มูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ บุหรี่ที่วางขายในเมืองไทยจะต้องพิมพ์คำเตือนแบบใหม่ อยู่ด้านบนของซอง พื้นดำตัวขาว โดยมี 10 คำเตือนให้หมุนเวียนกันไป และ 1 ในนั้น คือ "บุหรี่ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม"
หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เราจะพบคำเตือนบนซองบุหรี่ในเมืองไทยก้าวหน้าขึ้นมา เรื่อย ๆ นับตั้งแต่มีการพิมพ์ครั้งแรกแอบไว้ข้างซองว่า "การสูบบุหรี่ อาจเป็นอันตราย ต่อสุขภาพ" เมื่อปี 2517 และ ปรับมาเป็น "การสูบบุหรี่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ" เมื่อปี 2525 และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฉบับที่ 5 พ.ศ.2540 กำหนดให้บุหรี่ ที่ผลิตในประเทศไทย หรือนำเข้า จะต้องจัดให้มีการพิมพ์คำเตือน เป็นภาษาไทย โดยมีคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ 10 ข้อความ คละกัน ครอบคลุมทุกประเด็นที่สำคัญ และเป็นประเทศเดียวในขณะนี้ ที่มีการพิมพ์คำเตือนว่า "บุหรี่ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม"
ไม่ว่าคนสูบจะอ่านคำเตือนก่อนหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบหรือไม่ก็ตาม แต่องค์กรอนามัยโลก ถือว่าการพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่เป็นการให้ข้อมูลเรื่องอันตรายจากการสูบบุหรี่ แก่ประชาชนที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นการให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
จากรายงานการศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทย โดย น.พ.สุภกร บัวสาย และคณะ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2540 พบว่า เยาวชนสองกลุ่ม (15 ปี และ 22 ปี) ทั้งชายและหญิง กว่าร้อยละ 80 สังเกตเห็นคำเตือนบนซองบุหรี่ โดยเฉพาะกลุ่มที่สูบบุหรี่ กว่าร้อยละ 90 สังเกตเห็นคำเตือน สำหรับผลของคำเตือนของซองบุหรี่ว่ามีอิทธิพลต่อเยาวชนทั้งที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ แค่ไหนนั้น พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 30 รู้สึกว่าทำให้เกิดความยั้งคิด และอีกประมาณ ร้อยละ 10 เห็นว่าทำให้ได้มีความรู้เกี่ยวกับโทษภัยของบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ประมาณร้อยละ 40 รู้สึกเฉย ๆ
สำหรับในกลุ่มเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เยาวชนร้อยละ 42 บอกว่า ทำให้รู้สึกไม่อยากสูบและร้อยละ 31.5 บอกว่าทำให้ได้ความรู้
ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบถึงคำเตือนบนซองบุหรี่ โดยเปรียบเทียบคำเตือนแบบเก่าและแบบใหม่ พบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่สามารถสังเกตเห็นคำเตือนและตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 44 และมีผู้สูบบุหรี่ตัดสินใจเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 14
ในประเทศแคนาดา พบว่าคำเตือนบนซองบุหรี่ทำให้ร้อยละ 50 ของผู้สูบบุหรี่ พยายามลดจำนวนการสูบบุหรี่ลง หรือกำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่
นอกจานี้ การมีคำเตือนบนซองบุหรี่ที่ชัดเจนยังเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการควบคุม บุหรี่ลักลอบหนีภาษี ทั้งนี้เพราะว่า บุหรี่หนีภาษีของทั่วโลกจะไม่มีการพิมพ์คำเตือน บนซอง ในประเทศที่เข้มงวดจริง ๆ ผู้ที่สูบบหุรี่ที่ไม่มีคำเตือนบนซอง จะเป็นที่เพ่งเล็ง และอาจถูกตำรวจนำสืบ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของบุหรี่หนีภาษี เพื่อประโยชน์ในการ ปราบปราม เพราะบุหรี่หนีภาษี นอกจากจะทำให้รัฐบาลขาดรายได้มหาศาลแล้ว ยังอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้สูบมากกว่า เนื่องจากอาจเป็นบุหรี่ที่ตกค้าง และหมดอายุแล้ว ก็ได้ ที่สำคัญบุหรี่หนีภาษีที่มีอยู่ในตลาดจำนวนมากจะเป็นอุปสรรคต่อการที่ประเทศหนึ่ง ๆ ที่จะใช้มาตรการทางภาษีเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ พูดอีกนัยหนึ่ง บุหรี่หนีภาษี ทำให้รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ได้มาก เพราะหากขึ้นภาษีบุหรี่ที่ขายอย่างถูกกฎหมาย สูงเกินไป จะทำให้ส่วนต่างระหว่างบุหรี่ถูกกฎหมาย และบุหรี่หนีภาษีราคาต่างกันมาก ผู้สูบบุหรี่จะหันไปสูบบุหรี่หนีภาษีมากขึ้น ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเรื่องการออกคำเตือนของบนซองบุหรี่ ในประเทศต่าง ๆ พบว่าร้อยละ 42 ของประเทศที่ตอบแบบสอบถาม ไม่มีคำเตือนบนซองบุหรี่ หรือมีเพียงคำเตือนทั่ว ๆ ไป เช่น การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของ โรคมะเร็ง สาเหตุหลัก ที่ประเทศจำนวนมากในโลกนี้ ยังไม่มีคำเตือนบนซองบุหรี่ เพราะบริษัทบุหรี่ไม่ต้องการ และขัดขวางการออกกฎหมายให้มีคำเตือนบนซองบุหรี่ ทุกวิถีทาง เพราะบริษัทบุหรี่รู้ดีว่า การมีคำเตือนบนซองบุหรี่ส่งผลทางจิตวิทยาต่อสังคม ค่อนข้างมาก และกฎหมาย คำเตือนบนซองบุหรี่ เป็นการปูทางไปสู่กฎหมายควบคุม การสูบบุหรี่อื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อยอดขายบุหรี่ในระยะยาว
คำเตือนบนซองบุหรี่ จึงเป็นสื่อรณรงค์อย่างหนึ่งที่มีบทบาทในการลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนงบประมาณในการรณรงค์ ในรูปแบบอื่น ๆ เพราะคำเตือนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถกำหนดเป็นกฎหมายให้ บริษัทบุหรี่ต่าง ๆ ปฏิบัติตามได้ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทบุหรี่เอง
มูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่
main |