มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารรักลูก ปีที่ 16 ฉบับที่ 188 กันยายน 2541 ]

นอนเถิดหนา ลูกนอน เจ้าขวัญอ่อนของแม่

พ.ญ.สุดา เย็นบำรุง


"นกกาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก" เสียงเห่กล่อมเช่นนี้ ในสมัยก่อนอาจจะได้ยินเป็น ปรกติ เป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อลูกหลาน เพราะการนอนเป็นพฤติกรรมของ มนุษย์ที่สำคัญ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการนอนของลูกอ่อน คุณหมอสุดา เย็นบำรุง มีคำแนะนำดี ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ให้เข้าใจธรรมชาติการนอนของทารก เพื่อคลี่คลายปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

ถาม - ลักษณะการนอนของทารกในขวบปีแรกเป็นอย่างไรคะ
ตอบ - พ่อแม่ยุคใหม่ยุคแห่งความสะดวกสบาย ทุกอย่างแทบจะกดปุ่มหมด มาเจอลูกร้องแต่กดปุ่มไม่หยุดก็งงว่าจะทำอย่างไรดี ต้องบอกก่อนว่า การจะเป็นพ่อเป็นแม่คนต้องทำใจไว้เลยว่าช่วง 3 เดือนแรกของการมีลูก อย่างไรก็ต้องอดนอนบ้าง นอนไม่เต็มอิ่มเหมือนเดิม เพราะช่วง 3 เดือนของทารกแรกเกิด ลูกจะนอนเป็นช่วง ๆ และตื่นขึ้นมาดูดนมทุก 2-4 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลานี้ ก็แล้วแต่ธรรมชาติของเด็กแต่ละคนอีกเช่นกัน บางคนโชคดีลูกอยู่ในกลุ่มเลี้ยงง่าย
หลับตลอด พอครบ 4 ชั่วโมง ต้องปลุกมากินนมที ในขณะที่บางคนพ่อแม่แทบจะต้องตีลังกาอุ้มเธอก็ยังไม่ยอมนอน ร้องอย่างเดียว ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าร้อง colic หรือที่คนไทยโบราณเรียกว่าร้อง 3 เดือน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปเด็กก็จะร้องประมาณ 3 เดือน มากสุดประมาณเดือนครึ่ง นอนหลับเป็นช่วงๆ และค่อย ๆ นอนติดต่อกันยาวขึ้นได้ถึง 6-8 ชั่วโมง
เมื่อเข้าเดือนที่ 4 ช่วงนี้เองที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้แยกกลางวันกลางคืนได้แล้ว ส่วนใหญ่จะสามารถนอนยาวติดต่อกันโดยไม่ต้องกินนมรอบดึกเมื่ออายุ 4 เดือน จนกระทั่งเข้าเดือนที่ 6 ก็สามารถนอนยาวได้ 10-12 ชั่วโมงค่ะ

ถาม - ปัญหาการนอนของทารกที่มักเกิดขึ้นคืออะไรค่ะ
ตอบ - จะเทียบให้ดูว่า ในแบบแผนการเลี้ยงเด็กสมัยก่อน ตั้งแต่การคลอดแล้วก็ต้องคลอดที่บ้าน อยู่ในแวดล้อมของคนที่เรารัก พอคลอดปุ๊บเขาก็จะเอาลูกมาให้แม่เลย แล้วพวกญาติพี่น้องก็จะมานอนคุยด้วย คอยแนะนำเทคนิควิธีการเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งนี้แหละเป็นวัฒนธรรมของการเลี้ยงดู การเลี้ยงดูเด็กจะเป็นการกำหนดสังคมต่อไปว่าสังคมจะเป็นไปในแนวทางไหน แต่มาสมัยนี้ผู้หญิงไม่มีประสบการณ์ในเรื่องเลี้ยงดูเด็กเลย อ่านตำรามันก็ได้แค่ระดับหนึ่ง ซึ่งผู้หญิงที่เป็นแม่ใหม่ ๆ ต้องการมากกว่านั้น อย่างคำพูดที่ว่า a mother needs a mother คือ แม่ก็ต้องการแม่ในการแนะนำ หรือถ้าไม่มีแม่ก็ควรจะเป็นใครที่เขามีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูกมาก่อนคอยมาเป็น พี่เลี้ยงให้เราผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงดูลูกในขวบปีแรกนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ

เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว บางทีมันก็เหมือนเป็นโชคเหมือนกันว่าจะได้ลูกแบบไหน การที่ได้ลูกที่เลี้ยงง่ายก็จะทำให้เลี้ยงได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องเรียนรู้ลูกไปด้วย เด็กบางคนอาจจะเลี้ยงง่ายจริง แต่ถ้าตอบสนองความต้องการของเขาไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ยากได้เหมือนกัน เช่น พอเด็กร้อง แม่ก็ต้องดูว่าลูกไม่สบายตัวเพราะอึหรือฉี่ หรือเปล่า ถ้าเขาทำเปียกก็เปลี่ยนผ้าให้ แต่ถ้าทำหมดทุกอย่างแล้วลูกยังไม่เลิกร้อง อันดับต่อไปก็คือการให้นม

ปัญหาการนอนของเด็กที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็คือตื่นบ่อยตอนกลางคืน และไม่ยอมนอน แต่ในช่วง 3 เดือนแรกคงเลี่ยงภาวะตื่นบ่อยกลางคืนไม่ได้ เพราะเป็นไปตามพัฒนาการ แต่ส่วนใหญ่แล้วแม่จะกังวลใจ กลัวลูกหิว กลัวน้ำหนักไม่ดี พอลูกขยับตัวนิดหน่อยก็ไม่รอช้า ป้อนนมไว้ก่อน ทำให้เกิดเป็นการฝึกให้ตื่นกลางคืน (Trained night feeder) ไปโดยปริยาย

ถาม - แม่จะดูแลเรื่องการนอนของลูกให้ถูกต้องเหมาะสมได้อย่างไร
ตอบ - ส่วนใหญ่วัฒนธรรมบ้านเรา มักจะนอนกกลูกจนหลับกันไปทั้งแม่และลูก
ฝรั่งเรียกว่า co-sleep หรือ family bed ซึ่งตามตำราของฝรั่งเขาจะไม่ชอบวิธีนี้
เพราะอาจทำให้ลูกตื่นบ่อยขึ้น แต่คนไทยรู้สึกมีความสุขดีที่ได้กกลูก อาจจะนอนด้วยกัน บนเตียงเลย หรือแยกฟูกไปไปแต่อยู่ภายในห้องเดียวกันก็ได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ลูกอาจจะตื่นมาบ่อยหน่อยก็ต้องทนไปสักปีสองปี ส่วนจะให้นอนเปลหรือไม่ รวมทั้งการเห่กล่อม เหล่านี้อาจจะเป็นเทคนิคของแต่ละคน เป็นศิลปะในการเอาลูกนอนของแต่ละคน แต่สิ่งที่จะแนะนำก็คือ
แม่ลูกอ่อนควรทำใจให้สงบ จะช่วยให้ลูกใจสงบได้ระดับหนึ่ง

เวลาการนอนตามธรรมชาติของเด็ก จะลดลงตามอายุอยู่แล้ว แรกเกิดนอนเป็นช่วง ๆ รวมแล้วประมาณ 16-18 ชั่วโมง แล้วค่อยนอนติดต่อกันยาวขึ้นในช่วงกลางคืน นอนกลางวันน้อยลงจนเหลือสองงีบ เช้าบ่าย จนอายุประมาณ 12-15 เดือน จึงเลิก การงีบนอนในตอนเช้า พอเข้า 1 ขวบ ใช้เวลานอนประมาณ 14 ชั่วโมง เด็กวัย 2 ขวบ นอน 12-13 ชั่วโมง จนถึงวัย 3 ขวบ เวลานอนจะลดลงเหลือ 12 ชั่วโมง การงีบนอนตอนบ่ายจะเลิกประมาณ 3-4 ปี จนกระทั่งถึง 5 ขวบ เด็กต้องการเวลานอน เพียง 11 ชั่วโมง ปัญหาอีกเรื่องที่แม่ต้องตระหนักไว้ คือในช่วง 6-12 เดือน ทารกเริ่มหลับยาวแล้ว อาจจะเริ่มตื่นบ่อยตอนกลางคืนอีก ทารกที่ได้นมแม่จะตื่นบ่อยเวลากลางคืน ก็จะพยายามใช้หลักที่ว่าตอบสนองให้น้อยที่สุด สั้นที่สุด เพื่อให้เขานอนต่อเองได้ โดยไม่ต้องกวนเรา

ถาม - แล้วอย่างนี้จะไม่ทำให้ลูกยิ่งร้องตื่นหรือคะ
ตอบ ต้องค่อย ๆ ทำค่ะ คือในช่วงเดือนแรก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกตื่นกลางคืน บ่อยเกินไปเราอาจจะไม่ไปหาเขาในทันที พอเขาร้องเราก็อาจรอดูก่อน พยายามยืดเวลาการนอนให้ได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ไม่ใช่ลูกร้องแอ๊ะนึงก็เข้าไปหาเขาทุกชั่วโมง ลองเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือดูเรื่องอื่น ๆ ก่อน ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ค่อยให้นม คือค่อย ๆ ดึงเขา อยู่ในตารางเวลา เช่น อาจจะกินครั้งสุดท้ายเที่ยงคืน เดือนหลัง ๆ เราอาจจะยื้อจาก 3 ชั่วโมงเป็น 5 ชั่วโมงได้ แม่ก็จะได้นอนยาวหน่อย แต่แม่ต้องไม่เครียดนะ ต้องทำใจให้สบาย เพราะถ้าแม่เครียดด้วยบางทีเราอาจจะเห็นภาพแม่นั่งร้องไห้อยู่มุมหนึ่ง ลูกร้องอยู่มุมหนึ่ง

ทีนี้มันก็มีความเชื่อที่ว่า อย่าอุ้มมากเดี๋ยวจะติดมือ แต่ความเห็นของหมอคิดว่าการอุ้มเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการค่อย ๆ ดึงเขาออกจาก ความเคยชินที่เขาอยู่ในครรภ์มาตลอด แต่ว่าสมัยก่อนที่เขาไม่อุ้มลูกเยอะ เพราะเขาต้องทำงานใช้แรงงานตลอด มัวมาอุ้มเด็กก็พอดีไม่ได้ทำงาน แต่สมัยนี้เรามีเครื่องมือทุ่นแรงเยอะแยะ พวกเปลหรือเป้ก็ใช้ได้ เป็นการปรับให้เหมาะสม อย่างพวกชาวเขาหรือของคนอินโดนีเซีย ที่เขาจะมีเครื่องอุ้มพวกนี้แนบกับอก เราก็จะพบว่าเด็กพวกนี้ร้องน้อยลง แล้วก็มีการศึกษาชัดเจนว่า ยิ่งอุ้มยิ่งร้องน้อย คือเหมือนเขาอยู่ในท้อง มันได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้น ได้ยินเสียงเลือดสูบฉีด เทคนิคอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็จะดูว่า ไม่อึไม่ฉี่ แล้วก็ให้ดูด ถ้าเผื่อเด็กเลี้ยงง่าย เราจับเขาคว่ำตบก้นเบา ๆ เดี๋ยวเขาก็หลับ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาเขาก็ต้องกิน ให้ดูดนมแม่ก็เป็นการเห่กล่อมที่ดี ถ้าอุ้มแล้วเดินไม่เกิน 15 นาทีเขาก็หลับ

การอุ้มมีอยู่หลายท่า บางคนก็แบกอย่างเดียว ท่าอื่นไม่เอา บางคนให้ลูกนอนคว่ำ แล้วตบๆ ก้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ แม่ต้องทำใจให้สงบ ที่สังเกตลูกที่ไม่มีปัญหาคือลูกที่มีแม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีเป็นลูกที่ทุกคนรอคอย
ตรงข้ามกับเด็กที่ไม่ได้รับการซัพพอร์ทที่ดี ลูกจะร้องโหยหวน แม่ก็ร้องไปด้วย ยิ่งบางคนที่ไม่เคยเลี้ยงเด็กมาก่อน พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าก็งง

บางคนอาจใช้เทคนิคการห่อ แต่ก็มีการแย้งว่าการห่อเด็กจะทำให้เด็กไม่ได้รับ การออกกำลัง ขาดการเคลื่อนไหว ทำให้เด็กไม่ถีบ บางทีแค่จับเด็กคว่ำ ตบก้นเบา ๆ ก็ ได้ผล บางคนอาจจับอาบน้ำหน่อยนึง เปลี่ยนคนอุ้มบ้าง เพราะแม่อุ้มทั้งวันก็ไม่ไหวเหมือนกัน

ถาม - เกี่ยวกับการให้นม มีผลต่อการนอนอย่างไรบ้างคะ
ตอบ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากจะเป็นวิธีการเห่กล่อมอย่างหนึ่งแล้ว มันจะช่วยให้เป็นแม่ให้ได้ง่ายขึ้น คือมันจะมีฮอร์โมนที่ดีหลั่งออกมา ทำให้แม่รู้สึกดีที่ได้ให้อะไรแก่ลูก และการให้นมแม่จะดีกว่านมผงมาก เดือนแรกเราควรจะให้กินแต่นมแม่อย่างเดียว เพราะการดูดจะช่วยให้ฮอร์โมนที่ดีของแม่หลั่งทุก 3 ชั่วโมง ในช่วงแรก ๆ จะต้องให้ลูกดูดบ่อย ๆ เพื่อระดับของฮอร์โมนจะได้คงที่ ซึ่งจะทำให้การเลี้ยงดูเด็กเกิดปัจจัยบวกได้มากกว่า

ถาม - การป้องกันไม่ให้ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนทำได้อย่างไรคะ
ตอบ - สร้างสุขนิสัยที่ดีตามวัยค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก พยายามจัดสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเท อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่สว่างเกินไป ไม่อึกทึกครึกโครม กิจกรรมก่อนนอนก็ควรเป็นกิจกรรมที่สงบ เช่น ร้องเพลงเบา ๆ อ่านนิทานเบา ๆ ค่อย ๆ เตรียมเข้าสู่นิทราอย่างนุ่มนวล แล้วลูกก็จะหลับสบาย

พ.ญ.สุดา เย็นบำรุง
แผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1