นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
โลหิต คือของเหลวที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกายโดยอาศัยเส้นโลหิตขนาดต่าง ๆ โดยเฉลี่ยแล้ว ปริมาณโลหิตในร่างกายผู้ใหญ่ปกติ จะมีประมาณร้อยละ 8 ของน้ำหนักร่างกาย คือ ประมาณ 5-6 ลิตรในเพศชาย และ 4-5 ลิตรในเพศหญิง เมื่อนำโลหิตในร่างกาย มาแยกส่วนประกอบ ของโลหิต จะได้ส่วนประกอบของโลหิต 2 ส่วนคือ พลาสมา และ เม็ดโลหิต
พลาสมาหรือน้ำเหลือง มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองอ่อน ค่อนข้างใส ส่วนที่เป็นพลาสมา ประกอบด้วยน้ำ สารชีวเคมี เอนไซม์ ฮอร์โมนแอลบูมิน อิมมูโนโกบูลินชนิดต่าง ๆ และสารที่ช่วยให้เกิดการแข็งตัวของโลหิต
ในส่วนของ เซลล์เม็ดโลหิต ประกอบด้วยเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาวและเกล็ดโลหิต ซึ่งโลหิตในร่างกายมนุษย์นั้นมีคุณสมบัติพิเศษ คือมีความหนืด มีความเป็นกรด เป็นด่าง มีความเข้มข้น และมีสีแดงสดเพราะสารฮีโมโกลบินในเม็ดโลหิตแดง ซึ่งเซลล์เม็ดโลหิตแดง ช่วยในการถ่ายเทออกซิเจนให้กับร่างกาย
ประชาชนส่วนใหญ่พอจะทราบแล้วว่าเม็ดโลหิตแดง และเม็ดโลหิตขาวคืออะไร มีรูปร่างหน้าตา และหน้าที่อย่างไร แต่ความรู้เรื่องเกล็ดโลหิตนั้น มีผู้สงสัยสอบถาม ขอความรู้อยู่เสมอ ๆ นายแพทย์อิศรางค์ นุชประยูร แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ในเรื่อง เกล็ดเลือดดังนี้
ถาม : เกล็ดเลือดคืออะไร และขอทราบหน้าที่ของเกล็ดเลือด
ตอบ : เกล็ดเลือดเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ในเลือด โดยปกติเลือด 1 ซีซี จะมีเกล็ดเลือด ประมาณ 300 ล้านชิ้น เมื่อใดที่คนเราเกิดมีเลือดออก เช่น จากบาดแผล, เลือดกำเดาออก หรือมีประจำเดือน เกล็ดเลือดเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เลือดเกิดการแข็งตัว ไหลช้าลง และหยุดได้ในที่สุด และมีอายุการทำงานประมาณ 7 วันในร่างกายจึงมีการสร้างทดแทน อยู่ตลอดเวลา
ถาม : ในคนเราโดยทั่วไป จะประสบภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้เมื่อใด
ตอบ : ประชาชนทั่วไปคงจะคุ้นกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้ กำลังระบาดอยู่ ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมียุงเป็นพาหะ เมื่อยุงกัดคน นำเชื้อไวรัส ไข้เลือดออกเข้าสู่ร่างกาย นอกจากส่งผลให้เป็นโรคนี้แล้ว ผลแทรกซ้อน สำคัญก็คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดปัญหา จุดจ้ำเลือดเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออก ที่อวัยวะภายใน ทำให้เกิดสภาพช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ในโรคไข้เลือดออกที่รุนแรง และมีเกล็ดเลือดต่ำมาก จำเป็นต้องให้การรักษาโดยให้เกล็ดเลือดทดแทน
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีกหลายตัวก็ทำให้เกิดสภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับ โรคไข้เลือดออก นอกจากนั้น ภาวะไขกระดูกฝ่อ โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอสแอลอี บางระยะ โรคตับแข็ง ก็สามารถทำให้ เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้
ถาม : ผู้ป่วยมะเร็งบางรายเกิดภาวะเลือดต่ำได้หรือไม่
ตอบ : ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทำให้ร่างกาย สร้างเกล็ดเลือดไม่ได้ชั่วคราว จึงมักจะมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง โดยทั่วไป เมื่อเกล็ดเลือดในร่างกาย ลดลงบ้าง จะไม่มีอาการใด ๆ เว้นแต่ว่า เมื่อใดที่เกิดอุบัติเหตุ เล็กน้อย จะมีอาการฟกช้ำมาก หรือเลือดออกไม่หยุด อย่างใดก็ดี เมื่อใดเกล็ดเลือดต่ำมาก หรือไม่มีเลย เมื่อนั้นอาจมีอาการเลือดออกได้เอง โดยไม่มีอุบัติเหตุก็ได้ ซึ่งเลือดออกที่อันตราย ที่สุดคือ ภาวะเลือดออกในศีรษะ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในระยะเวลาอันสั้น
ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็ง, โรคไขกระดูกฝ่อหรือโรคอื่น ๆ ก็มีเกล็ดเลือดต่ำ จึงต้องได้รับการรักษา ด้วยเกล็ดเลือดจากผู้อื่น ให้ทันท่วงที เพื่อป้องกันมิให้ เกิดอาการ เลือดออก ในอวัยวะต่าง ๆ หรือเมื่อจำเป็นจะต้องทำการผ่าตัดเป็นต้น
ถาม : เมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากโรคต่าง ๆ แล้วจะได้เกล็ดเลือด มาทดแทนให้ร่างกายโดยวิธีใด
ตอบ : ในเลือดที่ได้จากผู้บริจาคโลหิตแต่ละครั้งนั้น ทางศูนย์บริการโลหิต จะนำไปแยกส่วนเม็ดเลือดแดง, พลาสมา และเกล็ดเลือด ออกจากกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ สูงสุด เกล็ดเลือดที่ได้จากการบริจาคแต่ละครั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะมี มากมายประมาณ ห้าหมื่นล้านชิ้น แต่ไม่พอเพียงที่จะช่วยรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำในผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่อใด ที่ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ จนต้องได้รับการรักษาด้วยเกล็ดเลือด มักจะต้องได้เกล็ดเลือด จากผู้บริจาค 6-8 คนรวมกัน จึงจะเพียงพอที่ จะหยุดเลือดที่กำลังไหลอยู่ และป้องกัน ไม่ให้เลือดออกใหม่ได้ นอกจากนี้ เนื่องจากเกล็ดเลือดทำงานได้เพียง 5-7 วันหลังจากเข้าสู่ ร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยบางราย จึงต้องได้รับเกล็ดเลือดทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันเลือดออก, ดังนั้นท่านผู้อ่านคง จะเห็นแล้วว่า การบริจาคโลหิตเป็นประจำ จึงช่วยชีวิตผู้ป่วย ได้มากกว่า 1 รายคือ เม็ดเลือดแดง ให้แก่ผู้ป่วยรายหนึ่งที่ซีด ส่วนเกล็ดเลือดจะนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วย อีกรายหนึ่งที่เลือดออก
ในปัจจุบันการรักษามะเร็งด้วยยาที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาด จากมะเร็งมากขึ้น ผู้ป่วยเหล่านี้ จึงต้องพึ่งการบริจาคเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น มากกว่าสมัยก่อน เกล็ดเลือด จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าเม็ดเลือดแดง และพลาสมา ในปัจจุบัน สำหรับผู้ป่วย ที่ต้องได้รับเกล็ดเลือดหลายครั้ง จะเริ่มมีอาการต่อต้านเกล็ดเลือด ที่ได้มาจากผู้อื่น กล่าวคือ เมื่อได้รับเกล็ดเลือดแล้ว จำนวนเกล็ดเลือดจะสูงขึ้น แล้วลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจึงมีทางเลือก อื่น ๆ ที่ทำให้ผู้บริจาค สามารถให้เกล็ดเลือดปริมาณมาก ๆ ได้ เพื่อให้พอเพียง แก่การรักษาผู้ป่วย ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ และป้องกันปัญหาการต่อต้านเกล็ดเลือด ในอนาคต
วิธีหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ป่วยบริจาคสามารถให้เกล็ดเลือดได้มาก คือ การบริจาคเกล็ดเลือด โดยเฉพาะ ด้วยวิธีที่เรียกว่า Apheresis ในวิธีนี้ ผู้บริจาคให้เลือดแล้ว จะถูกปั่นแยกทันที ส่วนที่เป็นเกล็ดเลือด จะถูกเก็บไว้ แต่ส่วนอื่นคือ เม็ดเลือดแดง และพลาสมา จะกลับคืนเข้าสู่ ผู้บริจาค ดังนั้นผู้บริจาค จึงให้เพียงเกล็ดเลือดจำนวนมากเท่านั้น ไม่สูญเสียเม็ดเลือดแดง หรือพลาสมา คนปกติจะสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมาทดแทนอย่างรวดเร็ว หลังจากการบริจาค เกล็ดเลือดแต่ละครั้ง จึงสามารถทำการบริจาคเกล็ดเลือดได้ทุก 2 สัปดาห์ โดยที่ไม่มีผลเสีย ต่อร่างกาย ซึ่งต่างจาการบริจาคโลหิตตามปกติ ซึ่งทำได้ไม่บ่อยกว่าทุก 3 เดือน เกล็ดเลือดเหล่านี้ มีความหมายต่อผู้ป่วยมาก เพราะทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนเกร็ดเลือด และป้องกันปัญหาการต่อต้านเกล็ดเลือดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี Apheresis นี้ มีใช้เฉพาะที่ศูนย์บริการโลหิต และโรงเรียนแพทย์บางแห่ง ในปัจจุบัน ผู้ที่สนใจอาจติดต่อ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
main |