นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
เราเกือบทุกคนจะเคยประสบอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ จนมีอาการข้อเท้าแพลงหรือ ข้อมือเคล็ด กันมาแล้ว โชคดีที่ว่าภาวะนี้หายได้เองในเวลาที่ไม่นานนัก แม้กระนั้นก็ตามหลายต่อหลายคนยังไม่รู้จักวิธีรักษาง่าย ๆ ที่ได้ผล และสามารถทำ ด้วยตนเอง ณ ที่บ้านหรือที่ทำงาน
ในบรรดาการเจ็บทั้งหลายแล้ว ข้อเคล็ด นับเป็นหนึ่งในภาวะที่พบบ่อยที่สุด โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดกับเนื้อรอบ ๆ ข้อ ถ้าแบ่งการรุนแรงของการบาดเจ็บรอบ ๆ ข้อแล้ว ข้อเคล็ดซึ่งฝรั่งเรียกว่า สเปรน (sprain) ถือว่ารุนแรงปานกลางระหว่างข้อตึง หรือกล้ามเนื้อฉีก (Strain) และข้อเคลื่อนหรือกระดูกหัก (Dislocation or Fracture)
ข้อเคล็ดอาจเกิดได้กับทุก ๆ ข้อ แต่บางข้อจะเกิดบ่อยเนื่องจากตำแหน่งที่อยู่เอื้ออำนวย ให้ จึงเห็นได้ว่าข้อเท้าเป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดข้อเคล็ดหรือเท้าแพลงมากที่สุด เนื่องจากต้องรับน้ำหนักร่างกายเกือบทั้งหมดและเป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมาก ในกิจกรรมประจำวันของคนเราจะมีโอกาสเป็นแล้วเป็นซ้ำบ่อยกว่าข้ออื่น ๆ
สาเหตุ
ข้อเคล็ดมักเป็นผลจากการหมุนตัวหรือยืดตัวของข้อจนเกินขอบเขตที่ธรรมชาติกำหนดไว้ ซึ่งถ้าหากแรงที่มาก่อให้เกิดการหมุนหรือเหยียดตัวมีมากพอก็จะนำไปสู่การเกิดข้อเคลื่อน หรือแม้แต่กระดูกหักได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงเอ็นยึดข้อ (Ligament) เท่านั้นที่ได้รับ ผลกระทบ เอ็นยึดข้อเป็นเนื้อเยื่อพังผืดที่ยืดหยุ่นได้ (Fibro-Elastic Tissue) และมีความเหนียวมากพอควร ทำหน้าที่ยึดกำกับข้อต่าง ๆ ไว้ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้ข้อหลุดหรือเคลื่อน
เวลาก้าวพลาดขณะเดินผ่านพื้นต่างระดับหรือลงบันได หรือเกิดเท้าพลิกขณะสวมรองเท้า ส้นสูง ขณะที่ข้อเท้าพลิกไปนั้น เอ็นยึดข้อจะพยายามต้านแรงดึงที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ในขณะนั้น ในกรณีที่ต้านไม่อยู่เพราะแรงดึงตัวสูงมาก เส้นใยของเอ็นยึดข้อก็จะเริ่มมีการ ฉีกขาดบางส่วนหรือเกือบทั้งหมดตามความรุนแรง แต่โอกาสที่จะฉีกขาด 2 ท่อนไปเลย จะมีน้อยมาก
นอกจากข้อเท้าแล้ว ข้อมือก็เกิดการเคลื่อนได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่นเวลาหกล้ม แล้วเอามือไปยันพื้นอย่างแรง ส่วนข้อใหญ่อื่น ๆ เช่น ข้อเข่า, ข้อสะโพกก็คล็ดได้ จากการออกกำลังกาย และคอเคล็ดมักเกิดจากอุบัติเหตุจราจร เมื่อเราขับรถยนต์อยู่ แล้วเกิดไปชนท้ายรถหรือถูกรถอื่นมาชนท้าย ทำให้ส่วนศีรษะของเรา มีการเคลื่อนที่ ไปข้างหน้า และกลับหลังอย่างแรงขณะที่รถหยุด
ข้อเคล็ด อาจแบ่งเป็น 3 ระดับความรุนแรง |
|
เมื่อพูดถึงข้อเคล็ดหรือ Sprain ก็คงต้องเน้นให้รู้จักกับคำว่า Strain (สะเตรน) ด้วย เพราะสะกดคล้าย ๆ กัน แต่สะเตรนจะหมายถึงการเหยียดออกหรือการฉีกขาดบางส่วน ของกล้ามเนื้อ จึงมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อที่เกิดการหดตัวแรง ๆ ในทันที เช่น กล้ามเนื้อต้นขาที่เราเรียกว่า แฮมสตริง (Hamstring) ที่เกิดการฉีกขาดเวลานักกีฬาออกวิ่ง และเร่งความเร็วเกินไป
ในทำนองเดียวกันกล้ามเนื้อที่หลังก็เป็นได้ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งรุนแรงน้อยกว่า ที่ปวดหลังเนื่องจากกระดูกสันหลังเคลื่อน
ปัจจัยหนุนทำให้เกิดกล้ามเนื้อฉีกมีอาทิเช่น การเตรียมร่างกายไม่ดีพอ, ความเหนื่อยอ่อน, ความอ่อนแอและการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังที่ไม่ถูกต้อง
อาการของกล้ามเนื้อฉีกก็คือปวดเวลาจะเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้น
แนวทางบำบัดรักษา
เนื่องจากอาการบวมที่เกิดขึ้นรอบ ๆ บริเวณเอ็นยึดข้อจะเกิดขึ้นเร็วมากหลังจากเกิดข้อเคล็ด พร้อมกับอาการปวด บริเวณที่เจ็บมากที่สุดก็คือบริเวณที่มีการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อเกิดขึ้น
การรักษาข้อเคล็ดและกล้ามเนื้อฉีกขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ และในกรณีข้อเคล็ด อาจหมายรวมว่ามีการบาดเจ็บของข้อหรือกระดูกหักร่วมด้วย ซึ่งในกรณีดังกล่าวจำเป็นต้อง ได้รับการตรวจรักษาจากคุณหมอ แต่ถ้าเป็นเพียงข้อเคล็ดหรือกล้ามเนื้อฉีกทั่ว ๆ ไป สิ่งที่จะต้องรีบทำเป็นการปฐมพยาบาลหรือถือได้ว่าเป็นการรักษาที่สำคัญมากคือ มาตรการ PRICE ซึ่งเป็นคำย่อของมาตรการ 5 อย่างที่ต้องปฏิบัติทันที กล่าวคือ
P = Protection เมื่อเกิดข้อเคล็ดหรือกล้ามเนื้อฉีกขึ้นแล้วกรุณาอย่าดึงดันใช้งานข้อนั้นต่อ เพราะจะทำให้อาการเลวลง โปรดพักการใช้อวัยวะนั้น แล้วใช้ผ้ายืดพันหรือคล็องแขน (ถ้าเป็นข้อที่แขนหรือมือ) ใช้เฝือกชั่วคราว ดามหรือใช้ไม้เท้า หรือไม้ค้ำตามคำแนะนำ ของคุณหมอ หรือนักกายภาพบำบัด
R = Rest
คือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือบวม
I = Ice
ใช้น้ำแข็งห่อไว้ในถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าห่มเล็ก ๆ หลาย ๆ ชั้น แล้วประคบลงบนพื้นที่ที่ปวดบวม หรือจะใช้ถุงน้ำแข็งนั้นนวดคลึงเป็นวงกลม ระยะแรกนี้จะเป็นการให้ความเย็น ซึ่งตอนต้นอาจทำให้รู้สึกแสบ ตามมาด้วยความปวด และชาในที่สุด โดยขั้นตองเหล่านี้จะใช้เวลา 5-7 นาทีกว่าจะเริ่มรู้สึกชา ถ้าหากบริเวณที่ประคบเริ่มกลายเป็นสีขาวหรือน้ำเงินคล้ำ ก็ให้หยุดการประคบด้วยน้ำแข็ง เพราะอาจหมายความว่าให้ความเย็นจนเกินเลยไปถึงขั้นหิมะกัด (Frostbite) แล้ว
ในกรณีปกติทั่วไปขอให้ประคบด้วยความเย็นครั้งละไม่เกิน 20 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง กรุณาอย่าเพิ่งประคบด้วยความร้อน
C = Compression
ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อที่เคล็ดหรือกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด แต่อย่าพันให้แน่นจนเกินไป การพันแนบเนื้อเช่นนี้จะลดการบวมและฟกช้ำได้
E = Elevation
ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสก็ขอให้ยกบริเวณที่บาดเจ็บขึ้นสูง ซึ่งในบางแห่ง อาจไม่สะดวกที่จะทำ ให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อจำกัดการบวม
มาตรการ PRICE นี้ ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ ถ้ามันช่วยให้ท่านหายเร็วขึ้น หลังจากสองวันแรกแล้ว ค่อยเริ่มใช้งานบริเวณที่บาดเจ็บ ซึ่งท่านจะเห็นว่า ข้อส่วนนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นในการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักของตัวเรา
ตามปกติข้อเคล็ดขนาดเบาและปานกลางจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าถึงเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ขอให้ไปปรึกษาคุณหมอ
ในกรณีที่เห็นว่าเป็นข้อเคล็ดชนิดรุนแรง หลังจากประคบด้วยนำแข็งแล้ว ขอให้รีบเดินทาง
ไปหาคุณหมอทันทีเพราะถ้ารักษาช้าเกินไปหรือรักษาอย่างไม่ถูกต้อง จะกลายเป็น ปวดเรื้อรัง บวมและรู้สึกว่าข้อไม่มีเสถียรภาพทำให้ใช้งานข้อนั้นไม่ได้ดีในโอกาสต่อไป
อีกประการหนึ่ง ข้อเคล็ดประเภทรุนแรงอาจมีกระดูกหักร่วมด้วย ซึ่งจะต้องรักษามากกว่า แค่มาตรการ PRICE และอย่าลือมว่าข้อเคล็ดขนาดปานกลางและรุนแรงในระยะแรก ๆ อาจดูคล้าย ๆ กัน ในกรณีที่สงสัยก็ขอให้ปรึกษาคุณหมอไว้ก่อนเป็นดีแน่
แม้ในกรณีกล้ามเนื้อฉีกก็ตาม ถ้าหากอาการบวมทวีขึ้นอย่างรวดเร็วก็อย่าอยู่เฉยๆ รีบไปพบคุณหมอก่อนที่จะสูญเสียสมรรถภาพของกล้ามเนื้อนั้น
เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเคล็ดและกล้ามเนื้อฉีกขาด หลีกเลี่ยงพื้นที่สัญจร ที่ไม่ปลอดภัย และพยายามสร้างโปรแกรมการบริหารกายเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของร่างกาย
นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
main |