ลูกเป็นหวัดก็เป็นหอบหืดได้
รู้ไว้ป้องกันภัยหอบหืดให้ลูกเสียแต่วันนี้
ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ
โรคหอบหืดของเด็กมักจะพบในครอบครัวที่ภูมิแพ้ เช่น
พ่อ หรือ แม่ ที่เป็นหวัดหรือไม่สบายง่ายกว่าคนอื่น อาการไอแล้วตามมาด้วยอาการหอบหืดมักเกิดหลังจากลูกอายุ 1 ปี จะพบได้บ่อยในเด็กที่ทานนมผสมแทนนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด
สิ่งกระตุ้น
การเป็นหวัด น้ำมูกไหลในเด็กอายุน้อยกว่า 2-3 ปี จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ลูกเกิดอาการไอแล้วหอบหืดตามมา สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่มักจะมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด
เช่น ไรฝุ่น หรือละอองเกสรต่างๆ
ลูกหอบอีกแล้ว
ควรสังเกตการหายใจของลูกให้ดีว่ามีอาการหอบหืดหรือไม่ อาการหอบหืดจะสังเกตได้จากการหายใจ ให้สังเกตบริเวณใต้ชายโครง
และยอดอกของลูกบุ๋มลงเวลาหายใจ ยิ่งบุ๋มลึกเท่าใดยิ่งแสดงว่า
ลูกหอบมากเท่านั้น และเมื่อหอบมากขึ้นบริเวณปลายจมูกของลูก
จะบานออกตามการหายใจ ถ้าเอาหูไปแนบฟังหน้าอกของลูก
ช่วงหายใจออกจะได้ยินเสียง วี๊ด...วี๊ดเบาๆ ตลอดการหายใจออก
การดูแลรักษา
สำหรับลูกที่เป็น หอบ หืดบ่อย ควรให้ยาขยายหลอดลม
ทานทันทีที่เริ่มมีอาการไอ ยาขยายหลอดลม มี 2 กลุ่ม
โดยยากลุ่มที่ 1 ได้แก่ บริคานิล เวนโตลิน และเมพติน ให้คุณเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในกลุ่มนี้ให้แก่ลูก
โดยมีขนาดยาตามที่หมอแนะนำ ไม่ควรให้ลูกทานยากลุ่มนี้เกินขนาด
หรือทานยาในกลุ่มนี้พร้อมกัน 2 ชนิด เพราะฤทธิ์ยาจะเกินขนาด
ทำให้มือและใจสั่นได้ ในขณะที่ยากลุ่มที่ 2 คือ ทรีโอฟิลลิน
และอะมิโนฟิลลิน สามารถเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งในกลุ่มนี้
ในขณะที่ลูกมีอาการหอบหืด ควรเลือกให้ยาในกลุ่มที่ 1
จะได้ผลรวดเร็วกว่ายาในกลุ่มที่ 2 สำหรับยากลุ่มที่ 2 นี้ควรให้ลูกทานทุกคืนในระยะที่มีอาการหอบหืดบ่อย เช่น
ในฤดูฝนหรือฤดูหนาว
ในภาวะฉุกเฉินที่ลูกเกิดอาการหอบหืดขึ้นมาฉับพลัน ยาชนิดใช้สูดด้วยปากหรือพ่นเข้าไปในปาก แล้วให้ลูกหายใจเข้าทันที จะช่วยลดอาการหอบหืดชนิดเฉียบพลัน ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ สมควรที่จะมียาพ่นหรือยาสูดดมไว้ประจำบ้านครับ
การป้องกัน
1. ป้องกันไม่ให้ลูกเป็นไข้หวัด เพราะอาการไข้หวัด
มักจะเป็นสาเหตุนำให้เกิดอาการหอบหืด โดยพยายามให้ลูก
อยู่ห่างจากคนที่เป็นไข้หวัด ใช้แก้วน้ำคนละใบกับผู้ที่เป็นไข้หวัด และอุณหภูมิห้องนอนของลูกไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส
2. ควรกำจัดฝุ่นในห้องนอนลูกอย่างสม่ำเสมอ
ขณะดูดฝุ่นตามที่นอนหรือผ้าห่มต่างๆ
ไม่ควรให้ลูกอยู่ในบริเวณนั้น
3. เมื่อลูกเริ่มมีน้ำมูกไหลควรให้ยาขยายหลอดลม กลุ่มที่ 1
(ซึ่งได้แก่บริคานิล, เวนโตลิน, เมพติน ดังได้กล่าวมาแล้ว)
แก่ลูกทานทันที และควรหลีกเลี่ยงยาลดน้ำมูก ในช่วง 1-2 วันแรก
ที่เริ่มมีน้ำมูก เพราะยาลดน้ำมูกจะทำให้เสมหะเหนียวมาก
ร่างกายจะขับเสมหะไม่ออก ส่งผลให้ไอมากขึ้นและเกิดอาการหอบหืดตามมา
4. ให้ดื่มน้ำและพักผ่อนมากๆ เมื่อลูกเริ่มไม่สบาย
ควรงดอาการออกกำลังกายที่ใช้กำลังมากๆ เช่น ว่านย้ำ ฟุตบอล
อย่าลืม โรคหอบหืดจะเป็นห่างขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น
ส่วนใหญ่จะเป็นมากในช่วง 2-3 ปี เมื่อผ่านพ้นช่วงอนุบาลที่ 1 ไปแล้วอาการหอบหืดจะลดน้อยลงตามลำดับ จนเกือบจะไม่มีอาการอีกเลย
หรืออาจจะนานๆ ครั้ง จึงไม่ควรท้อแท้ในการดูแลลูกเมื่อเป็นหอบหืด เมื่อโตขึ้นลูกอาจจะไม่มีอาการหอบหืดตลอดชีวิตเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นควรดูแลและให้การรักษาลูกโดยเร็วทุกครั้ง
ที่มีอาการหอบหืดอาจจะหายได้เร็ว และจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน
เช่น โรคปอดบวม ติดตามมา
|