจออกกำลังกาย มากไปหน่อย เหนื่อยจัดหลับสนิทเลย แต่ก็อาจมีเล็ดออกมานิดนึง แต่เขาก็รู้ตัว ก็มีอยู่ไม่กี่รายที่เป็น เพราะหมอเองก็จะติดตามกันอยู่ตลอดเวลา"
"นอกจากนี้เรายังจะต้องใช้วิธีการป้องกันโดยก่อนที่เด็กจะหาย เราก็จะให้เด็กดื่มน้ำเยอะ ๆ แล้วใช้เครื่องนี้ต่ออีกสักระยะ ซึ่งนั้นก็จะเป็นการฝึกให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ เผื่อเอาไว้ เพราะว่าพอถึงเวลาเอาเครื่องออก แล้วให้เด็กดื่มน้ำตามปกติ ก็จะป้องกันการเกิดซ้ำได้"
วิธีการแก้เผ็ดเจ้าหนูน้อยที่คุณพ่อคุณแม่มักจะงัดออกมาใช้และก็ได้ผลชะงัดนักก็คือ การใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป คราวนี้แหละนะคงจะไม่เหนื่อยที่จะต้องมานอนแบบเปียกชื้นแล้ว ละก็ เขามีที่
ล็อกความชื้นเชียวนะ แต่หารู้ไม่ว่าวิธีการนี้อาจเป็นการสอนพฤติกรรมผิด ๆ ให้กับลูกน้อยของคุณเชียวนา เพราะลูกจะหายหรือไม่หายนั้นมันอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจ ของพ่อแม่ด้วย
"ในเรื่องของการเลี้ยงดูนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเลยทีเดียวในการที่จะทำการฝึกการขับถ่าย เด็กที่ถูกเลี้ยงดูในแบบเข้มงวดหรือปล่อยปละละเลยจนเกินไปก็ตาม มันก็จะทำให้เกิด ผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็ก ซึ่งถ้าเราเข้มงวดเขามากเกินไป เด็กก็จะเกิดความรู้สึกต่อต้าน ไม่ทำตาม สิ่งที่พ่อแม่เคบฝึกให้ก็จะไม่ทำ หรือในกรณีที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ให้ฉี่เลอะเทอะ ก็เพราะว่าเขาไม่ได้รับการควบคุม เด็กไม่เคยถูกสอนว่า เมื่อไหร่ควรจะทำได้ และเมื่อไหร่ควรจะต้องกลั้น"
"อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ก็คือการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่สามารถล็อก ชั้นต่างๆได้ กันความเปียกชื้นได้นี่นะคะ พวกนี้มันจะเข้าไปสร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ให้กับเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กจะตื่นเมื่อโดนความเปียกชื้น เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาเด็กฉี่ออกมาปุ๊บ ก็จะรู้ตัวแล้วก็ตื่นเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ว่าเมื่อฉี่แล้วต้องตื่น แต่ต่อมามีการพัฒนา การสร้างผ้าอ้อมแบบที่ล็อกความชื้นได้ หลับสนิทตลอดทั้งคืนเพราะไม่มีการเปียกชื้น ฉะนั้นเมื่อเด็กไม่เปียกชื้นเด็กก็จะหลับอย่างสบายและเด็กก็จะฉี่โดยไม่รู้ตัวอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งนี้ก็เป็นการฝึกนิสัยให้กับเด็กระหว่างการหลับกับการฉี่ที่ไม่ถูกต้อง และการที่หมอพูดมาอย่างนี้ไม่ใช่ที่จะมาบอกว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปนั้นไม่ดีหรือใช้ไม่ได้ ใช้ได้ค่ะมีประโยชน์ แต่ควรรู้สักนิดหนึ่งว่าเมื่อไหร่ควรใช้ และเมื่อไหร่ควรหยุด"
"สำหรับเด็กที่ปลุกแล้วไม่ค่อยอยากตื่น ร้องไห้งัวเงียต่อต้านตลอดเวลา หรือแม่ปลุกบ้าง ไม่ปลุกบ้างรู้สึกว่าฉันเหนื่อยเหลือเกิน ซึ่งอาจไม่ค่อยเข้าใจถึงวิธีการ ตรงนี้ถ้าเด็กยังไม่มี แรงจูงใจหรือต้องการอยากจะหายเนี่ย ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากว่าจะหายหรือไม่หาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา กรณีที่รักษายากนั้นก็คือพ่อแม่นั้นไม่ได้ให้ความร่วมมือ หรือการที่เด็กต่อต้าน ซึ่งเด็กอาจถูกเลี้ยงดูมาอย่างตามใจ จนพ่อแม่ไม่สามารถที่จะฝึกเด็ก ให้เป็นตามที่เราต้องการได้ อย่างหมอบอกว่าต้องปลุกเด็กให้ตื่นนะ เขาก็ทำไม่ได้ อย่างนี่แหละค่ะที่ว่าเป็นปัญหาและที่สำคัญมันมีเยอะมาก ก็เท่ากับว่าเราเองก็ไม่สามารถ ทำให้พ่อแม่หรือเด็กปฏิบัติตามที่เราแนะนำได้ ซึ่งนั้นก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของการรักษา
"ถ้าเด็กต้องการหายก็ต้องให้ความร่วมมือ โดยมีพ่อแม่คอยเอาจริงเอาจัง ปฏิบัติตามคำสั่ง ของหมอ อย่างถ้ามีเสียงดังก็ต้องรีบปลุกเด็กให้ตื่นออกมาเข้าห้องน้ำ เสร็จแล้วก็วัดรอยเปื้อน บอกตัวเลขให้เด็กจำก่อนด้วย แล้วค่อยมาถามเด็กอีกครั้งตอนตื่นนอนแล้ว ถ้าเกิดทำได้ ก็แจ๋วเลย รับรองผลออกมาดีมาก"
มีวิธีการหนึ่งที่มักจะใช้กันอยู่เป็นประจำก็คือการงดน้ำ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่เห็นแล้วสงสารลูกคุณจริง ๆ
"การงดน้ำก่อนเข้านอนนั้นเป็นความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่าเมื่อดื่มน้ำเยอะก็จะฉี่ออกมาเยอะ ซึ่งจริง ๆ มันก็ใช้นั่นแหละค่ะ แต่สำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องปัสสาวะรดที่นอนแล้ว ถึงจะดื่มน้ำน้อยแค่ไหน มันก็ยังจะฉี่อยู่ พวกนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำ มันขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเด็กมีปัสสาวะออกมานั้นเด็กจะรู้ตัวหรือไม่ ซึ่งเราจะไม่แนะนำให้เด็กงดน้ำเลยเพราะมันไม่ได้ทำให้เด็กหายจากการปัสสาวะรดที่นอน ซ้ำร้ายยังเป็นการทรมานเด็กอีกเปล่า ๆ เด็กจะต้องมาเหี่ยวแห้งจากการขาดน้ำ และตรงกันข้ามหมอจะให้เด็กดื่มน้ำเยอะ ๆ อีกด้วย สรุปว่าการงดน้ำนั้นไม่ใช่หนทางของการรักษา การดื่มน้ำนั้นก็ไม่ใช่สาเหตุ เพียงแต่ดูเหมือนว่าเด็กจะฉี่น้อยลงเพราะเขาดื่มน้ำน้อย ซึ่งไม่ได้แปลว่าโรคปัสสาวะรดที่นอนนั้นจะหายไปด้วย มันยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน"
ไม่รู้เหมือนกันนะว่าโรคปัสสาวะรดที่นอนนี้มันน่าอายมั้ย แต่ถ้ายังมัวแต่อายไม่กล้ามารักษาแล้วเมื่อไหร่มันจะหายสักทีล่ะ และยังมีอีกเรื่องสำหรับความคิดแปลก ๆ ของคนไทยที่คิดว่า
การมาหาจิตแพทย์ ต้องเป็นคนบ้า เห็นแล้วกลุ้มจริง ๆ
"ก็มีเยอะเหมือนกันนะกลัวที่จะส่งลูกมาจิตเวช เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเป็นบ้า ซึ่งตรงนี้ เป็นค่านิยมที่ผิด ๆ ของคนที่ยังไม่เข้าใจ เป็นความคิดที่ค่อนข้างโบราณนะที่คิดว่า คนที่มาหาจิตแพทย์ จะต้องเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ หรือเป็นโรคบ้าอะไรพวกนี้
ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่จิตเวชอย่างที่บอกเราจะดูแลกันทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ทางด้านการเรียน อารมณ์ การปรับตัว และก็ปัญหาพฤติกรรม ปัญหานอนไม่หลับ ปัญหาเครียด เยอะแยะเลย ฉะนั้นก็อยากจะบอกว่าทุกคนมีปัญหาด้วยกันหมด อย่ามองว่าจิตเวชคือโรคจิต ..ไม่ใช่อย่างนั่น จิตเวชก็เป็นเรื่องของจิตใจ"
"สำหรับในเรื่องของคนไข้อายเนี่ยก็มีค่ะ พบบ่อยมากเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว คนไทยเป็นคนขี้อายในเรื่องที่ไม่ควรจะอายอยู่แล้วด้วย เรื่องของปัสสาวะรดที่นอน เป็นแล้วก็ไม่กล้าบอกใคร ปิดบังเป็นความลับเก็บไว้กับตัวเองจนกรทั่งเป็นสาว หมอเองอยากจะบอกว่ายิ่งโตเท่าไหร่ก็ยิ่งอายมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ามารักษากันตั้งแต่เด็ก ๆ ก็อาจจะอายน้อยกว่าและที่สำคัญอย่ามัวแต่รอว่ามันจะหายเอง เพราะโอกาสที่ปัสสาวะรดที่นอนหลังอายุ 6 ขวบไปแล้วหายเองนั้นน้อยมาก มีเปอร์เซนต์อยู่แค่ 1% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งจะช้าเกินไป ในแง่ที่เขาโตขึ้มาแล้วเกิดความอาย และพอยิ่งโต ก็ยิ่งอาย คราวนี้ก็เลยไม่กล้ามารักษากัน"
"มีคนไข้ของหมออยู่คนหนึ่งอายุ 32 ถึงค่อยมาหา เพราะอาย และที่จำเป็นต้องมารักษานั้นก็เพราะว่าตัวเองกำลังจะแต่งงาน กลัวสามีจะรู้ว่าตัวเองยังฉี่รดที่นอนอยู่ ซึ่งถ้ามารักษากันตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบมันก็จะไม่อาย หรอกค่ะ กลับหายได้ร็วกว่าด้วย เพราะขณะที่เด็กอายุ 5-6 ขวบ เราสามารถให้เด็กเรียนรู้ได้ โดยพฤติกรรมบำบัดได้เร็วกว่าเด็กที่โตแล้ว
"เด็กส่วนใหญ่ที่มารักษาเกือบ 100% มักจะขี้อาย แล้วคิดอยู่เสมอว่าตัวเองมีปมด้อย มีความรู้สึกต่อตัวเองในทางที่ไม่ดี หมอเองได้ให้เด็กทำแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยา ตรวจเด็กไปเมื่อปีก่อนแล้วพบว่าเด็กมี Self Image กับตัวเองในทิศทางที่ไม่ดีถึง 100% เลย ซึ่งปัญหานี้พ่อแม่จะทราบมั้ยว่าลูกมีความคิดแบบนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ทราบหรอกค่ะ เพราะว่าความรู้สึกของเด็กที่มองไม่ดีนั้นไม่ได้เด่นออกมาชัดเจนจนทำให้เห็นว่า เด็กมีความรู้สึกว่ามีปมด้อย ท้อแท้ เขาไม่ได้ทำตัวซึมเศร้าออกมาให้เห็น เพียงแต่ว่า แบบทดสอบที่เขามาทำให้เราเห็นนั้นมาแสดงถึงภาพพจน์ที่เด็กได้แสดงออก ถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
"หมออยากจะบอกทุกคนว่าโรคปัสสาวะรดที่นอนมันไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรเลย เป็นเรื่องการพัฒนาของเด็กในภาวะที่หลับแล้วปัสสาวะออกมาโดยไม่รู้ตัว เป็นการพัฒนาที่ล่าช้าในแค่บางเรื่องเท่านั้น เราจะต้องให้โอกาสเด็กที่เข้ามารักษา อย่าอายเพราะยิ่งโตก็จะยิ่งอาย และการที่ได้มารับการปรึกษา ได้มารับคำแนะนำที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้พ่อแม่ปฏิบัติตัวต่อเด็กได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาการปัสสาวะรดที่นอนก็อาจหายไปได้ ถ้าหากว่าเด็กถูกการฝึกในเรื่องการขับถ่ายที่เหมาะสม หรือการที่เด็กรีบเข้ามาทำการรักษา ก่อนที่จะเกิดปัญหาอื่นที่สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้าน จิตใจ อารมณ์ สังคมและปัญหาพฤติกรรม เพราะเราพบว่าเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอนแล้วยังไม่รีบมารักษา หลังอายุ 5-6 ขวบไปแล้ว มักจะมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางด้านพัฒนาการอย่างอื่นเยอะเลย ดูอย่างง่าย ๆ ถ้าเด็กจะไปออกค่ายจะไปค้างแรมที่ไหนก็จะไม่กล้าไปเพราะกลัวคนอื่นเขาจะรู้ อาย มีความรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย ซึ่งก็จะบดบังโอกาสเด็กที่จะเรียนรู้ในด้านการพัฒนาการ ทางสังคม อารมณ์และมีความรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยไปด้วย"
"แต่เมื่อรักษากันหายแล้วเราพบว่าเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม อารมณ์ สังคมต่าง ๆ จากโรคปัสสาวะรดที่นอนนั้นปัญหาดังกล่าวก็จะกลับมาดีขึ้นด้วย พฤติกรรมก็ดีขึ้น จิตใจก็ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ตามปกติ"
ไปดูในส่วนของค่ารักษาพยาบาลบ้างถ้าจะใช้เครื่องมือ Siriraj Pipi Stop มาทำการรักษา จะต้องเสียเงินเสียทองกันแค่ไหน บอกตรง ๆ เศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งไม่ค่อยจะมีตังค์กันอยู่ด้วย
"สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นหมอว่าถูกมากเลย จริง ๆ แล้วเครื่องตัวนี้ราคาต้นทุน เฉพาะเครื่องก็ตกประมาณ 500 บาท บวกกับค่าสายไฟ ค่าผ้าอีก และก็ค่าถ่านไฟฉายอีก เบ็ดเสร็จคิดไป 700 บาท ก็มีเท่านี้เอง ก็ไม่ต้องไปทำอะไรอีกแล้ว ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ถ้าหายแล้วเครื่องนี้ก็สามารถจะใช้ต่อกับใครก็ได้ จะมีเปลี่ยนก็แค่ถ่านเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ถ้ามารักษาที่โรงพยาบาล
ศิริราช ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพราะหมอกำลัง ทำวิจัยอยู่ และหมอก็ได้ขอทุนซื้อเครื่องสำรองไว้แล้วจำนวนหนึ่ง โดยตอนนี้เรามีเครื่องนี้ อยู่แล้วประมาณ 50 เครื่อง โดยผู้ที่จะมาทำการรักษาก็เพียงแค่วางเงินมัดจำไว้ และพอใช้เครื่องหายดีแล้วก็ค่อยมาเอาเงินคืน พูดง่าย ๆ ก็คือเรารักษากันฟรี ๆ แต่ถ้าจะรักษาด้วยยาก็คงต้องเสียเงินตามปกติ ซึ่งก็ไม่แพงอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่า จะมาใช้ควบคู่กันนะ ถ้าใครอยากจะใช้ยาก็ใช้ จะใช้เครื่องก็ใช้ เครื่อง เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรได้ผลหรือไม่ได้ผล"
ถ้าเป็นหนังเป็นละครก็คงต้องถึงตอนจบกันแล้วละ ซึ่งหมอฐิตวีก็ได้ฝากฝังถึงแนวทาง การรักษาแบบพฤติกรรมโดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า Siriraj Pipi Stop มาเป็นผู้ช่วยนี้ เป็นการทิ้งท้ายไว้ว่า
"หมอก็อยากจะฝากไว้ว่าเครื่องตัวนี้ มันจะเป็นตัวช่วยปลุกเด็กในขณะที่เราต้องการให้เด็กตื่น เพื่อเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เด็กตื่นในขณะที่เด็กกำลังจะฉี่ มันเป็นการที่เราเรียกว่า พฤติกรรมแบบ Conditioning Method ซึ่งก็หมายถึงการสร้างเงื่อนไขการตื่นกับการปัสสาวะ ให้กับเด็ก โดยที่แม่ไม่ต้องไปปลุกเอง และการปลุกนั้นบอกได้เลยว่าไม่ได้ผลหรอกค่ะ เพราะไปปลุกขณะที่เด็กหลับดีไม่มีฉี่ แต่การปลุกเด็กแบบนี้ คือการปลุกเด็กที่มีฉี่ออกมาเท่านั้น และขอย้ำอีกทีว่าเครื่องมือชนิดนี้มีการใช้มาตั้งนานในประเทศที่เขาเจริญแล้ว พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่ามันได้ผลจริง ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับยาที่อาจมีผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อหัวใจ อย่างเด็กกินไปแล้วยังไม่รู้เลยว่าเป็นยาอะไร และกินมากเกินไปก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้นอะไรที่ปลอดภัยจากยาก็น่าจะเป็นผลดี"
"แต่การรักษาไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามก็จะต้องมีคำแนะนำให้คำปรึกษาร่วมด้วย เพื่อจะได้ดูว่าเด็กคนนั้นมีปัญหาด้านพฤติกรรมบางอย่างหรือเปล่า ซึ่งถ้ามี เราก็จะแนะนำ ให้คุณพ่อคุณแม่ ไปจัดการซะ ส่วนใหญ่มันก็สืบเนื่องมากับปัสสาวะรดที่นอน และพออาการปัสสาวะรดที่นอนดีขึ้นเนี่ย ปัญหาเรื่องพัฒนาการต่างๆ ก็จะเป็นไป ในทิศทางที่ดีด้วย"
"ก็อยากจะย้ำว่าพ่อแม่มีส่วนช่วยเหลือลูกได้เยอะมากเลย เพราะว่าเด็กเขาไม่สามาถ ช่วยเหลือตัวเองได้หรอกนะคะในเรื่องแบบนี้ พ่อแม่จะต้องเป็นคนช่วยฝึกหัดเด็ก ถ้าพ่อแม่เห็นความสำคัญอันนี้และชักนำไห้เด็กเห็นว่านี่คือปัญหาที่สำคัญที่จะต้องช่วยกัน พ่อแม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำการฝึกเด็ก เพราะว่าหมอเองก็คงจะไปจัดการ กับเด็กไม่ได้ ได้แต่แนะนำแล้วให้พ่อแม่ไปปฏิบัติ ซึ่งถ้าพ่อแม่สามารถที่จะปฏิบัติอย่างที่ เราแนะนำไปได้ เรื่องที่จะหายนั้นก็ง่ายมากไม่ยากเลย"
เรื่องน่าอายที่เด็กน้อยต้องทนเปียกชื้นจากการฉี่รดที่นอนนั้นก็กำลังจะหมดไปด้วยฝีมือ ของเจ้าเครื่องมือเสริมสร้างพฤติกรรมที่เรียกกันว่า Siriraj Pipi Stop แล้วคราวนี้ เด็ก ๆ ก็กล้าเงยหน้าขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับตะโกนให้ใครรู้กันซะทีว่า "หนูไม่ฉี่รดที่นอนแล้วค่ะ"
สรุป ปัสสาวะรดที่นอนกับเครื่องมือที่เรียกว่า Siriraj pipi-stop การรักษาแบบพฤติกรรมบำบัด โดยใช้เครื่องมือที่ทางหน่วยจิตเวชเด็ก-วัยรุ่น, ภาควิชาจิตเวชศาสตร์, โรงพยาบาลศิริราช ได้ประดิษฐ์ เครื่องมือที่เรียกว่า Siriraj Pipi-stop ใช้ในการรักษาปัสสาวะรดที่นอนนี้ โดยอาศัยหลักการเรียนรู้ แบบ Conditioning เครื่องมือนี้ประกอบด้วย แถบผ้าที่ติดกับกางเกงเด็ก ภายในมีตัว Detector ซึ่งถ้าเด็กปัสสาวะ ก็จะโดน Detector จะเกิดเสียงดัง หรือสั่นสะเทือนขึ้น ทำให้เด็กตื่นและลุกไปปัสสาวะ เองได้ กล่าวคือ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับพฤติกรรมเด็ก จากเดิมปัสสาวะขณะหลับ แล้วรดที่นอน มาเป็นตื่นขึ้นมาปัสสาวะเองได้ | ||
ปัสสาวะขณะหลับแล้วรดที่นอน | ---> | เมื่อปัสสาวะจะตื่นขึ้นไปแล้วไปปัสสาวะเองได้ |
---|---|---|
1. เสียงดัง หรือสั่นสะเทือน (unconditioning stimulus) | ---> | ตื่น(unconditioning response) |
2. เสียงดัง/สั่นสะเทือน+ปัสสาวะ (conditionineg stimulus)(conditioned stimulus) | ---> | ตื่น(unconditioning response) |
3. ปัสสาวะ (Conditioned stimulus) | ----> | ตื่น( (Conditioned response) |
ซึ่งเครื่องมือนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาปัสสาวะรดที่นอนได้ถึง 80-90% ปลอดภัย (เพราะว่าใช้กับถ่ายไฟฉายขนาด 9 V) ไม่มีอันตรายใด ๆ ไม่มีการแทรกซ้อน และประหยัดค่ารักษาได้มากกว่าการรักษาโดยใช้ยา
ดังนั้นปัจจุบันการรักษาปัสสาวะรดที่นอน ควรจะเริ่มจากการใช้พฤติกรรมบำบัด โดยใช้เครื่องมือดังกล่าว เพราะมีข้อดีเหนือกว่าการใช้ยารักษามาก ทั้งด้านประสิทธิภาพในการรักษา ความปลอดภัย และการประหยัดค่ารักษา แต่ความสำคัญของการใช้เครื่องมือให้ได้ผลดีนั้น ผู้ปกครองจะต้องมาพบแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงหลักการ และวิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างละเอียดและเคร่งครัด ไม่ควรจะนำไปใช้เอง เพราะถ้าใช้ไม่ถูกต้องตามหลักการและวิธีการรักษาแล้วอาจไม่ได้ผล |
พญ.ฐิตวี แก้วพรสวรรค์
main |