มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2540 ]

ผมร่วง ปัญหาน่าหนักใจ

นพ.บุญธีร์ ศรีพิทักษ์


หลายท่านอาจไม่เคยให้ความสนใจเส้นผมตนเองมากนัก แต่ถ้าวันหนึ่งสังเกตว่า ผมร่วงมากผิดปกติ ผมเริ่มบางลง เชื่อแน่ว่าคงอดวิตกกังวลไม่ได้ และก็คงสรรหา วิธีการต่าง ๆ มารักษา ไม่ว่าจะเป็นยาอะไรใครว่าดีก็รีบนำมาทดลองใช้ บางท่านก็เสียเงินไปไม่ใช่น้อยกับการใช้ยาหรือวิธีการต่าง ๆ ที่อ้างสรรพคุณ ในการรักษาโดยไม่ทราบว่าตัวยาคืออะไร หรือไม่ทราบถึงสาหตุที่แท้จริงของผมร่วง บทความนี้คงช่วยให้ท่านเข้าใจถึงสาเหตุ และวิธีรักษาผมร่วงทางการแพทย์ในปัจจุบัน เพื่อท่านที่เกิดปัญหาผมร่วงจะได้ดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ธรรมชาติของเส้นผม
โดยเฉลี่ยแล้วคนเรามีเส้นผมอยู่ประมาณ 1 แสนเส้น ในจำนวนนี้ 85-90 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในระยะเจริญ ซึ่งจะงอกยาวเดือนละประมาณ 1 เซนติเมตร ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 ปี อีก 10-15 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ในระยะพัก และเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้วหลุดร่วงออกไป พร้อมกับเกิดผมเส้นใหม่งอกขึ้นมาทดแทนกลับสู่ระยะเจริญอีกครั้ง เป็นเช่นนี้เรื่อยไป ดังนั้นการที่มีผมร่วงวันละ 50-60 เส้น จึงเป็นเรื่องปกติ เส้นผมที่งอกยาวขึ้นมาจาก หนังศีรษะเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว ประกอบด้วยโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่วนรากผมเป็นเซลล์ที่มีชีวิตและเป็นตัวสร้างเส้นผมให้ยาวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรากผมจึงเป็นส่วนสำคัญ ถ้ารากผมถูกทำลาย หรือผิดปกติไป เส้นผมก็จะไม่งอก หรืองอกผิดปกติได้

เมื่อใดจึงเรียกว่าผมร่วงผิดปกติ
ดังที่กล่าวแล้วว่าเส้นผมจะหลุดได้เองตามธรรมชาติ ในทางการแพทย์จะถือว่า ผมร่วงผิดปกติเมื่อผมร่วงมากกว่าวันละ 100 เส้น หรือผมร่วงแล้วไม่งอกขึ้นมาใหม่ หรืองอกขึ้นมาแต่เป็นเส้นเล็กบางลงกว่าเดิม หรือผมร่วงเป็นหย่อมเฉพาะบางบริเวณ

สาเหตุของผมร่วงผิดปกติ
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ สาเหตุจากกรรมพันธุ์เรียกว่า Androgenetic alopecia การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไม่จำเป็นต้องเกิดกับพี่น้องทุกคน และบางครั้งก็พบว่า ไม่มีบุคคลอื่นในครอบครัวผมบางเลยก็ได้ เชื่อว่าบิดาหรือมารดาอาจมีกรรมพันธุ์อยู่ แต่ไม่แสดงออก แต่จะถ่ายทอดมายังบุตรได้ อย่างไรก็ตามพบว่าถ้าบิดามารดาผมบาง บุตรจะมีโอกาสผมบางมากขึ้น โดยที่ผมร่วงจากพันธุ์กรรม ต้องมีปัจจัยจากฮอร์โมน เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย แต่พบได้ในร่างกายของผู้หญิงในปริมาณต่ำ ๆ ฮอร์โมนนี้ จะไปจับกับเซลล์รากผม ทำให้เส้นผมหลุดร่วง และผมที่ขึ้นใหม่ เส้นจะเล็กลง โดยเมื่ออายุมากขึ้น ผมก็จะบางลงมากขึ้นตามอายุ

ลักษณะของผมร่วงจากพันธุกรรม ในเพศชายผมจะเริ่มบางทางหน้าเป็นรูปตัว M ต่อมาเริ่มบางมากขึ้นบริเวณด้านหน้าและกระหม่อม และอาจบางมากขึ้นจนศีรษะล้าน เหลือเส้นผมเฉพาะบริเวณด้านข้างและด้านหลัง ส่วนในเพศหญิงผมจะบางบริเวณกระหม่อมกลางศีรษะ และบางลงมากขึ้นตามอายุ

สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดผมร่วงกระจายทั่ว ๆ ศีรษะ
  • ผมร่วงหลังคลอดบุตร เกิดจากฮอร์โมนร่างกายเปลี่ยนแปลง เกิดในช่วง 1-6 เดือนหลังคลอด โดยทั่วไปผมจะงอกขึ้นใหม่ได้เป็นปกติ
  • โรคทางร่างกายบางชนิด เช่น โรคของต่อมธัยรอยด์, การเจ็บป่วยเรื้อรัง, การขาดสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นต่อการสร้างเส้นผม, การติดเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น
  • ความเครียดทางร่างกาย เช่น หลังการผ่าตัด, การมีไข้สูง การลดน้ำหนักมาก ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมักจะเกิดผมร่วง หลังผ่านพ้นเหตุการณ์นั้น ประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ ความเครียดทางจิตใจ ก็มีผลต่อการเกิดผมร่วงได้เช่นกัน
  • การได้รับยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคธัยรอยด์เป็นพิษ, ยากันชัก, ยาลดการแข็งตัวของเลือด, ยาโรคหัวใจบางชนิด, ยารักษาโรคมะเร็ง, วิตามินเอขนาดสูง เป็นต้น
  • การดูแลเส้นผมไม่ถูกวิธี เช่น การใช้น้ำยาดัดผม หรือกัดสีผมมากเกินไป การใช้ความร้อนเป่าผมบ่อย ๆ อาจทำให้เส้นผมเปราะและขาดง่าย

เส้นผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เฉพาะบางบริเวณมีสาเหตุได้จาก
  • ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความแปรปรวน ของภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ไปทำลายรากผม โดยไม่ทราบสาเหตุ โรคนี้พบได้บ่อย โดยผมร่วงมีลักษณะเป็นหย่อม ๆ โดยไม่มีการอักเสบของหนังศีรษะให้เห็น อาจพบเพียงหย่อมเดียว หรือหลายหย่อมก็ได้ บางรายผมอาจร่วงทั้งศีรษะหรือมีขนคิ้วขนตาร่วงด้วย
  • โรคผิวหนังที่เกิดบริเวณหนังศีรษะ และการติดเชื้อ ซึ่งจะพบมีการอักเสบหรือเป็นขุ่ยบริเวณหนังศีรษะให้เห็น บางครั้งเมื่อหายเกิดแผลเป็นและผมร่วงอย่างถาวรได้
  • การดึงผมเล่นเป็นประจำ อาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้ โดยจะมีตอผมให้เห็น เป็นจุดดำ ๆ บริเวณหย่อมผมร่วง
  • ผมร่วงจากการดึงรั้ง เช่นการรัดผมแน่น, การทอผม, อาจทำให้บริเวณที่ถูกดึงรั้ง นาน ๆ เกิดผมร่วงได้

ควรทำอย่างไรเมื่อผมร่วง
ก่อนอื่นไม่ควรรีบทดลองใช้ยาเอง เพราะอาจไม่ตรงสาเหตุ หรือตัวยาไม่มีหลักฐาน ทางการแพทย์ยืนยัน ทำให้เสียทั้งค่าใช้จ่าย และเวลา อีกทั้งอาจทำให้การรักษา เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ให้ดูว่าเป็นผมร่วงตามธรรมชาติหรือผมร่วงผิดปกติ โดยนับจำนวนเส้นผมที่ร่วงต่อวัน และสังเกตลักษณะเส้นผมร่วงว่าเป็นเส้นผมที่ขาด หรือเป็นผมอ่อนเส้นเล็กหรือไม่ ดูว่าผมบางลง หรือผมที่ขึ้นใหม่เส้นเล็กลงหรือไม่ หลังจากนั้นต้องหาสาเหตุ ลองนึกดูว่าช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้บ้าง การดูแลเส้นผมเป็นอย่างไร ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์โดยตรงเพื่อหาสาเหตุ และการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะซักประวัติตรวจดูลักษณะเส้นผมและหนังศีรษะ และอาจตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศ์ หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมถ้ามีข้อบ่งชี้

คราวนี้ท่านคงเข้าใจถึงสาเหตุของผมร่วงที่พบบ่อยแล้ว ถ้าท่านหรือคนใกล้ชิด ประสบปัญหาผมร่วง ก็คงจะดูแลและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมต่อไปได้ ที่สำคัญคือ อย่าเชื่อตามคำโฆษณาเพียงอย่างเดียว ควรใช้วิจารณญาณก่อนที่จะใช้ยาอะไร จะได้ไม่เสียใจภายหลังนะครับ

นพ.บุญธีร์ ศรีพิทักษ์


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1