มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอกจาก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2541]

"ยาชุด" ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ ที่ป้องกันได้

เรียบเรียงโดย ดร.จิรพัฒน์ โพธิ์พ่วง


ภายใต้เศรษฐกิจขาลงทั้งผู้ประการและผู้บริโภคจะต้อง ร่วมมือช่วยกัน ประคับประคอง และฟันฝ่า อุปสรรค ที่กำลังรุมเร้า ให้ผ่านพ้นไปได้ ในกรณี "ยาชุด" ซึ่งมีคนขาย ทำหน้าที่แทนผู้ประกอบการ ร้านขายยา จะต้องมีความเป็นมืออาชีพ และมีจรรยาบรรณ ในการจ่ายยา เพราะขณะที่จ่ายยา เขา กำลังทำหน้าที่ เภสัชกรของร้านขายยานั่นเอง การจ่ายยาเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น ทำให้คนไทย ใช้ยาฟุ่มเฟือย และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

สำหรับผู้บริโภคจะต้องเป็นช่างซักช่างต่อรอง การอยากรู้อยากเห็น ต้องการทราบว่า ยาชนิดใด ใช้รักษาอาการอะไร และเมื่อไม่มีความจำเป็น ต่อการรักษาโรค ก็ไม่ซื้อยาเหล่านั้น จะช่วยประหยัด รายจ่ายของประเทศ ในการนำเข้ายาเป็นจำนวนมาก


การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค เพื่อขายปลีก มีมูลค่าค่อนข้างสูง แต่ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่านำเข้า ลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้นยาที่มี อดรีนัลคอร์เทกซ์ ฮอร์โมน ส่วนการส่งออกนั้น ไทยส่งออกยารักษา หรือป้องกันโรค เพื่อขายปลีกลดลงทุกประเภท ยกเว้นประเภทที่มี อินซูลิน ทำให้ ช่วงเวลาดังกล่าว ไทยขาดดุลการค้า มีสัดส่วนสูง โดยเฉพาะการค้ายา ที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด สามอันดับแรก ไทยขาดดุลทั้งหมด

ประเภทที่ขาดดุลมากที่สุดคือยาที่ไม่มีปฏิชีวนะ ฮอร์โมน อินซูลิน แอลคาลอยด์ วิตามิน ขาดดุลทั้งสิ้น 38.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ ยาปฏิชีวนะ ที่ไม่มีเพนนิซิลลิน สเตรปโตมัยซิน อนุพันธ์ ขาดดุล 4.23 ล้านดอลลาร์ และอันดับ 3 เป็นยาที่มีวิตามิน ซึ่งขาดดุล 1.866 ล้านดอลลาร์

แม้การนำเขายาแต่ละประเภทมีมูลค่าสูงกว่าการส่งออก ยาประเภทเดียวกัน แต่อัตราการนำเข้า ก็ลดลง ซึ่งอาจมีผล มาจากปัจจัยต่าง ๆ ประการแรกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เงินบาทอ่อนตัวลง ถึงร้อยละ 75 โดยเฉลี่ย ประการสอง เกิดจากการบริโภคในประเทศ น้อยลง โดยผู้บริโภคหันมาใช้ยา ที่ผลิตในประเทศ ที่ราคาถูกกว่ามากขึ้น

หากพิจารณายารักษาหรือป้องกันโรคเพื่อขายปลีกที่มูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก จะพบว่า ไทยนำเข้า ยาปฏิชีวนะ มีมูลค่าสูง เนื่องจาก ไทยไม่มีวัตถุดิบ ที่เป็นเคมีภัณฑ์ สำหรับใช้ผลิต แต่มีความจำเป็นสูง ที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และไทยยังนำเข้า วิตามิน มีมูลค่าสูง แม้จะส่งออกลดลงมาก แสดงให้เห็นว่า ไทยมีการส่งเสริมให้มีสุขภาพดี จากการใช้วิตามินแพร่หลายมากขึ้น

สำหรับยาที่นำเข้าที่มีมูลค่าสูงอีกประเภทหนึ่งคือ ยาประเภทที่ไม่มีปฏิชีวนะ ฮอร์โมน อินซูลิน แอลคาลอยด์ วิตามิน ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียเงินตรา ออกนอกประเทศถึง 50 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกได้ เพียง 12 ล้าน ดอลลาร์ ทำให้ขาดดุลถึง 38 ล้านดอลลาร์ภายใน 4 เดือนเท่านั้น เหตุที่ทำให้ต้องวิตกกังวล กับยาประเภทนี้ อาจจะทำให้คนไทยใช้ยาฟุ่มเฟือย

หากสมมติฐานนี้ถูกต้องแหล่งที่ใช้ยาฟุ่มเฟือยมาก ก็น่าจะเป็นร้านขายยา เพราะมียอดจำหน่าย เพื่อขายปลีกสูงกว่าแหล่งอื่น ๆ

สำหรับช่องทางในการจำหน่ายยารักษาหรือป้องกันโรค สำเร็จรูป ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์การแพทย์และอนามัย สถานีอนามัย สถานผดุงครรภ์ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน ร้านขายยา และการส่งออก จำนวนนี้ร้านขายยา เป็นช่องทางจำหน่ายยารักษา หรือป้องกันโรค สำเร็จรูป เพื่อขายปลีกมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 3 ของยอดขายทั่วประเทศ

ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านขายยา ที่มีคนขายยาเป็นผู้จำหน่ายยา จะต้องมีความรับผิดชอบสูง ในการจำหน่ายยา คนขายยา ควรมีความเป็นมืออาชีพ ในการจำหน่ายยา โดยจำหน่ายเฉพาะที่จำเป็น ในการรักษาเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้ ราคายาสำเร็จรูป เพิ่มสูงขึ้น การจ่ายยา ที่เพิ่มปริมาณ และเพิ่มชนิดจนเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้บริโภค ต้องเสียค่ายาเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้บริโภค เกิดการดื้อยาได้ภายหลัง

ด้านผู้บริโภค ต้องรู้ว่าซื้อยาอะไร เพื่อประโยชน์อะไรบ้าง ให้ลงทุนคุ้มค่าที่สุด ผู้บริโภค ควรมีสิทธิ จะถามว่า ตนเป็นโรคอะไร และสามารถปฏิเสธการรักษาด้วยยาบางชนิดได้ ถ้าผู้บริโภคคิดว่า ยาชนิดนั้น ไม่ช่วยรักษา อาการของโรคที่เป็นอยู่

โดยสรุปแล้ว การจำหน่ายยาเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดผลเสียด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ไทย ยังขาดแคลนเภสัชกร และคนขายยาจะคงอยู่ควบคู่ไปกับร้านขายยา ตราบเท่าที่ ร้านขายยา เกิดเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนมาก ทำให้มาตรการกำหนดให้เภสัชกรเป็นผู้จำหน่ายยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เหมือนกับในต่างประเทศ จะต้องใช้เวลา และมาตรการดังกล่าว บรรลุผลได้ยาก เนื่องจากร้านขายยา กระจายอยู่ต่างจังหวัด มากกว่าในกรุงเทพฯ แต่เภสัชกร กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าในต่างจังหวัด คือร้านขายยา ในต่างจังหวัด มีมากกว่า กทม.ถึงร้อยละ 200 แต่เภสัชกร และผู้ช่วยเภสัชกร ในต่างจังหวัดมีมากกว่า กทม.เพียงร้อยละ 40 ความสมดุลดังกล่าว ทำให้มาตรการ ที่จะให้มีเภสัชกร หนึ่งคน ประจำอยู่ในร้านขายยาแต่ละร้าน สามารถปฏิบัติได้ เฉพาะใน กทม.เท่านั้น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร จึงเป็นอุปสรรค ในการดำเนิน มาตรการดังกล่าว

การแก้ระยะสั้น ควรใช้มาตรการรับรองสิทธิผู้ป่วย ทำนองเดียวกับการรับรองสิทธิผู้ป่วย ในการใช้ เครื่องมือแพทย์ ในสถานพยาบาล ซึ่งผู้ป่วย หรือผู้บริโภค จะต้องได้คำตอบ จากผู้ขายยาว่า จ่ายยา ชนิดใด เพื่อประโยชน์ในการรักษา น่าจะทำให้คนขายยา เกิดสำนึก ในการประกอบอาชีพ ซึ่งถ้าไม่มีความจริงใจ ในการประกอบอาชีพแล้ว อาจมีผลต่อการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคต

นอกจากคนขายยาแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพรวมทั้งแพทย์ เภสัชกร มีส่วนสำคัญ ในการดำเนินการ ไม่ให้มี การสั่งยา และจ่ายยาเกินความจำเป็น ซึ่งทุกฝ่าย ต้องช่วยกัน จึงจะสามารถฟันฝ่าวิกฤต เศรษฐกิจ ให้ผ่านพ้นไปได้

ดร.จิรพัฒน์ โพธิ์พ่วง


[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1