นพ.ธวัช ประสาทฤทธา
ข้อเสื่อมเป็นเรื่องที่สามารถรักษาได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง
และหากต้องรักษาโดยแพทย์ก็มีวิธีการที่น่าสนใจ เรามาดูกันตั้งแต่อาการ
การรักษา การป้องกันกันเลย
อาการของโรคข้อเสื่อม
ระยะเริ่มต้น ที่สำคัญคือ อาการปวดบวมแดงร้อนของข้อ
อาการปวดอักเสบดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนภัย
เพื่อเตือนให้ลดการใช้งานลง ให้ข้อได้พัก อาการอักเสบจะได้ทุเลาลง
แต่ถ้ายังคงใช้งานต่อ ข้ออาจมีของเหลวเพิ่มขึ้น
เมื่อตรวจข้อจะพบข้อบวมมากขึ้น
ระยะปานกลาง เมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อน ข้อจะมีการอักเสบภายหลังการใช้งานกล้ามเนื้อเริ่มปวดเมื่อย
อ่อนแรง ข้อเริ่มโค้งงอ ที่เห็นชัดเจน คือข้อเข่า ที่เริ่มโค้งงอมากขึ้น
พิสัยการเคลื่อนไหวเริ่มติดขัด เหยียดงอไม่สุดเหมือนปกติ
ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น
ข้อเริ่มหลวมไม่มั่นคง ข้อหนาตัวขึ้น จากกระดูกงอกหนา
ข้อโก่งงอ ผิดรูปชัดเจน เวลาเดินต้องกางขากว้างขึ้น
เพื่อเสริมความมั่นคง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง
ขณะลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรง
การรักษาโรคข้อเสื่อม
มีวิธีที่สามารถรักษาโรค โดยตนเองและโดยแพทย์ดังนี้
1. ลดน้ำหนัก
1.1 การตรวจสอบน้ำหนักว่าเกินเกณฑ์หรืออ้วนเกินไป
สูตรดรรชนีมวลกาย (body mass index) คือ ใช้น้ำหนัก (กิโลกรัม)
เป็นตัวตั้งหารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
สูตร body mass index (BMI)=น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (ม.2)
ถ้า BMI ไม่เกิน 25 กก./ม.2 ถือว่า น้ำหนักไม่เกิน
ถ้าเกิน 30 กก./ม.2 ถือว่าอ้วน
1.2 วิธีการลดน้ำหนัก
- ดื่มน้ำต้มสุกก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ
ถ้าท้องผูกให้เพิ่มการดื่มน้ำในตอนเช้า ประมาณ 3-4 แก้วทุกเช้า
- ลดอาหารรสหวาน ของหวาน น้ำหวาน ผลไม้หวาน
นมข้นหวาน ฯลฯ
- งดของมันทุกชนิด ได้แก่ ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด
ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู แกงกะทิ ฯลฯ
- รับประทานอาหารให้พออิ่มทุกมื้อ
2. การรักษาโดยการใช้ยา
2.1 ยากิน ยาที่แพทย์สั่งให้ได้แก่ ยาแก้ปวด (แอสไพริน
พาราเซทตามอล) และยาแก้อักเสบ (ไดโครฟีแนค, ไพร็อกซิแคม
อินโดเมทาซิน ฯลฯ) ยาแก้อักเสบเหล่านี้ ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ) การใช้ยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเพื่อลดปวดและลดการอักเสบ
ถ้าไปใช้งานหรือรับน้ำหนักอีก ข้อก็จะอักเสบอีก
ผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบ คือ ผลต่อไต ผลระคายกระเพาะอาหาร
และลำไส้อันอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ มีแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหารทำให้อุจจาระดำ
2.2 ยาฉีด ยาที่ฉีดเป็นยาจำพวกสเตียรอยด์
เป็นการฉีดเข้าข้ออักเสบเฉพาะที่ ข้อเสียของการฉีดยา
(มีมากกว่าข้อดี) ได้แก่
- ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น การฉีดยาจะส่งสัญญาณเตือนภัย
คือ อาการเจ็บปวด (แต่ข้อยังคงมีการอักเสบอยู่) เมื่อฉีดยาแล้ว
อาการปวดหมดไป ก็จะเริ่มใช้งาน เริ่มเดิน ยืน ตามปกติ
ข้อก็จะอักเสบเพิ่มขึ้น
- มีโอกาสติดเชื้อ
- ยาสเตียรอยด์จะตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อเสื่อมเร็ว
- เสียเงินค่าฉีดยาโดยไม่จำเป็น
ข้อบ่งชี้การฉีดยาคือ อาการปวดที่รุนแรง
เมื่อฉีดแล้วต้องพักข้อข้างที่ถูกฉีดให้เต็มที่ไม่ให้รับน้ำหนัก
หรือใช้งานเวลา 1-2 สัปดาห์
3. การรักษาโดยการผ่าตัด
3.1 ใช้การส่องกล้องเพื่อกวาดล้างสิ่งแปลกปลอมในข้ออก
3.2 ตัดกระดูกและจัดกระดูกที่โก่งงอให้ตรง
3.3 เปลี่ยนข้อเทียม ในกรณีที่ข้อเสื่อมขั้นรุนแรง
4. การใช้เครื่องช่วยพยุงเข้าและใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อ เครื่องช่วยพยุงข้อชนิดต่างๆ จะเสริมความมั่นคงของข้อให้กระชับและแข็งแรงขึ้น
แต่ต้องหมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ
เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อลีบเล็กลง
การป้องกันโรคข้อเสื่อม
การป้องกันในรายที่ยังไม่มีอาการใดๆ ได้แก่
1. จำกัดอาหารมันและหวานเพื่อมิให้น้ำหนักเกินพิกัด
อาหารที่แนะนำ คือผักผลไม้ที่ไม่หวาน เต้าหู้ เนื้อปลา
วุ้นเส้นที่ทำจากถั่วเขียวและดื่มน้ำต้มสุก ลดน้ำหวาน
น้ำอัดลม
2. หลีกเลี่ยงการใช้งานที่เกินกำลัง
และท่าทางที่จะทำให้ข้อมีความดันเพิ่มสูง ได้แก่ ท่านั่งยองคุกเข่า
พับเพียบ ท่าก้มหลัง เป็นต้น
3. บริหารร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
4. หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากอุบัติที่อาจทำให้กระดูกหักผ่านข้อ
เอ็นยืดข้อฉีกขาด ข้อแพลง เป็นต้น
5.ตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกปี
การป้องกันในรายที่ข้อมีอาการปวดบวมอักเสบ
ที่สำคัญคือการป้องกัน การโก่งงอผิดรูปของข้อได้แก่
1. ลดน้ำหนัก เปลี่ยนข้าวเป็นข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้อง
2. ลดการใช้งานเข่า การวิ่งหรือจ๊อกกิ้งจะทำให้ข้อเข่า
ต้องรับน้ำหนัก 10 เท่าของน้ำหนักตัว การเดินเข่าจะรับน้ำหนัก
ประมาณ 4.5 เท่าของน้ำหนักตัว ส่วนการถีบจักรยาน
เข่าจะรับน้ำหนักเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัว
3. ประคบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเมื่อข้อเกิดการอักเสบ
4. ใช้เครื่องช่วยพยุงข้อ หรือใช้ไม้เท้าช่วยเดินขณะเกิดการอักเสบ
5. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า และออกกำลังกาย
ให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
6. กินยาแก้ปวด แก้อักเสบ เป็นครั้งคราว
หลีกเลี่ยงการฉีดยาเข่าข้อ
|