มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ที่มา..หนังสือพิมพ์มติชน วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2543]


ครูขาทำไมโสเภณีไม่ท้อง


"คุณครูคะ ทำไมโสเภณีถึงไม่เคยตั้งท้องเลย ?"

คำถามเช่นนี้ ผู้ใหญ่ซึ่งผ่านโลกมานานรู้ดีว่า มันไม่จริง ในโลกนี้มีหญิงขายบริการเยอะแยะที่ตั้งครรภ์ (ทั้งที่ไม่อยากด้วยซ้ำ)

แต่สำหรับเยาวชนที่กำลังเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว และไม่เคยได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษามาก่อนเลย นี่คือ "คำถาม" ที่เขาสงสัยและอยากรู้จริงๆ

และนี่ก็คือ ตัวอย่างหนึ่งของคำถามอีกมากมาย ที่บรรดาคุณครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ประเทศตุรกี ถูกเด็กนักเรียนตั้งคำถามในชั่วโมงเรียนวิชาเพศศึกษาแผนใหม่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มนำมาทดลองใช้สอนในโรงเรียนบางแห่ง เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะติดตามผลไปจนถึงปี พ.ศ.2546

เจ้าของคำถามดังกล่าวคือ เด็กหญิงบรูคู วัย 13 ปี ซึ่งเพิ่งได้รับคำตอบในชั้นเรียนเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนคูวายี มิลลิเย ในเมืองซิสลี่หนึ่งในโรงเรียน ซึ่งเข้าโครงการสอนเพศศึกษาแผนใหม่ ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการนำหลักสูตรเหล่านี้มาสอนนักเรียนว่า เพราะต้องการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองและครู ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น

"เด็กๆ ของเราได้ถูกกีดกันปกปิดคำถามปัญหาเรื่องเพศศึกษามาตลอด จนกระทั่งวันนี้ล่ะ ที่เราต้องการให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึง ความรู้พื้นฐานที่เขาควรรู้ และเพื่อสร้างบรรยากาศของการเตรียมการป้องกันเพื่อที่เด็กๆ จะได้รู้ว่า เขาควรทำอย่างไร และจะพึ่งใครได้ เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ" นายแพทย์ทันจูยิลมาเซอร์ ผู้รับผิดชอบโคนงการสอนเพศศึกษาแผนใหม่เล่า

ความจริงก่อนหน้าที่จะมีโครงการนี้ ที่ตุรกีก็เคยมี การทดลองสอนวิชาเพศศึกษาคล้ายๆ กับหลักสูตรนี้มาแล้ว ในช่วงปี 2536-2540 โดยมีเด็กนักเรียนหญิงเข้าร่วมโครงการ กว่า 2 ล้านคน และจากข้อมูลที่ได้ครั้งนั้นพบว่า มีเด็กเพียง 2% หรือร้อยละ 2 คนเท่านั้นที่รู้ว่าควรจะทำยังไง เมื่อมีปัญหาเพศศึกษาเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็มีเด็กหญิงถึง 1 ใน 3 ที่รู้สึกว่า พวกเขาต้องนำเรื่องนี้ ไปขอคำปรึกษาจากคุณครู

ตักบ้า โกเค็ค 1 ในคุณครูผู้หญิงจำนวน 21 คน ที่เข้าร่วมในหลักสูตรใหม่นี้ ซึ่งจะทดลองใช้สอนไปจนถึงปี 2546 ให้ความเห็นว่า การให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษาแก่นักเรียน เป็นสิ่งที่จำเป็นและดีมากเนื่องจากสิ่งที่เด็กๆ ได้รับรู้อยู่นั้น ส่วนมากเป็นข้อมูลที่ผิดๆ และมีสิ่งที่เด็กๆ ยังไม่เข้าใจอีกมากมาย สังเกตได้จากตัวอย่างของคำถามจากเด็กนักเรียนอาทิ
การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารีได้มั้ย ?
หรือ ขนาดขององคชาติจะมีผลต่อโอกาสของการตั้งท้องหรือไม่ ?

สำหรับคำถามที่ถูกถามมากที่สุดจากบรรดาเด็กวัยรุ่น อายุราว 12-15 ปี ก็คือ อะไรคือสาเหตุของการเป็นหมัน ทำให้ไม่มีลูก? ที่เด็กสนใจคำถามนี้กันมากอาจเป็นเพราะ การไม่มีบุตร ถือเป็นเรื่องน่าละอาย และถูกมองเป็นการ "ต้องคำสาป" ในสังคมของชาวตุรกี

ครูตักบ้าเล่าว่า หลังจาก 1 ชั่วโมงผ่านไป คำถามที่เธอได้รับจากลูกศิษย์ส่วนใหญ่ก็คือ เมื่อไรคุณครูจะเริ่มสอนบทเรียนใหม่ๆ ให้พวกเราอีก ?

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ที่ตุรกีก็ยังไม่มีการบรรจุ วิชาเพศศึกษาลงในหลักสูตรการสอน จะมีก็เป็นเพียงวิชาที่ระบุไปเลยว่า เป็นวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการสืบพันธุ์ และหลักสูตรว่าด้วย เรื่องสุขอนามัยที่สอนเพื่อให้ความรู้แก่เด็กวัยรุ่นชาย-หญิง อายุระหว่าง 16-18 ปี ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศเท่านั้น

สำหรับหลักสูตรเพศศึกษาที่กำลังทดลองใช้สอนอยู่ขณะนี้ ก็ยังจำกัดในเรื่องเนื้อหา และแยกบทเรียนสำหรับเด็กชาย เด็กหญิงออกจากกัน ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้รับแจก เป็นหนังสือคู่มือไว้อ่าน

ทางด้าน เอ็นเวอร์ บาห์เซคาปิลี่ ครูใหญ่โรงเรียนคูวายี มิลลิเย มีความเห็นว่า เรื่องกฎข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศควรจะล้มเลิก ไปได้แล้วในสังคมปัจจุบันนี้ อีกทั้งการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา ควรจัดทำอย่างเป็นระบบด้วย แต่ถึงกระนั้นคุณพ่อของลูกชายวัย 18 และ ลูกสาววัย 11 ก็ยังยอบรับว่า แม้แต่ลูกๆ ของคุณครูใหญ่เอง ก็ยังไม่ได้ร่ำเรียนวิชาเพศศึกษาอย่างเป็นวิชาการ เป็นเรื่องเป็นราว หากแต่ต้องอาศัยเรียนรู้เอาเองเพราะว่า
"การพูดคุยถึงเรื่องนี้กันในครอบครัวก็ยังเป็นเรื่องที่กระอักกระอ่วนใจ" ครูใหญ่คุณพ่อลูก 2 ก็ยังยอมรับ ความจริงในเรื่องนี้

ในประเทศตุรกีนั้นประชากรถึงร้อยละ 99 เป็นชาวมุสลิม ซึ่งการทดลองสอนวิชาเพศศึกษาในโรงเรียนแต่เริ่มต้น ก็มีผู้เคร่งครัดในศาสนาออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยมากมาย โดยรู้สึกว่า แทนที่จะสอนความรู้เรื่องเหล่านี้ให้แก่เด็กๆ สู้ไปสอนเรื่องศาสนาให้มากๆ ดีกว่า แม้แต่หนังสือพิมพ์ ของอิสลามฉบับหนึ่งก็ยังเขียนคัดค้านเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งก็เรียกได้ว่า นับเป็นโอกาสที่ดีที่วิชาเช่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรได้มีโอกาสเรียนรู้ เพื่อจะรับมือและป้องกันตัวเองได้ถูก ยังมีโอกาสเริ่มต้นแล้ววันนี้ แม้จะมีเค้าว่าต้องต่อสู้กันอีกยาวนานก็ตาม!!!


ขอบคุณหนังสือพิมพ์มติชน ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1