ภ.ญ.สมสกุล ศิริไชย
เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หน้าหนาว คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายคงจะต้องระมัดระวังลูกน้อย ไม่ให้เจ็บป่วย โดยเฉพาะไข้หวัดที่เด็กเล็กมักจะเป็นกันบ่อย เพราะภูมิต้านทานยังไม่ดีพอ วิธีป้องกันง่าย ๆ คือให้ลูกน้อยสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ช่วงที่มีหมอก น้ำค้าง หรือละอองฝน ควรสวมหมวก ให้ลูกด้วย อย่าให้ลูกอาบน้ำเย็นหรือเล่นน้ำนาน ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้ออกกำลังกาย ที่เหมาะกับวัย และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ลูกน้อยก็จะมีร่างกายที่แข็งแรง พอที่จะต้านทานโรคและอากาศหนาวได้แล้วค่ะ แต่ถ้าหากว่าลูกของท่านเป็นไข้หวัดขึ้นมาล่ะก็ ควรรีบพาไปพบแพทย์ ถ้าลูกมีอาการคัดจมูกหายใจไม่ออกร่วมด้วย แพทย์อาจจะสั่งยารับประทาน และยาหยอดจมูกมาคู่กันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ยาหยอดแก้คัดจมูกมีหลายชนิด ถ้าเป็นเด็กทารกควรใช้สำลีพันปลายไม้ที่สะอาดชุบน้ำเกลือ 0.9% เช็ดเบา ๆ ภายในรูจมูกแค่ตื้น ๆ วันละ 3 ครั้ง หรือใช้น้ำมันยูคาลิปตัสเพียง 1 หยดแตะที่อกเสื้อลูก และอาจจะให้นอนหนุนผ้าเพื่อยกศีรษะให้สูงขึ้น จะหายใจได้สะดวก สำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อาจจะใช้ยาหยอดจมูกที่มีส่วนผสมของยา Ephedrine 0.25% หรือ Oxymetazoline HCL 0.025% ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมของเส้นเลือดเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น ก่อนใช้ยาควรเช็ดโพรงจมูกให้สะอาดให้เด็กเงยหน้าไปข้างหลัง แล้วหยอดยา 1 หยด ลงไปในรูจมูก ต้องไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับจมูกหรือมือผู้หยอดยา เพื่อป้องกันเชื้อโรคปะปนในขวด และไม่ควรใช้เกินกว่า 2-3 ครั้งต่อวัน เพราะยาจะทำให้โพรงจมูกแห้ง แสบ คัน และอาจติดเชื้อได้ง่าย ยาเหล่านี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน เพราะยาอาจจะทำให้คัดจมูกขึ้น มาใหม่ได้ ในเด็กโตอาจใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสารต้านการแพ้หรือสเตียรอยด์ เวลาใช้จะต้องบีบขวดยาให้ตัวยาพ่นเป็นละอองเข้าไปในรูจมูก พ่นวันละ 2-3 ครั้ง และต้องเช็ดปลายหลอดยาให้สะอาดก่อนปิดฝา
นอกจากยาหยอดจมูกแล้ว ทายาหอมระเหยแก้คัดจมูก ก็มีขายตามร้านขายยาทั่วไป หาซื้อง่าย ยาเหล่านี้มักจะมีส่วนผสมของเมนทอล น้ำมันยูคาลิปตัส การบูร (Camphor) เป็นส่วนใหญ่ บางยี่ห้ออาจเพิ่มสารแต่งกลิ่นหรือน้ำมันนวดกล้ามเนื้อลงไปด้วย ยาทาหอมระเหยเหล่านี้ ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะสารเป็นอันตรายต่อผิวหนังของเด็กเล็ก วิธีใช้คือ ทาบาง ๆ บริเวณหน้าอก หลัง ลำคอ วันละ 2-3 ครั้ง หรือใช้ยา 1 ปลายนิ้วละลายในน้ำอุ่นให้เด็กสูดดม ไม่ควรทาในรูจมูกโดยตรง เพราะอาจได้รับยามากเกินไป ซึ่งมีรายงานว่าทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้ เพราะหยุดหายใจ หากเด็กเผลอรับประทานเข่าไปต้องรีบให้ดื่มน้ำมาก ๆ หรือรับประทานยาผงถ่าน (Activated Charcoal) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจ และอ่านฉลากวิธีใช้ทุกครั้ง เพื่อลูกรักจะได้หายจากโรคโดยเร็ว และปลอดภัยจากการใช้ยา
ภ.ญ.สมสกุล ศิริไชย
กลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลเลิดสิน
main |