พ.ญ.พรรณวดี วิโรจน์วงศ์
เราทุกคนต่างก็ทราบถึงความสำคัญของวัคซีนกันแล้วนะคะ แต่ตอนนี้เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ ที่มีลูกเล็ก ๆ รวมทั้งที่โต ๆ ไปแล้วด้วย คงจะสับสนบ้างพอสมควรกับวัคซีนใหม่ ๆ ที่เข้ามาในบ้านเรา ว่าเป็นวัคซีนอะไรกันบ้าง ควรฉีดหรือไม่ มีผลข้างเคียงอย่างไร และควรฉีดเมื่อไรจึงจะเหมาะสม
วัคซีนที่ฉีดกันอยู่แล้ว
สำหรับวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (DPT) วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน (OPV) วัคซีนหัดเยอรมัน คางทูม (MMR) และวัคซีนตับอักเสบบีนั้น คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ คงจะคุ้นเคย เข้าใจดีแล้วนะคะ เพราะเป็นวัคซีนพื้นฐานที่กระทรวงฯ กำหนดไว้ในแผนที่จะฉีดให้เด็ก ทั่วประเทศอยู่แล้ว
รู้จักวัคซีนใหม่
ทีนี้มาดูวัคซีนตัวใหม่ ๆ ที่เข้ามาในบ้านเรากันบ้าง แล้วตัดสินกันเองว่าควรจะฉีดหรือไม่ เพราะวัคซีนเหล่านี้บ้านเรายังผลิตไม่ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจึงยังค่อนข้าง แพงอยู่ค่ะ
วัคซีนป้องกันโรค HIB
เชื้อฮิบ (HIB) หรือที่ย่อมาจาก Hemophilus influenza type B เป็นเชื้อที่ทำให้เกิด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก ๆ มักเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี พบมากที่สุดคืออายุ 4 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กไทย มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HIB ต่ำที่สุด (เพราะแรกเกิด จะมีภูมิคุ้มกันจากแม่ หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลง)
เชื้อนี้จะล่องลอยอยู่ในอากาศ ติดต่อจากการไอจามรดกัน และทางระบบหายใจ โดยคนธรรมดา เป็นพาหะได้ เมื่อเด็กเล็ก ๆ ไปในที่ที่มีคนแออัด โอกาสติดเชื้อนี้ก็มีสูง เพราะอย่างที่บอกว่าช่วงอายุ 4 เดือนเด็กมีภูมิคุ้มกันเชื้อนี้ต่ำมาก
ฉีดอย่างไร
วัคซีนที่มีในประเทศไทยขณะนี้มี 2 บริษัทที่นำเข้า การฉีดจะแตกต่างกันเล็กน้อย การฉีดวัคซีนนี้ควรฉีดเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4เดือน และ 6 เดือน เพราะจะให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ ก่อนอายุ 4-5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันจากแม่ลดลงต่ำสุด หลังฉีดวัคซีน 3 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันจะสูงมากจนไม่ต้องกระคุ้นเข็มที่ 4 สามารถให้ร่วมกับ DPT, OPV ได้ ขณะนี้มีวัคซีนรวม DPT+HIB ในเข็มเดียวกัน หรือ DOT+HIB+โปลิโอเข็มเดียวกันด้วย
ถ้าฉีดเมื่อเด็กอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ก็ให้ฉีดเข็ม 2 เข็ม เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 2 เดือน ถ้าอายุเกิน 12 เดือนแล้ว ให้ฉีดเพียงเข็มเดียว สำหรับเด็กไทยที่อายุเกิน 4 ขวบ จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ HIB เกือบทุกคน จึงไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ในเด็กที่อายุมากกว่า 4 ขวบ
ฉีดดีหรือไม่ดี
ในประเทศไทยปัญหาการติดเชื้อ HIB ไม่สูงเท่ายุโรปและอเมริกา จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้ในเด็กทั่วไป
เด็กที่ควรได้รับวัคซีนนี้คือ |
|
วัคซีนสุกใส
เป็นวัคซีนยอดนิยมอีกตัวซึ่งใครต่อใครถามถึงกันมาก ในขณะนี้โรคสุกใสเป็นโรคที่พบ ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ สุกใสที่เป็นในเด็กอาการมักไม่รุนแรง มีไข้และตุ่มใส ๆ ขึ้นตามตัว อาการข้างเคียง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ จะพบน้อยกว่าสุกใสในผู้ใหญ่ สุกใสในผู้ใหญ่อาการจะรุนแรงกว่า ไข้จะสูงและจำนวนตุ่มใสจะมากกว่าในเด็ก
ฉีดอย่างไร
การฉีดก็ให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป โดย 1-13 ปี ฉีดเพียง 1 เข็ม อายุมากกว่า 13 ปี ฉีด 2 เข็มห่างกัน 1-2 เดือน
ฉีดดีหรือไม่ดี
ชมรมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 10-12 ปี เพราะถ้าเป็นเด็กเล็ก อาการมักไม่รุนแรงและภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต เด็กประมาณร้อยละ 50 จะเป็นก่อนอายุ 10 ปี ในเด็กโตและผู้ใหญ่อาการจะรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนบ่อย ถ้าอายุมากกว่า 13 ปีต้องให้ถึง 2 เข็มทีเดียว
ผลดีของวัคซีนนี้คือ โอกาสที่จะเป็นงูสวัดนั้น จะน้อยกว่าพวกที่เป็นสุกใสโดยธรรมชาติ แต่คนที่ได้รับวัคซีนยังพบที่เป็นงูสวัดบ้าง แต่อาการจะน้อยกว่าคนปกติ
หลังได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90 จะมีภูมิคุ้มกัน การศึกษาในช่วง 7-10 ปีมานี้พบว่า
ร้อยละ 97 ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ เมื่อติดตามถึง 20 ปี ภูมิคุ้มกันบางคนยิ่งสูงขึ้น จากการที่ได้รับ การกระตุ้นเพิ่มจากธรรมชาตินั่นเอง
ราคา
วัคซีนสุกใสราคาค่อนข้างสูงคือ 1,300-1,500 บาท คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพิจารณา ถึงความเหมาะสม บางคนคิดว่าหากมีกำลังทรัพย์พอ การฉีดวัคซีนนี้ให้ลูกก็จะช่วยป้องกัน ไม่ให้มีปัญหาตามมา เช่น ลูกร้องไห้โยเยมาก หรือกลัวลูกคุ้ยแคะแกะเกาจนเป็นแผล เป็น บางคนมีไข้เมื่อไรเป็นชัก ก็จะใช้วิธีฉีดไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้ลูก ตั้งแต่ยังเล็ก ควรปรึกษาแพทย์ด้วยค่ะ แต่ถ้าขาดกำลังทรัพย์แล้วต้องไปขวนขวายเป็นหนี้เป็นสินเพื่อพาลูกไปฉีด ก็อาจไม่จำเป็น
วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่อยู่รวมกันหลาย ๆ คน จะมีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อสูงกว่าคนอื่น และพบว่าเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบเอจะไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็น แต่ถ้าเป็นเด็กที่มีอายุมากกว่า 5 ปี มักจะแสดงอาการและอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้นของผู้ป่วย
คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อย คลื่นไส้อาเจียน และในอีก 1 สัปดาห์ จะมีอาการดีซ่าน ถ้าตัวเหลืองมากจะคันบริเวณผิวหนัง ปวดใต้ชายโครงขวา ซึ่งเป็นบริเวณตับ ปัสสาวะสีเข้มเป็นฟอง และอาจเกิดอาการตับอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะอ่อนเพลีย อาการของโรคจะอยู่ค่อนข้างนานคือประมาณ
6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
ฉีดอย่างไร
ในประเทศไทยขณะนี้มีวัคซีนชนิดนี้จำหน่ายเพียงบริษัทเดียว โดยให้ฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป
เด็กอายุ 2 - 18 ปี มีการฉีด 2 แบบคือ |
- ฉีด 360 ยูนิต 3 เข็ม โดยเข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 1 เดือน เข็ม 2 และเข็ม 3 ห่างกัน 5-11 เดือน - ฉีด 720 ยูนิต 2 เข็ม เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 6-12 เดือน |
อายุมากกว่า 18 ปี |
ฉีด 1,440 ยูนิต 2 เข็ม เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 6-12 เดือน |
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
เป็นวัคซีนตัวใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยและหากจะฉีดกันจริง ๆ ก็ต้องฉีดทุกปี เพราะเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางพันธุกรรมได้ จึงต้องเปลี่ยนเชื้อในการทำวัคซีน ทุกปี ขึ้นกับสายพันธุ์ที่พบบ่อยในปีนั้น และยังมีราคาสูง นั่นคือประมาณ 300-500 บาท จึงควรพิจารณาให้ดี
ฉีดดีหรือไม่
วัคซีนชนิดนี้ควรฉีดในเด็กที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงจากโรค เช่นเด็กที่เป็น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด เด็กที่เป็นโรคหัวใจ ไตวาย เด็กที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ ในคนสูงอายุ และผู้ใหญ่หรือเด็กที่ต้องเดินทางไปประเทศที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดมาก เพราะคนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากไข้หวัดใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น
เนื่องจากวัคซีนที่มีใช้ตอนนี้ ไม่มีเชื้อกรุ๊ป B ซึ่งพบมากในคนไทย มีแค่ A, C ซึ่งพบน้อย ในไทย และภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอยู่ไม่ทน จึงไม่แนะนำให้ฉีดในคนทั่วไป วัคซีนที่มีนำมาใช้นั้นจะสำหรับผู้ที่จะไปแสวงบุญที่เมกกะ
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
เป็นวัคซีนที่คนไทยเฝ้ารอคอย วัคซีนนี้คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการทำสัญญา ผลิตเป็นอุตสาหกรรมกับบริษัทของฝรั่งเศส ขณะนี้กำลังทำการทดสอบในเด็ก
อีกประมาณ 5 ปี วัคซีนนี้คงนำมาใช้ได้ค่ะ
สรุปว่าขณะนี้ไทยเรามีวัคซีนตัวใหม่ ๆ หลายตัว และเป็นวัคซีนซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ได้กำหนดไว้ในแผนที่จะฉีดให้กับเด็กทั่วประเทศ คงต้องอยู่ในดุลยพินิจ ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะพิจารณาถึงราคาวัคซีน ว่าจะคุ้มกับการเสียเวลาดูแลลูกที่อาจป่วย ด้วยโรคดังกล่าวในยุค IMF นี้หรือไม่ เพราะวัคซีนส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างสูง และทุกตัวต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศค่ะ
ตารางวัคซีน | ||
อายุ | วัคซีนที่ต้องฉีด | วัคซีนที่ฉีดหรือไม่ก็ได้ |
---|---|---|
แรกเกิด | BCG (ป้องกันวัณโรค), ตับอักเสบบี เข็ม 1 | |
1-2 เดือน | ตับอักเสบบี เข็ม 2 | |
2 เดือน | DPT (คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก) เข็ม 1, OPV (โปลิโอชนิดกิน) เข็ม 1 (อาจให้โปลิโอชนิดฉีด) | HIB เข็ม 1 |
4 เดือน | DPT เข็ม 2, OPV เข็ม 2 (อาจให้โปรลิโอชนิดฉีด) | HIB เข็ม 2 |
6 เดือน | DPT เข็ม 3, OPV เข็ม 3 | HIB เข็ม 3 |
6-12 เดือน | ตับอักเสบบี เข็ม 3 | |
9-12 เดือน | หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม (MMR) เข็ม 1 | |
1-2 ปี | ไข้สมองอักเสบ (เข็ม 1 เข็ม 2 ห่างกัน 1 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน) | สุกใส (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด) |
11/2 ปี | DPT เข็ม 4, OPV เข็ม 4 | |
2-3 ปี | ไข้สมองอักเสบ (เข็ม 3) | |
4-6 ปี | DPT เข็ม 5, OPV เข็ม 5, หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม (MMR) เข็ม 2 | ตับอักเสบ (0, 1, 6 หรือ 0,6 เดือน) |
10-12 ปี | สุกใส (ถ้ายังไท่เคยเป็น หรือยังไม่เคยฉีด) | |
12-16 ปี | คอตีบ, บาดทะยัก (DT) |
พ.ญ.พรรณวดี วิโรจน์วงศ์
main |