มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2541]

เบื่อสิวเหลือเกิน

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


สิว เป็นปัญหาโลกแตก พอ ๆ กับไก่และไข่อะไรเกิดก่อนกัน สิวนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรับคนบางคน เพราะปัญหาปากท้องและการตกงานสำคัญกว่ามาก แต่ในทางตรงกันข้ามในคนบางคน สิวกลับเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาและเธอเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความกังวล ทุกข์ใจ ขาดความมั่นใจในตนเอง เสียบุคลิกภาพไปอย่างมาก ยิ่งถ้าเกิดเป็นแผลเป็นรอยดำชัดเจน หรือหลุมลึก จะยิ่งทำให้กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะกังวลว่าไม่สวยไม่หล่อ อายเพื่อนฝูง ความจริงแล้ว สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ แทบทุกคนจะต้องผ่านพบประสบกันมาแทบทั้งนั้น สิวที่เกิดขึ้น สามารถหาหนทางแก้ไข ป้องกัน หรือเยียวยารักษาได้อย่างถูกวิธี ไม่ควรจะไปเครียดหรือท้อแท้ใจ เรามาหาหนทางแก้ไขเรื่องสิวกันดีกว่านะคะ

สิว คืออะไร
ใคร ๆ ก็รู้จักสิวกันทั้งนั้น สิว คือ การอักเสบเรื้อรังของต่อมไขมัน (sebaceous follicle) จะมีลักษณะสำคัญที่เรียกว่า "โคมีโดน" (comedone) มองดูคล้าย ๆ กับสิวอุดตัน บางคนอาจเป็นแบบสิวหัวแดง (erythematous papule) หรือสิวหัวหนองได้ (pustule) ส่วนใหญ่มักพบสิวในช่วงวัยรุ่นถึงวัยเจริญพันธุ์ คือ 14-30 ปี เพราะฉะนั้นเด็กวัยรุ่น ที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มสาว ดังเปรี๊ยะ ๆ จะผ่านพบกับสิวกันมาแทบทั้งนั้น ปัญหาคือ บางคนชอบบีบ แกะ แคะ คุ้ย ทำให้เกิดแผลเป็นตามมาภายหลังได้ ในผู้ใหญ่บางคนวัย 50 กว่า ๆ ยังอาจเกิดสิวแถมมา ให้ดูเล่นประปราย กันได้บ้างนะคะ นอกจากสิวจะพบที่บริเวณใบหน้า แล้วยังอาจพบตามหน้าอก แผ่นหลัง ต้นแขน ได้อีกด้วย

สิวมีสาเหตุ ปัจจัยร่วมและปัจจัยชักนำต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
1.รูเปิดและท่องทางเดินของต่อมไขมันอุดตัน
ดังนั้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าผู้ที่มีใบหน้ามัน ผมมัน ศีรษะมัน มักจะมีโอกาสเกิดสิว ได้ง่ายกว่าผู้ที่มีใบหน้าแห้ง

2. แบคทีเรีย
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย P.acnes (Propionibacterium acnes) ได้บ่อยที่สุด แต่มีสิวหัวหนองบางชนิด อาจเกิดจากการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนได้

3. ช่วงใกล้มีประจำเดือน (Premenstrual)
ส่วนใหญ่ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน จะมีโอกาสเกิดสิวมากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้หญิงบางคน ใน 1 เดือน จะเป็นสิวประมาณ 1 สัปดาห์ แบบนี้ก็พอจะรับไหว จริงไหมคะ

4. กรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์มีส่วนบ้าง เช่น บางคน พ่อแม่ไม่ค่อยเป็นสิว ลูก ๆ ก็อาจจะมีโอกาสเกิดสิวได้ไม่มากนัก ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ บางคนเป็นสิวกันมาก แบบรุนแรง มีแผลเป็นหลุมลึก หน้าไม่เรียบ ลูก ๆ ก็มีโอกาสจะเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น คือ เป็นสิวมาก เลียนแบบได้เช่นกัน

5. เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว
เป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดสิวในวัยกลางคน หรืออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ในเครื่องสำอาง หรือครีมบำรุงผิวนี้บ้างครั้ง บางคนแพ้สารพวกน้ำมันออยล์ แพ้สารเคมีในน้ำมันใส่ผม ยาย้อมผม แพ้สารเคมีในยากันแดด เป็นต้น เมื่อเกิดการแพ้ การระคายเคือง จะทำให้ท่อทางเดินต่อมไขมันอักเสบ เกิดการอุดตัน ทำให้เกิดเป็นสิวขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการใช้เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ยากันแดด กันให้ดี ๆ

6. ยา
ยาบางชนิด ทำให้มีโอกาสเกิดเป็นสิวได้มากขึ้น ได้แก่ พวกฮอร์โมนยาคุมกำเนิด ยาพวกสเตียรอยด์ ฮอร์โมนเพศชาย (androgen) เป็นต้น

7. ความเครียด วิตก กังวล
สังเกตดูเจ้าความเครียดกังวลนี้ เป็นบ่อเกิดสารพัดโรค จริง ๆ นะคะ นอกจากนี้ยังทำให้แก่เร็วอีกด้วย ความเครียดทำให้เกิดสิวได้ง่าย เช่น งานหนัก ดูหนังสือสอบ ฯลฯ สิวก็เห่อมากขึ้น

8. การถู ขัดหน้า ล้างหน้าบ่อย
สมัยนี้หนุ่มสาวยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ยุคอินเทอร์เนต ต่างนิยมที่จะไปนวดหน้า ขัดหน้า อบไอน้ำ อบสมุนไพร พอกหน้า อาบน้ำแร่ แช่น้ำนม กันอย่างครึกครื้น ซึ่งการถู ขัดหน้า หรือการล้างหน้าบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้ตัวคลุมผิวตามธรรมชาติ (Skin barrier) หลุดออกไป จะทำให้ผิวหน้าบาง ผิวหน้าจะไวต่อสิ่งแวดล้อม จะมีโอกาสเกิดสิวได้มากขึ้น

9. อากาศร้อน
ช่วงที่อากาศร้อนจัดหรือมีเหงื่อออกมาก หรือการที่ต้องสัมผัสกับน้ำมันจะมีโอกาสเกิดสิวมากขึ้น

10. อาหาร
พวกเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ถ้าช่วงไหนที่ดื่มมากสิวจะเห่อได้มากขึ้น พวกช็อกโกแลตที่แสนอร่อยนั้น ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่ ที่ทำให้สิวเห่อมากขึ้น คงจะจริงในบางคนเท่านั้น

11. การนอนหลังพักผ่อนไม่เพียงพอ
แน่นอนที่สุด ถ้าคุณนอนดึก ร่างกายทรุดโทรม จะเกิดสิวได้ง่ายขึ้น

วิธีป้องกันการเกิดสิว
กันไว้ดีกว่าแก้นะคะ ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยข้างต้นที่ทำให้เกิดสิวกำเริบ โอกาสเป็นสิวก็จะลดน้อยลง วิธีปฏิบัติตัว คือ

  1. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของไขมัน หรือสารเคมีที่ทำให้เกิดสิว
  2. อย่าล้างหน้าบ่อย ล้างหน้าวันละ 2-3 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว อย่าถูหน้าแรง ๆ
  3. หลีกเลี่ยง การนวดหน้า ขัดหน้า ถูหน้า พอกหน้า
  4. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส อย่าเครียดมาก
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึกมาก
  6. ห้ามบีบ แกะสิว เพราะจะทำให้เกิดแผลเป็นได้ง่าย
  7. งดการใช้น้ำมันใส่ผม อย่าปล่อยให้ผมมัน สระผมสม่ำเสมอ
  8. งดเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ต่าง ๆ
การรักษาสิว
ยากิน กลุ่มยาทา
มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและทำให้สิวหลุดลอกออกไป ละลายตุ่มสิว ทำให้เล็กลงหลุดลอกออกไปได้ เช่น
  • ยาน้ำโลชั่น
    กลุ่ม คลินดามัยซิน (1% clindamycin)
    กลุ่มอิริโทรมัยซิน (2% erythromycin)
  • ยาครีมกลุ่มเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์
  • ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ ในรูปเจลใส (isotretinoin)
  • ยาทาผสมกรดกำมะถัน กลุ่มรีซอร์ซินัล
  • ยาทาแผลเป็น กลุ่มกรดอะเซเลอิค ฯลฯ
มีหลายกลุ่ม ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ได้แก่
  • กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น เตตร้าซัยคลิน ด๊อกซิซัยคลิน อิริโทรมัยซิน ซัลฟา ฯลฯ
  • กลุ่มกรดวิตามินเอ คือ ยาเรตินอยด์ (isotretinoin) มีฤทธิ์ลดการสร้างไขมันที่ต่อมไขมัน ทำให้ลดความมันบนใบหน้าได้ สิวลดลงแห้งลง
  • กลุ่มฮอร์โมน เช่น ไซโปรเทอโรนอะซีเตต ฯลฯ

ทั้งนี้ ท่านที่เป็นสิวมาก หรือรุนแรง หรือบางท่านเป็นสิวน้อยแต่กังวลใจมาก ควรรีบมาพบปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านโรคผิวหนังเสียแต่เนิ่น ๆ จะได้รักษาอย่างถูกวิธี ห้ามซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางตัวมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกัน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้นนะคะ

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1