มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2541]

ไม่อ้วน…เอาเท่าไร

มะลิ ไพฑูรย์เนรมิต


คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่ "ชั่งน้ำหนัก แล้วพบว่าตัวเลขบนหน้าปัดขึ้นอย่างน่าใจหาย" รู้สึกอุ้ยอ้าย เดินเหินไม่คล่องตัวเหมือนแต่ก่อน ฯลฯ ถ้าใช่ คุณควรต้องเตือนตัวเองได้แล้วว่า "ความอ้วนกำลังมาเยือน" และคุณควรหาวิธีควบคุมหรือลดน้ำหนักได้แล้ว

การที่จะบอกว่าใครอยู่ในเกณฑ์อ้วนหรือผอม เราสามารถใช้ค่าดัชนีความหนาของร่างกาย เป็นสิ่งชี้บอกได้ วิธีคิดไม่ยากคือใช้สูตร

ดัชนีความหนาของร่างกาย = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วย (ส่วนสูงเป็นเมตร)2

ค่าดัชนีความหนาปกติในผู้ใหญ่คือ 20-24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร
ถ้าต่ำกว่า 20 กิโลกรัม/ตารางเมตร จัดว่า "ผอม"
แต่ถ้ามีค่าตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร ขึ้นไป จัดว่า "อ้วน"

ตัวอย่างการหาดัชนีความหนา นาย ก. มีน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม สูง 1.70 เมตร ดัชนีความหนาของร่างกาย = 80/(1.70)2 = 27.68
แสดงว่านาย ก. เป็นคนอ้วน เพราะมีดัชนีความหนาเกิน 24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร

หรือบางคนพิจารณาได้จากน้ำหนักตัว ซึ่งคณะแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการคำนวณ และจัดทำตารางความสูง และน้ำหนักมาตรฐาน ของผู้ใหญ่ไทย ในช่วงอายุต่าง ๆ ให้ดูอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องเสียเวลาคิด (ดูตารางเปรียบเทียบ)

ความสูง (ซม.) น้ำหนักตัว (กก.)
ชายช่วงอายุ (ปี) 15-19 20-34 35-64 65-68
150-154 40-44 45-51 47-55 43-51
 155-159   45-50 49-55 50-58 43-49
160-164 49-53 51-57 53-61 49-59
  165-169  51-57 53-61 55-6652-58
170-174 56-62 57-65 59-69 58-64
 175-179  57-64 57-65 59-69 -
 
หญิง ช่วงอายุ (ปี) 15-29 30-35 36-64 65-88
140-144 39-45 39-44 36-46 42-45
 145-149   42-48 45-53 42-48 38-46
150-154 43-50 47-55 46-54 44-54
 155-159  45-55 51-60 50-58 43-53
160-164 50-58 53-63 - -
 165-169  53-57 55-65 - -

แต่ถ้าคุณอยู่ในช่วงอายุ หรือความสูงที่นอกเหนือจากตาราง ก็สามารถคำนวณดูจากสูตรต่อไปนี้
น้ำหนักตัวที่เหมาะสมของผู้ใหญ่เพศชาย (กก.) = (0.67*ความสูงเป็นซม.) - 52.61
น้ำหนักตัวที่เหมาะสมของผู้ใหญ่เพศหญิง (กก.) = (0.69*ความสูงเป็นซม.) - 56.67

ความอ้วน นอกจากจะทำให้ตัวเองรู้สึกอึดอัด ไม่กระฉับกระเฉงและเสียบุคลิกภาพแล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคไตพิการ โรคเบาหวาน โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และโรคมะเร็ง บางชนิด ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นโรคร้ายที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้เสมอ

โรคอ้วนเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบมากและสามารถป้องกันได้คือ การกินอาหารเกินความต้องการ ดังนั้น การลดความอ้วนที่ถูกต้องและปลอดภัยก็คือ ต้องควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานของร่างกายในแต่ละวัน และต้องอาศัยเวลาในการลดพอสมควร แต่ก็มีคนอ้วนจำนวนมากต้องการลดความอ้วน อย่างรวดเร็ว โดยใช้ยาลดความอ้วน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ควรใช้ เพราะจะมีผลเสียตามมา หลายประการ

ยาลดความอ้วนในปัจจุบันมีหลายประเภท ได้แก่
ยากลุ่มใกล้เคียงกับยาแอมเฟตามีน (ที่รู้จักกันว่า ยาบ้า) เป็นยากระตุ้นประสาท ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่ม ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร และเกิดอาการที่ไม่พึ่งประสงค์มากมาย เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ความดันโลหิตสูง มึนงง ปวดศีรษะ ถ้าใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เกิดการติดยาได้

ยาลดความอ้วนกลุ่มพวกสารไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหาร สารพวกนี้สามารถพองตัวในน้ำได้ เมื่อกินเข้าไปเกิดการพองตัวในกระเพาะอาหารและสามารถช่วยดูดซับไขมันได้บ้าง แต่ไม่สามารถขจัดไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากอาหารพวกข้าว แป้ง และน้ำตาลได้ ถ้าใช้ต่อเนื่อง ก็อาจทำให้น้ำหนักลดลง จาการรับประทานอาหารน้อยลง แต่จะทำให้มีอาการขาดสารอาหาร อ่อนเพลียง่าย ไม่สดชื่น ผิวหนังเหี่ยว เป็นตะคริวบ่อย เมื่อหยุดใช้ยา ก็จะหิวและจะกลับมารับประทานอาหาร ในปริมาณมากขึ้น เพราะกระเพาะอาหารเคยมีไฟเบอร์พองตัวตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีคนนำยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ ยาที่ทำให้อุจจาระรวมตัวเป็นก้อนในลำไส้ (Bulk producing agent) มาใช้ในการลดความอ้วน อันที่จริงแล้วยาพวกนี้ ไม่ได้ผลในการลดความอ้วน และยังทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย เพราะจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร

จะเห็นได้ว่า ยาลดความอ้วนนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้ยาไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้อยู่ในความควบคุมของแพทย์ วิธีลดความอ้วนที่ดี และปลอดภัยที่สุดคือ การควบคุมการ รับประทานอาหาร โดยการจำกัดปริมาณอาหาร ให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย อย่ารับประทานอาหารมากเกินไป และต้องบริโภคให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เลือกบริโภคอาหาร ที่มีกากมาก ๆ เช่น ผัก ผลไม้ บริโภคอาหารเป็นเวลา ควรรับประทานอาหารด้วยวิธี นึ่ง ต้ม ปิ้ง ย่าง หลีกเลี่ยงอาหารทอดในน้ำมัน อาหารหวาน และอาหารมันทุกชนิด งดเครื่องดื่ม ที่มีอัลกอฮอร์ ที่สำคัญต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดความอ้วนอย่างได้ผล และไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียง ที่จะเกิดขึ้นตามมา ให้เสียสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นไปอีก

มะลิ ไพฑูรย์เนรมิต


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1