นพ.ธัญญณัฐ บุนนาค
เวลาที่ลูกไม่สบายมักพบว่ามีอาการตัวร้อนนำมาก่อน ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นโรคยอดฮิต อย่างไข้หวัดที่เป็นกันได้ทั้งปี พอคุณพ่อคุณแม่คลำหน้าผากลูกตัวร้อน ก็พากันตกใจว่า ลูกไม่สบายแล้วแน่แท้
ใจเย็น ๆ นะครับ ถ้าลูกยังกินได้และเล่นเป็นปกติ ก็ยังไม่ต้องกระวีกระวาดพาลูก ไปหาหมอ ทางที่ดีควรวัดไข้ลูกเสียก่อน ถ้าอุณหภูมิเกิน 37.8 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้ ข้อควรระวังอยู่ตรงนี้ อย่าให้ไข้ขึ้น สูงถึง 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่อายุต่ำกว่า 6 ปี อาจชักเพราะมีไข้สูงได้
เมื่อลูกมีไข้ ควรลดไข้ โดยหมั่นเช็ดตัวลูกตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบและข้อพับต่าง ๆ ด้วยน้ำธรรมดา เพื่อระบายความร้อนจากร่างกาย เสร็จแล้วอาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหมาด ๆ โปะหน้าผากไว้ ส่วนความเข้าใจที่ว่าใส่เสื้อผ้าหนา ๆ จะช่วยให้ลูกอบอุ่นนั้น ไม่เป็นผลดี เพราะยิ่งทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชักได้ง่ายขึ้น พยายามให้ดื่มน้ำอุ่น ทีละนิด แต่บ่อยครั้ง หากไข้สูงมาก ต้องให้ยาลดไข้ร่วมด้วย ถ้าลูกเคยไข้สูงแล้วชักมาก่อน ควรให้ยากินกันชักกินป้องกันเอาไว้เลยตั้งแต่เริ่มมีไข้ เพราะเด็กกลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะ ชักซ้ำอีกได้ จนถึงอายุ 6 ขวบ ถ้าปล่อยให้ลูกชักติดต่อกันนาน ๆ จนสมองขาดออกซิเจน จะทำให้เซลล์สมองเสื่อม มีผลต่อประสิทธิภาพความจำและการทำงานของสมอง
ในการตรวจวัดไข้เด็กมักพบปัญหาลูกน้อยไม่ให้ความร่วมมือในการวัด เช่น การใช้ปรอทวัดทางทวารกับเด็กเล็ก ต้องจับเด็กอยู่นิ่ง ๆ 3-4 นาที ซึ่งทำให้เด็กรำคาญ ร้องโยเย การวัดทางปาก เหมาะสำหรับเด็กโตที่พอพูดรู้เรื่องแล้ว ส่วนการวัดด้วยแผ่นดิจิตอลแปะหน้าผาก แม้สะดวก แต่ค่าที่ได้อาจคลาดเคลื่อน เพราะอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ตามสภาพอากาศแวดล้อม เช่น วัดได้ต่ำเกินไปในห้องแอร์ หรือ วัดได้สูงเกินไป ถ้าเด็กเพิ่งไปตากแดดมาใหม่ ๆ ปัจจุบันมีวิธีตรวจวัดไข้ใหม่ ๆ ที่สะดวก และให้ค่าความร้อนที่ใกล้เคียง กับอุณหภูมิแท้จริงของร่างกาย ภายในเวลา 1 วินาทีก็สามารถให้ค่าความร้อนที่แม่นยำ
เด็กต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเมื่อเจ็บปป่วย แม้เรื่องพื้น ๆ อย่างไข้ตัวร้อนก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ถ้าปล่อยให้ไข้สูง ที่สำคัญค่าความร้อนของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ยังวิ่งเล่นได้ แต่บางคนเพียงไข้ขึ้น 38.5 องศาเซลเซียส ก็อาจชักได้ ดังนั้นอาการตัวร้อนของเด็กเป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้ถ้าไข้ยังไม่ลด ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่ และความปลอดภัยของลูกน้อย
นพ.ธัญญณัฐ บุนนาค
กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
main |