นายแพทย์อภิชัย ตันติเวสส
โดยคำจำกัดความนั้น "ท้องเสีย" คือการที่ร่างกายมีการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ โดยที่ลักษณะอุจจาระนั้น จะมีปริมาณมากและมีส่วนประกอบเป็นน้ำมากกว่าปรกติ ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเมื่อเกิดอาการท้องเสียคือ การที่ร่างกายเกิดสภาวะขาดน้ำ
ท้องเสีย แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม ตามสาเหตุ
1) จากการติดเชื้อ ที่พบบ่อยได้แก่
บิดมีตัว ( Amebic dysentery) เกิดจากเชื้อบิดที่เรารู้จักกันทุกคน ( Entamoeba histolytica ) มักจะทำให้มีไข้สูง ปวดท้องมาก ถ่ายเป็นน้ำมากและบ่อย อาจเห็นอุจจาระมีเลือดปน
ตรวจอุจจาระจะพบตัวเชื้อ ( เป็นสัตว์เซลล์เดียว ) หรือไข่ของมัน , พบเม็ดเลือดแดง , เม็ดเลือดขาว
ยาที่ใช้ในการรักษานั้น ได้แก่พวก Metronidazole ครับ
บิดไม่มีตัว ( Shigellosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Shigellae มักจะมีอาการไข้สูงมาก, ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก และในตำราว่า กลิ่นอุจจาระจะมีกลิ่นเหมือนหัวกุ้งเน่า บิดชนิดนี้อาจทำให้มีอาการชักได้ง่ายเพราะเกิดได้รวดเร็วมากจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
อาการท้องเสียเกิดจากเชื้อไวรัส มักเกิดจากเชื้อที่ทำให้เราเป็นไข้หวัด ต่อมาเคลื่อนลงกระเพาะลำใส้ ก็กลายเป็นหวัดในกระเพาะลำใส้ ซึ่งทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารผิดไปจากปกติ ไม่สามารถย่อยอาหารได้ เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย
2) กลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
อาหารเป็นพิษ เกิดอาการปวดท้อง, ท้องเสีย, อาเจียน อย่างเฉียบพลันและมักรุนแรง
มักเกิดภายหลังรับประทานอาหารได้สัก 1-2 ชม
ร่างกายขาดน้ำย่อยบางชนิด ดังเช่นในคนเอเซียจำนวนไม่น้อย ที่เกิดมาขาดสารเอนซายม์ ที่จะต้องใช้ย่อยน้ำตาลในนมวัว รัปทานนมวัวทีไรก็ท้องเสียทุกที หรือเด็กที่หายจากอาการท้องเสียใหม่ๆ ร่างกายยังไม่ฟื้นพอที่จะสร้างเอนซายม์ตัวนี้ เด็กก็จะท้องเสียหากรับประทานนมวัวเข้าไป ทั้งๆที่เมื่อก่อนรัปทานได้
แพ้อาหาร ต้องแยกจากพวกที่เกิดมาไม่มีน้ำย่อยสำหรับอาหารบางชนิดให้ดี เพราะอาการเหมือนกันมาก แต่พวกนี้มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นผื่น หรือหายใจหอบ หรือมีลักษณะขาดอาหารก็เป็นได้ พวกนี้ไม่ได้ขาดน้ำย่อย แต่ร่างกายมีปฏิกริยาต่อสารนั้นๆ แต่ละคนก็จะแพ้อาหารแตกต่างกันไป บางคนแพ้อาหารที่ทำจากนมวัว บางคนแพ้อาหารที่ทำจากเนื้อปู บางคนแพ้ส้ม ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า โรคต่างๆที่กล่าวมาแล้วล้วนทำให้ท้องเสียทั้งสิ้น เราไม่สามารถวินิจฉัยว่า อาการท้องเสียเกิดจากอะไรหากเราไม่ได้ทำการตรวจอุจจาระทางห้องทดลอง เมื่อเราไม่รู้สาเหตุ การรักษาก็จะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เพราะการรักษาแต่ละโรคนั้น จะต้องมีการให้ยา ตามสาเหตุของโรคครับ
นายแพทย์อภิชัย ตันติเวสส
กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
main |