หมอพัตร
ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ราว ๆ เดือนมีนาคม-เมษายน รู้สึกว่าจะมีผู้ป่วยเด็ก และหนุ่มสาววัยรุ่น หลายต่อหลายราย มาพบแพทย์ด้วยอาการไข้พร้อมกับและเม็ดใส ๆ ตามหน้าตามตัว ส่วนมากพอเจอกันจะบอกเลยว่าเป็นโรคอีสุกอีใส ไม่ต้องรอให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยก่อน แสดงว่าเป็นโรคที่รู้จักกันดีทั่วไป
เมื่อ 2 เดือนก่อน ผมได้เขียนถึงโรคคางทูมใน "ใกล้หมอ" และได้กล่าวว่าเป็นโรคติดต่อขนาด เบาะ ๆ ที่ชาวบ้านร้านถิ่นไม่ค่อยยี่หระกันเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าอาการโรคไม่รุนแรงมาก นอกจากจะเคราะห์หามยามร้ายเกิดอาการแทรกซ้อน เป็นหนเดียวก็มีภูมิคุ้มกันได้ชั่วชีวิต อีสุกอีใสก็เป็นโรคในกลุ่มนี้โรคหนึ่ง
วันนี้จึงขอถือโอกาสคุยเรื่องอีสุกอีใสเสียเลย
โรคอีสุกอีใส ถือได้ว่าเป็นโรคเก่าแก่รู้จักกันมาครั้งโบร่ำโบราณ ที่เรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใส ก็อาจกล่าวได้ว่าเหมาะสมมาก โรคที่เป็นแล้วมีผื่นขึ้นตามกาย มีมากมายนับไม่ถ้วน ลักษณะของผื่นแตกต่างไป บางโรคก็คล้ายคลึงกันจนแยกได้ยาก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ แต่ผื่นจากโรคอีสุกอีใสวินิจฉัยค่อนข้างง่าย ผื่นของมันชอบขึ้นที่บริเวณใบหน้า, ศีรษะ และลำตัว ตามแขนขาก็มีแต่น้อยกว่า ลักษณะเป็นเม็ดใสตรงกลางมีรอยบุ๋ม (ตามตำราว่า ยสะดือ) แรกขึ้นเป็นผื่นแดงก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเม็ดใสภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผื่นขึ้นที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ไม่พร้อมกัน จึงเห็นผื่นได้ทุกระยะ ที่ยังเป็นผื่นเแดงก็มี ที่เป็นเม็ดใสแล้วก็มี ที่แตกแล้วก็มี และที่ตกสะเก็ดก็มีเช่นกัน นั่นคือ ที่มาของชื่ออีสุกอีใส
สาเหตุของโรคอีสุกอีใส คือ เชื้อไวรัส เชื่อว่าเป็นตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสชนิดที่ทำให้เกิด โรคงูสวัด ระยะฟักตัวประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ติดต่อได้โดยทางระบบทางเดินหายใจ ไอหรือจามรดกัน การติดต่อจึงเป็นไปได้ง่ายในหมู่เด็กที่เล่นด้วยกัน หรือใกล้ชิดไอจามรดกัน อาการแรกเริ่มไม่สู้รุนแรง มีเพียงไข้รุม ๆ ไอ ระคายคอ คล้ายเป็นไข้หวัด เด็กที่ป่วย ไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ ยังคงเล่นกับเพื่อน ๆ ได้เป็นปกติจนผื่นขึ้นให้เห็นแล้วนั่นแหละ จึงแยกตัวออก แต่แม้ผื่นขึ้นแล้ว บางคนก็ยังคงอยู่ ในหมู่เพื่อนต่อไป
ผื่นอีสุกอีใส แรกเริ่มจะขึ้นในเยื่อบุอ่อน ในกระพุ้งแก้มและลำคอทำให้รู้สึกระคายและไอ หลังจากนั้นจึงปรากฏขึ้นตามบริเวณหน้าและหนังศีรษะหน้าอกและแผ่นหลัง บางส่วนขึ้นตามแขนขา แต่น้อยหน่อย ผื่นขึ้นทยอยกันจึงทำให้เห็นผื่นทุกระยะ ผื่นอีสุกอีใส เป็นผื่นคัน ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็ก มักจะเกาจนแตกหนังถลอก บางรายเกาจนน้ำเหลืองเยิ้ม ถ้าไม่รู้จักรักษาความสะอาด ก็อาจถูกเชื้อโรคซ้ำเติมจนกลายเป็นตุ่มเน่า
ผื่นอีสุกอีใสโดยทั่วไป จะหายเองภายในเวลาไม่กี่วัน โดยตกสะเก็ดหลุดออกเอง ถ้ามืออยู่ไม่สุขชอบสะกิดสะเกา จนสะเก็ดหลุดออกก่อนเวลาก็จะเกิดแผลเป็นได้ ถ้าเป็นมาก ๆ ก็อาจทำให้เสียโฉมได้
อีสุกอีใส ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อย่างไร ยกเว้นบางรายที่เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองอักเสบ อาการก็อาจรุนแรงขึ้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โรคแทรกซ้อนพบได้ไม่บ่อยนัก
การรักษาผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส ก็ไม่ยากเย็นอะไร เพียงให้ผู้ป่วยนอนพัก ให้ยาลดไข้พวกพาราเซตามอล รักษาความสะอาดบริเวณที่มีผื่นขึ้น ใช้ยาทาแก้คัน เช่น น้ำคาลาไมน์ ถ้าคันมากอาจใช้ยาระงับอาการคันช่วย
เด็กรุ่นผมใครไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส นับได้ว่าเป็นเรื่องแปลก สมควรนำไปบันทึกลงหนังสือ สถิติกินเนส ผมเป็นโรคอีสุกอีใสเมื่ออายุได้ 10 ขวบ ติดมาจากเด็กที่เล่นอยู่ด้วยกันที่เป็นอีสุกอีใสอยู่ แต่ยังเล่นคลุกคลีกัน เพราะผู้ใหญ่บอกว่าไม่เป็นไรหรอก เป็นก็เป็นเสียคราวเดียวกันจะได้หมดห่วง ทุกคนต้องเป็นอยู่แล้วไม่วันใดก็วันหนึ่ง เป็นเสียตอน เด็ก ๆ อย่างนี้ ง่ายกว่าไปออกอีสุกอีใส ตอนเป็นหนุ่ม เดี๋ยวจะเกิดแผลเป็นทำให้เสียโฉม
อาการแรกเริ่ม ที่ผมรู้สึกคือ เบื่ออาหาร และเพลียกินอะไรไม่อร่อยไปหมดแม้แต่ขนมที่เคยชอบ มีไข้รุม ๆ ต่อมามีผื่นแดง ๆ คันขึ้นตามหน้าอก แผ่นหลัง และใบหน้า ผื่นนี้ต่อมาก็กลายเป็นเม็ดใส ๆ ขึ้นที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ผู้ใหญ่เห็นเข้าบอกว่าใช่แล้วอีสุกอีใสแน่ แล้วหายาเขียวมาละลายน้ำอุ่นให้กิน แก้ไข้คลายพิษ ส่วนตามที่ซึ่งมีผื่นก็เอาดินสอพองละลายน้ำชโลมทา รู้สึกเย็นสบายพอแก้คันได้บ้าง เป็นอยู่ 2-3 วันก็ค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ยังคันตามบริเวณที่มีผื่นขึ้น ตามประสาเด็กก็เกาอย่างสนุกมือ เลยได้แผลเป็นที่โหนกแก้ม เป็นที่ระลึก ตราบเท่าปัจจุบันนี้
อาการแทรกซ้อนที่ทำให้ตกอกตกใจกันคือ การมีเลือดออกที่ฐานของผื่นอีสุกอีใส แล้วเปลี่ยนเป็น เม็ดสีคล้ำดำมองดูน่ากลัว โดยเฉพาะถ้าไปพ้องกับการระบาดของโรคที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่ง คือ ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ
ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ กลายเป็นโรคในอดีตไปแล้ว สมัยก่อนนี้ เวลาระบาดแต่ละครั้ง ก็คร่าชีวิตผู้คน ไปมากมาย แต่ปัจจุบันนี้องค์การอนามัยโลกประกาศว่า สามารถปราบโรคนี้ได้หมดสิ้นแล้ว เชื้อไวรัสฝีดาษคงมีอยู่เฉพาะในห้องทดลอง ต่อไปเมื่อแน่ใจว่าฝีดาษหมดไปจากโลกจริง ก็จะทำลายเชื้อที่เลี้ยงไว้ด้วย
แต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ยังพบผู้ป่วยโรคฝีดาษได้เป็นครั้งคราว ในปี 2505 มีรายงานผู้ป่วยสงสัยว่า จะเป็นฝีดาษในประเทศไทย ก่อให้เกิดการตื่นตระหนกอย่างขนานใหญ่ ทางการต้องระดม ปลูกฝีป้องกัน ให้ประชาชนเป็นการใหญ่ จนผลิตหนองฝีได้ไม่ทันใช้ ต้องสั่งเพิ่มเติมเข้ามาจาก ประเทศอินเดีย เป็นการด่วน
หน้าร้อนปีนั้น อีสุกอีใสเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นเคย ผมเป็นแพทย์ประจำอยู่แผนกแพทย์ที่บางซื่อ บ่ายวันหนึ่งมีนายทหารอากาศและภรรยาพาลูกชายอายุสัก 3 ขวบเศษมาหา บอกว่ามีไข้ เป็นผื่นขึ้นตามตัว ผื่นบางแห่งเด็กเกาจนเลือดออกเห็นเป็นเม็ดสีดำ ๆ ไข้ทรพิษก็กำลังระบาด จึงตกใจมาก เกรงว่าจะเป็นฝีดาษ คาดคั้นจะให้ผมบอกว่าลูกชายเขาเป็นฝีดาษหรือเปล่า ผมถามว่าเด็กเคยปลูกฝีหรือเปล่า เขาตอบว่าปลูกตอนอายุได้ 2 เดือนครั้งหนึ่ง แล้วปลูกซ้ำเมื่อก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาลอีกครั้งหนึ่ง ผมบอกว่าไม่ต้องกลัว ไม่ใช่ฝีดาษแน่ ลักษณะเม็ดผื่นเป็นอีสุกอีใส ถ้าเป็นฝีดาษต้องขึ้นพร้อมกันหมด และอาการจะรุนแรงกว่านี้มาก พ่อแม่เด็กยังทำท่าลังเลไม่สบายใจ ผมเลยบอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าอยากให้แน่ใจ ลองพาไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรดูสิ ที่นั่นเขาชำนาญมาก สงสัยว่าตอนนี้ก็ยังคงมีคนไข้ฝีดาษให้เห็นเป็นตัวอย่างบ้าง แกเลยเงียบไป พาลูกชายกลับบ้าน อีก 2-3 วันต่อมา พ่อเด็กมาหาผมอีก ขอทายาแก้คันเพิ่ม บอกว่าลูกชายหายดีแล้ว เป็นอีสุกอีใสจริงอย่างหมอว่า วันก่อนกำลังตกใจเลยโวยวายไปหน่อย อย่าถือสาเลยนะ
เดี๋ยวนี้มีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว ต้องฉีด 2 ครั้ง ราคายังแพงอยู่ ราว ๆ พันกว่าบาท ถ้าไม่อยากให้บุตรหลานป่วยเป็นอีสุกอีใสก็พาไปรับวัคซีน พ่อแม่เด็กรายหนึ่งพอทราบราคาก็ร้อง โอ้โฮ แพงขนาดนี้ ปล่อยเด็กให้เป็นอีสุกอีใสเองดีกว่า โรคธรรมดา ๆ แค่กินพารา (เซตามอล) ทางแป้งเย็น ไม่กี่บาทก็หายแล้ว เงินทองมันหายากขึ้นทุกวัน สุดแท้แต่จะคิดเถอะครับ
หมอพัตร
main |