ทองปลิว ไกรแสงศรี
ยุง ที่นำโรคร้ายมาสู่คนมีหลายชนิด ในปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้ป่วยและเสียชีวิต ด้วยโรคที่เกิดจาก ยุงเป็นพาหะ มีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง และอื่น ๆ ก่อให้เกิดความสูญเสีย ทางทรัพยากรบุคคล และเศรษฐกิจ ไปอย่างน่าเสียดาย ที่ผ่านมา ได้มีการศึกษ าค้นคว้า วิจัย ถึงวิธีการ ที่จะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ การใช้สารเคมี
การดำเนินการที่จะกำจัดยุงในทางเบื้องต้นที่เราทำได้คือ การปิดฝาตุ่มน้ำให้มิดชิด คว่ำถังน้ำ ที่ไม่ใช้ การใช้ปลากินลูกน้ำ การใส่เกลือแกงลงในจานรองขาตู้ กระถาง แจกัน เป็นต้น แต่ถ้าเราจะกำจัดยุง โดยใช้สารเคมี ก่อนอื่นต้องดูว่า ยุงที่จะควบคุมเป็นชนิดพันธุ์อะไร มีความเป็นอยู่อย่างไร แหล่งเพาะพันธุ์อยู่ที่ไหน นิสัยการหากินเป็นอย่างไร แหล่งพักหรือหลบซ่อนอยู่ที่ใด การสำรวจ จะช่วยให้เราใช้สารเคมีให้ถูกต้อง ว่าควรจะพ่นเมื่อใด เวลาไหน และพ่นกี่ครั้ง จึงจะควบคุมยุงชนิดนั้นได้ เช่น เรารู้ว่ายุงลาย หากินตอนกลางวัน และหลบซ่อนอยู่ในบ้าน สารเคมีที่ใช้พ่น ควรพ่นตอนเช้า ภายในบ้าน ส่วนยุงรำคาญ หากินตอนกลางคืน และอยู่ตามบริเวณบ้าน ควรพ่นตอนค่ำ นอกบริเวณบ้าน ตามแหล่งขังน้ำสกปรก เช่น ตามใต้ถุนบ้าน ตามท่อระบายน้ำ ตามคู คลองระบายน้ำ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใช้จุลินทรีย์อัดเม็ด ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการวิจัย เพื่อใช้ในภาชนะขังน้ำ นับเป็นการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือมีความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน
สารเคมีที่ใช้กำจัดยุงมาจาก
ผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดยุงมีหลายประเภท มีทั้งชนิดขด ชนิดแท่ง ใส่กระบอกฉีด ชนิดพ่น ชนิดแผ่น ไฟฟ้า เป็นต้น การใช้ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ถ้าเป็นชนิดขด ชนิดแท่ง และชนิดแผ่นไฟฟ้า ไม่ควรจุดในที่อับ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท อย่าจุดใกล้อาหาร วัตถุไวไฟ และไม่ควรอยู่ใกล้เด็กอ่อนและผู้ป่วย ถ้าเป็นชนิดใส่กระบอกฉีด ขณะเทลง กระบอกฉีดควรเทสารเคมีในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท ระวังไม่ให้หกเลอะมือ เมื่อเทเสร็จ ควรปิดกระบอกฉีดให้แน่น ขณะฉีดระวังไม่ให้ละอองสารเคมีเข้าตา หรือหายใจเข้าไป ถ้าทำได้ ควรสวมถุงมือและใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกไว้ ควรให้คนและสัตว์เลี้ยงออกจาก บริเวณที่ฉีดพ่นสารเคมี หลังฉีดพ่นควรทำความสะอาดโดยล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
การเก็บผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดยุง ควรเก็บให้ห่างจากคนและสัตว์เลี้ยง และแยกเก็บจาก ของกิน ของใช้อื่น ๆ สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งห่างความร้อน ไม่ให้แสงแดดส่อง ควรติดฉลากเครื่องหมายแสดงเป็นรูปกะโหลกข้อความ "พิษร้ายแรง" หรือรูปกากบาท ข้อความ "อันตราย" ภาชนะบรรจุที่เป็นกระป๋องหรือกล่อง เมื่อใช้หมดแล้วต้องทำลาย ห้ามนำมาใส่อาหารหรือของใช้อื่น ๆ
การควบคุมกำจัดยุงด้วยสารเคมี ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงจะช่วยให้สามารถกำจัดยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ ประชาชนควรให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ในการฉีดพ่นสารเคมีบริเวณบ้าน การร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายจะช่วยให้สามารถกำจัดยุงได้อย่างได้ผล เป็นการช่วยลดการระบาดของโรคซึ่งมียุงเป็นพาหะได้มากทีเดียว
ทองปลิว ไกรแสงศรี
main |