นายแพทย์อภิชัย ตันติเวสส
เมื่อไรจึงจะเริ่มมีน้ำนม?
ตามธรรมดาแล้วจะเริ่มมีน้ำนมเต็มที่ประมาณ 30 ชม หลังคลอด แต่ก็อาจกินเวลาได้ถึง 5 วัน
ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างน้ำนมคือ ความสามารถของลูกที่จะอมหัวนม และความสามารถ ในการดูดของลูก ถ้าลูกสามารถดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดูดบ่อย น้ำนมก็จะมาได้เร็ว
ปรกติแล้วคุณแม่ที่คลอดลูกท้องหลังๆ เต้านมจะสามารถสร้างน้ำนมได้เร็วกว่า
ระยะก่อนที่จะมีน้ำนมปรกติเกิดขึ้นนั้น ลูกจะไม่อด ไม่ขาดอาหาร เพราะแม่จะสร้าง "นมน้ำเหลือง" อันมีประโยชน์มากเหลือเกินสำหรับลูก
นมน้ำเหลืองนี้ จะมีสารโปรตีนมากเป็นสามเท่าของนมธรรมดา และเป็นสารอาหาร ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับวันแรกๆหลังคลอด
ควรจะให้ลูกดูดบ่อย(และนาน)แค่ไหน?
ลูกควรที่จะได้ดูดนมบ่อยเท่าที่ลูกต้องการ
คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะคอยสังเกตอากับกริยาของลูก ลูกมักมีกริยาส่ายหน้าหาหัวนม, เอามือถูที่ปาก, ทำท่าดูด ฯลฯ แสดงว่า ลูกต้องการที่จะดูดนมแล้ว
คุณพ่อคุณแม่จะสามารถเห็นอากับกริยาเหล่านี้ได้ตั้งแต่ 30 นาทีก่อนที่ลูกจะเริ่มร้องไห้เพราะหิว
การที่ลูกต้องร้องไห้ก่อนได้รับนมนั้นอาจทำให้มีการดูดที่ไม่มีการประสานงานของกล้ามเนื้อต่างๆ การดูดนมก็จะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก
เด็กที่คลอดใหม่ๆมักต้องการดูดนม 8 ถึง 12 ครั้งในระยะเวลา 24 ชม
ครั้นเมื่อแม่และลูกมีความคุ้นเคยกันดีแล้ว, ลูกก็มักจะต้องการดูดบ่อยน้อยลง และดูดนานน้อยลง ช่วงนี้มักต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งเท่ากับระยะเวลาที่ร่างกายของคุณแม่จะฟื้น จากการคลอดลูกพอดี
คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมข้างหนึ่งนานเท่าที่ลูกต้องการ ลูกจะแสดงให้เห็นเองว่าอิ่มแล้วโดยการคายหัวนม หรือลดแรงการดูดลงกลายเป็นแบบ " ดูดเล่นๆ" ถึงตอนนี้คุณแม่ควรอุ้มลูกพาดบ่าให้เรอสักครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ให้ลูกดูดนมอีกข้างหนึ่งถ้าลูกต้องการ ถ้าลูกไม่ต้องการดูดอีกก็ไม่เป็นไร
ความจริงแล้วไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องให้ลูกดูดนมทั้งสองเต้าทุกครั้ง หากลูกดูดข้างเดียว แล้วรู้สึกว่าพอ ครั้งต่อไป คุณแม่ก็เอานมอีกข้างให้ลูกดูดก็ได้
บางครั้งนั้นลูกอาจอยากดูดนมแม่ไม่ใช่ว่าเพราะหิว แต่เพราะอยากแนบสนิทกับแม่ และเพราะอยากที่จะรู้สึกอบอุ่นเท่านั้น
โดยทั่วไปแล้ว ลูกจะดูดนมทุกๆ 2 หรือ 3 ชั่วโมง ครั้งละ 5 ถึง 15 นาที
ต้องให้นมขวดเสริมหรือเปล่า?
การเอาขวดนมให้ลูกดูดในช่วงแรกๆนั้น จะทำให้ลูกรู้สึกสับสน หรือเลือกเอาหัวนมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะมีผลเสียต่อการผลิตน้ำนม
หากไม่มีเหตุผลใดที่จะให้ลูกดูดนมจากเต้าได้แล้วละก็ เราไม่ควรให้ลูกดูดขวดนมเลยในช่วง 3 ถึง 4 สัปดาห์แรก แม้จะเป็นขวดที่ใส่แค่น้ำก็ตาม
หากจำเป็นที่จะต้องให้นมเสริม ควรใช้การป้อนด้วยช้อน หรือให้ลูกค่อยๆดื่มจากถ้วย
การให้ลูกดูดขวดนมวันละครั้ง หรือสองวันครั้ง เพื่อให้ลูก "เคย" นั้น ไม่จำเป็น
หลังจากช่วงแรกผ่านไปแล้ว คุณแม่อาจให้ลูกดูดขวดนมที่ใส่น้ำนม ที่ปั๊มออกจากเต้า เป็นครั้งคราวก็อาจได้ผลดี
เด็กหลายคนจะไม่ยอมดูดหัวนมยางเลย เพราะวิธีดูดนั้น ต่างจากการดูดหัวนมแม่โดยสิ้นเชิง ในกรณีนี้ คุณแม่คงจะต้องใช้วิธีป้อนด้วยช้อนหรือให้ค่อยๆดื่มจากถ้วย ดังได้กล่าวมาแล้ว
จะทำอย่างไรถ้าแม่ผลิตน้ำนมไม่พอ หรือน้ำหนักตัวลูกไม่เพิ่มตามเกณฑ์?
การที่คุณแม่ผลิตน้ำนมไม่พอนั้น มักเกิดจากความผิดพลาดในความสมดุลย์ระหว่าง ความต้องการ และอัตราการผลิตน้ำนม ( Demand and Supply balance)
ควรหลีกเลี่ยงการให้ "นมเสริม"
ควรยกเลิกการใส่ใจกับปัญหาอื่นๆเป็นการชั่วคราว เพื่อที่จะได้มีเวลาและสมาธิที่จะสร้างระบบการให้นมลูกที่ดี
คุณแม่อาจลองใช้วิธีต่างๆดังต่อไปนี้
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับนมพอเพียง?
หลังจากคุณแม่ได้ให้นมลูกไปสักเดือน คุณแม่ก็จะรู้สึกได้เองว่าลูกได้รับนมอย่างพอเพียง โดยจะสังเกตรู้สึกได้ว่าลูกนั้นตัวหนักกว่าเก่าเวลาอุ้ม และยังมองเห็นได้ชัดว่าลูกดูอ้วนขึ้น
แต่ในช่วงแรกๆนั้นคุณแม่อาจดูยากสักหน่อย โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก ดังนั้น เราอาจใช้วิธีสังเกตได้ดังนี้
ทำไมลูกจึงอยากดูดนมตลอดเวลา?
ช่วงที่ร่างกายของลูกมีการเจริญเติบโตเร็วนั้น ลูกจะดูดนมมาก เพื่อเป็นการตอบสนอง การเจริญเติบโตนี้ บางครั้งทารกสามารถมีการโตตัวยาวขึ้นได้ถึง 1.5 ซม ใน 24 ชม ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ลูกจะต้องการนมมากเป็นพิเศษในช่วงนี้
คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมมากเท่าที่ลูกต้องการ ไม่มีข้อจำกัด ตัวคุณแม่เองก็จะสร้างน้ำนมมากขึ้นตามความต้องการของลูก
การให้ "นมเสริม" นั้น จะไม่เป็นผลดีในแง่ไม่ได้กระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น คุณแม่จะไม่สามารถสร้างน้ำนม ได้มากเท่าความต้องการของลูก
เด็กบางคนมีความต้องการที่จะถูกอุ้มเพื่อเป็นการช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก ความจริงมีอยู่ว่า ช่วง 3 - 4 เดือนแรกนั้น เป็นช่วงของการปรับตัวที่สำคัญมากทีเดียว
ในวันที่ลูกต้องการดูดนมมากผิดปรกตินั้น คุณแม่ควรที่จะวางมือจากภาระกิจอื่นๆไว้ก่อน เพื่อให้มีเวลาที่จะสนองความต้องการของลูก เมื่อลูกหลับ คุณแม่ก็รีบถือโอกาสนอนเสียด้วย เพื่อที่จะได้พักผ่อนเพียงพอ เมื่อลูกอายุมากขึ้น ช่วงของการ "โตเร็ว" แบบนี้ก็จะเกิดบ่อยน้อยลง
แม่ที่ให้นมลูกควรรับประทานอาหารอะไร?
ความจริงแล้ว ไม่มีกฎตายตัวสำหรับการรับประทานอาหารเท่าไร ขอให้เป็นอาหารที่มีคุณค่า และได้สมดุลย์ทางโภชนาการเท่านั้น จะว่าไปแล้ว อาหารที่เหมาะสมสำหรับช่วงให้นมลูก ก็เหมือนกับอาหารที่เหมาะสมสำหรับตอนตั้งครรภ์อย่างไรอย่างนั้น
ร่างกายของคุณแม่ที่ให้นมลูกนั้นจะมีประสิทธิภาพในการจัดการกับแคลอรี่ที่รับเข้าไปได้ดีมากทีเดียว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารให้มากกว่าธรรมดา เมื่อใดที่รู้สึกกระหาย ก็ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอะไรก็ได้ (ที่ไม่ใช่เหล้า) เมื่อรู้สึกหิว ก็ให้รับประทานอาหารให้พอ
การควบคุมน้ำหนักนั้น สามารถทำได้โดย หลีกเลี่ยงของขบเคี้ยวที่ให้แคลอรีสูงแต่ไร้คุณค่าทางอาหาร (ได้แก่ขนมต่างๆ) การออกกำลังกายนั้น จะได้ผลดีกว่าการการจำกัดอาหาร ซึ่งอาจทำให้ มีปัญหาต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกได้
ควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง?
คุณแม่คงจะได้รับคำแนะนำมากหลายจากคนรอบข้างที่หวังดี ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอาหารใดเลย ที่ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
ลูกอาจงอแง มีลมในท้อง นั่นไม่ใช่เป็นเพราะว่าอาหารที่แม่รับประทาน แต่เป็นเพราะธรรมชาติของเด็กจะต้องมีการงอแงและมีลมในท้องอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นการดี หากคุณแม่จะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดมากๆ
ในบางครั้งนั้นลูกอาจแพ้อาหารบางอย่างที่คุณแม่ได้รับประทานเข้าไป ส่วนใหญ่สารที่พบว่า ทำให้ลูกมีปัญหา ได้แก่ สารพวกโปรตีนเชิงซ้อน (Complex carbohydrates) ที่อาจพบได้ใน นมวัว, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลี, ปลา, ข้าวโพด, ไข่ และพวกถั่ว. ยาสมุนไพรบางอย่างก็เคยพบว่าทำให้ลูกท้องอืด ท้องเสียได้ เช่น ยาจีนบางชนิด, ยาดอง ฯลฯ ลูกอาจมีอาการงอแง, ท้องอืด, ถ่ายผิดปรกติ ( ไม่ได้แปลว่า ลูกจะแพ้อาหารพวกนี้จริงๆ เพียงแต่ร่างกายอาจยังไม่พร้อมที่จะรับสารนั้นได้ ) หากคุณแม่สงสัยว่าอาหารชนิดใดทำให้ลูกมีปัญหา คุณแม่ก็ลองงดอาหารชนิดนั้นสัก 2-3 สัปดาห์ แล้วลองรับประทานดูใหม่ รวมๆแล้ว คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีความสมดุลย์ทางโภชนาการ โดยแทบไม่มีข้อจำกัด การรับประทานอาหารอย่างพอประมาณเป็นสิ่งที่ดีมาก
ควรใช้เครื่องดูดปั๊มน้ำนมไหม?
เครื่องดูดปั๊มนมมีส่วนช่วยในรายที่มีอาการนมคัดมาก โดยเฉพาะ ในรายที่คุณแม่ต้องทำงาน รายที่ลูกป่วย,เกิดก่อนกำหนด ไม่สามารถจะดูดนมได้
เดี๋ยวนี้เรามักแนะนำให้ป๊มน้ำนมแล้วเก็บไว้ นำไปให้ลูกดื่มภายหลังได้ โดยเก็บใส่ขวดที่สะอาดแล้วแช่เย็นไว้
ฉันเป็นคนเครียดง่าย ทำอย่างไรจึงจะหายเครียดได้?
โดยธรรมชาติ ฮอร์โมนชื่อ Prolactin ที่มีในร่างกายคุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมนั้น จะมีฤทธิ์ในการคลายเครียดอยู่แล้ว แต่บางครั้ง แค่นี้ไม่เพียงพอ จำต้องใช้วิธีอื่นช่วยเสริม
การจัดแบ่งสถานที่ไว้ให้ลูกดูดนมในบ้านโดยเฉพาะ ก็อาจทำให้คุณแม่รู้สึกสบายใจขึ้นได้ หาเก้าอี้ที่นั่งสบายสักตัว และม้านั่งเตี้ยๆสำหรับวางเท้า, จัดหาอุปกรณ์ต่างๆที่อาจต้องการใช้ เอาไว้ใกล้มือ : หมอนหลายๆใบ, โทรศัพท์, หนังสืออ่านเล่น, อาหารว่าง, น้ำ, ผ้าอ้อม ฯลฯ คุณแม่อาจเปิดเพลงที่ฟังแล้วสบายใจไปด้วยก็ได้ หากคุณแม่มีลูกอีกคนที่อาจต้องการการเอาใจใส่บ้าง คุณแม่อาจจัดที่ให้นมลูกในที่ๆพี่ก็จะสามารถมาหาคุณแม่ได้, จัดของเล่น, อาหารว่าง ฯลฯ ของพี่ไว้ในที่เดียวกัน ก็จะสามารถสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นได้
ฉันควรให้ลูกหย่านมเมื่อใดดี?
โดยเฉลี่ย, เด็กทั่วโลกจะดูดนมแม่เป็นเวลา 2-3 ปีทีเดียว
ไม่มีกฎตายตัวว่า เวลาอันสมควร ที่จะหย่านมนั้นเป็นเวลาเมื่อใด อยู่ที่ว่าคุณแม่มีความรู้สึกว่าถึงเวลาอันเหมาะสมแล้วเท่านั้น และขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกด้วย
เด็กส่วนใหญ่จะไม่ยอมหย่านมก่อนอายุ 8-9 เดือน
American Academy of Pediatrics (บัณฑิตยสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา)
ได้แนะนำให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวในช่วง 4-6 เดือนแรก จากนั้น ให้คุณแม่เริ่มให้อาหารอื่นแก่ลูก ทีละอย่าง และมีความเห็นว่า เด็กควรได้รับนมแม่อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี
เมื่อลูกมีทีท่าว่าจะยอมหย่านมแล้ว คุณแม่ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกี่ยวกับนมคัด และเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับความรู้สึกของลูกมากเกินไป คุณแม่อาจใช้วิธีให้นมขวดแทน ทีละมื้อทุกๆ 2 วันในตอนแรก ก็จะช่วยให้ทั้งแม่และลูกปรับตัวได้ คุณแม่ส่วนใหญ่พบว่า การเลิกมื้อดึกและมื้อเช้าเป็นการหลังสุด จะได้ผลดีมาก เนื่องจากว่า สองเวลานี้มักมีความหมายต่อความรู้สึกของลูกมากที่สุด
นายแพทย์อภิชัย ตันติเวสส
กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
main |