มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพุธที่ 4 ,11 พฤศจิกายน 2541 ]

สิทธิผู้ป่วย…ขอย้ายโรงพยาบาล

อ.ทองใบ ทองเปาด์


คำว่า "สิทธิ" หมายความว่า อำนาจอันชอบธรรมของผู้มีสิทธินั้น ในประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ประชาชนหวงแหนและปกป้อง สิทธิ์ ของเขามาก ปัจจุบันคนไทยยุคใหม่ก็เริ่มจะรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมากขึ้น แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ควรจะมีการรณรงค์อย่างจริงจังให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ ในเรื่องสิทธิ อย่างกว้างขวาง คือ รู้สิทธิที่เรามี รู้รักษาปกป้องสิทธิ และรู้จักเรียกร้องเอามา หากมันหายไป รวมทั้งรู้จริยธรรมในการใช้สิทธิ์โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

สิทธิที่ควรตระหนักให้มากประการหนึ่ง คือ สิทธิพื้นฐานที่ควรจะได้รับการบริการ ด้านสาธารณสุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประชาชนทุกเพศทุกวัย ต้องมีวันหนึ่งที่ได้ใช้สิทธิอันนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะสิทธิผู้ป่วยในข้อที่รับรอง ให้ผู้ป่วย ในฐานะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย ข่าวสาร และสิทธิที่จะเลือก ซึ่งนับเป็น สิทธิสำคัญของผู้บริโภคสินค้าทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สินค้าคุณภาพประเภท "ยา"

กรณีนี้หากเราไม่สบายเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลายาวนาน และต้องการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อประสิทธิผลในการรักษา หรือทราบล่วงหน้าว่า จะต้องผ่าตัด ต้องรักษาตัว ในโรงพยาบาลหลายวัน ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และต้องการกำลังใจ และความเชื่อมั่น ก็สามารถเลือกได้

แม้ได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแล้วในระยะเวลาพอสมควร เราสามารถใช้สิทธิผู้ป่วยขอย้ายไปรักษายังโรงพยาบาลแห่งอื่นได้ จะด้วยเหตุผลเพราะต้องการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางรักษา หรือไม่สามารถสู้ค่าใช้จ่ายได้ในกรณีอยู่โรงพยาบาลเอกชนก็ตาม

ทั้งนี้ผู้ป่วย หรือญาติ ซึ่งเป็นผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง สามารถขอประวัติผู้ป่วย หรือ เวชระเบียนที่แพทย์จะบันทึกการเจ็บป่วยและการรักษาต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียด ไปด้วยได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปนับหนึ่งกับการเริ่มต้นรักษาใหม่

เรื่องอย่างนี้ แม้เกรงใจคุณหมอที่เป็นเจ้าของไข้ และโรงพยาบาล แต่เรื่องจำเป็น อธิบายเหตุผลคุณหมอเข้าใจครับ เพราะนี้คือสิทธิของผู้ป่วยทุกคน เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลทุกบาททุกสตางค์ผู้ป่วยเป็นผู้ออกเอง รวมทั้งขอให้โรงพยาบาลจัดรถพยาบาลไปส่งยังโรงพยาบาลแห่งใหม่ก็ยังได้ เพราะทางโรงพยาบาลก็คงชาร์จค่ารถจากผู้ป่วยอยู่ดี ผมมีตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟัง

เพื่อนของผมมีมารดาป่วยเป็นโรคไขข้อเสื่อมซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลา ในการรักษา โดยเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นเวลาร่วมเดือนแล้ว คงเข้าใจนะครับว่าค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนเมื่อคำนวณแล้วมากมายเพียงใด ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เขาไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายจำนวนมากได้นาน

ผมจึงแนะนำให้เขาย้ายคุณแม่ไปรับการรักษายังโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีความเชี่ยวชาญ เรื่องกระดูก ไม่ต้องเกรงใจครับเพราะนี่เป็นสิทธิผู้ป่วยอันพึงกระทำได้ และการทำเรื่องขอย้ายผู้ป่วยก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ญาติคนไข้สามารถขอใช้บริการ รถพยาบาลของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรับการรักษาอยู่ หรือโรงพยาบาลใหม่ที่ต้องการ จะย้ายไป แล้วแต่อย่างไหนสะดวกกว่า เพราะเราเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเองเท่านั้น

ผู้ป่วยสามารถแจ้งความจำนงขอย้ายโรงพยาบาลกับคุณหมอเจ้าของไข้ได้ โดยอธิบายให้คุณหมอรับทราบถึงเหตุผลอันจำเป็นของเรา สิทธิข้อนี้ไม่เว้นแม้แต่การย้ายจากโรงพยาบาลรัฐบาล ไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชน ถ้าผู้ป่วยต้องการความสะดวกสบายและสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้

อย่างไรก็ตาม สิทธิผู้ป่วยข้อนี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุหรือป่วยฉุกเฉิน ซึ่งต้องรีบเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลใกล้ที่สุด และส่วนมากมักจะเป็น โรงพยาบาลเอกชน เมื่อได้รับการปฐมพยาบาลและรับการรักษาจนพ้นขีดอันตรายแล้ว ก็สามารถย้ายไปรักษาหรือพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลของรัฐบาลได้

ทั้งนี้ไม่ต้องวิตกว่าการรักษาจะไม่ต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยสามารถขอประวัติคนไข้ ที่บันทึการเจ็บป่วย และการรักษาไว้อย่างละเอียดจากแพทย์ได้ หรือเมื่อย้ายไปแล้วแพทย์โรงพยาบาลใหม่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถกลับมาขอได้ ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดีก็จริง แต่ไม่ควรหยิบมาใช้ในกรณี ความเป็นความตายของเรานะครับ

เงื่อนไขในสัญญาประชาคมบางฉบับ ที่กำหนดให้คนป่วยต้องใช้รพ.นั้น รพ.นี้ ตามที่กำหนดไว้ มิฉะนั้นจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้นั้นผมว่า เชยและขัดต่อสิทธิมนุษยชนครับ

อ.ทองใบ ทองเปาด์
ทนายความแมกไซไซ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1