นพ.บุญธีร์ ศรีพิทักษ์
คุณมาลีเป็นสาวคนหนึ่งที่ใส่ใจในความงามโดยเฉพาะเส้นผม เธอจะดูแลรักษาเป็นพิเศษ ใช้แชมพู ครีมนวดผมอย่างดี ถ้ามีเวลาก็จะไปอบไอน้ำ หมักโคลนสารพัดที่เขาว่าดี อยู่มาวันหนึ่งเธอไปทำผมที่ร้าน ช่างทำผมบอกเธอว่าเธอมีผมร่วงอยู่หย่อมหนึ่ง เธอตกใจมาก กลุ้มใจไม่เป็นอันกินอันนอน รีบมาหาหมอ หมอตรวจดู ก็พบหย่อมผมร่วงเป็นกระจุก อยู่ที่กลางกระหม่อม หนังศีรษะบริเวณนั้นเรียบ ไม่เห็นโคน หรือตอผมอยู่เลย ลักษณะผมร่วงแบบนี้ เราเรียกว่าผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata)
ผมร่วงเป็นหย่อมจะไม่มีอาการคันหรืออาการอักเสบของหนังศีรษะ อาจจะเป็นเพียง หย่อมเดียว หลายหย่อม หรือกระจายทั่วทั้งศีรษะก็ได้ นอกจากนี้ ในบางราย อาจมีขนตามร่างกาย เช่น ขนคิ้ว ขนตาร่วงด้วย โรคนี้พบได้บ่อยพอสมควร มักเป็นในวัยเด็ก และวัยหนุ่มสาว
ผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากความแปรปรวนของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งโดยปกติ จะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม กลับไปทำลายเส้นผมตนเอง โดยไม่ทราบสาเหตุ พบว่ามีปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องได้แก่
การรักษา
การรักษาโรคนี้มีหลายวิธี หลักการคือ ไปลดการอักเสบ หรือปรับภูมิคุ้มกันในบริเวณรากผม ให้กลับมาเป็นปกติ ถ้าอาการไม่รุนแรงเช่น ผมร่วงเป็นหย่อมเล็ก ๆ และเป็นครั้งแรก ก็อาจใช้วิธีทายาหรือฉีดยาลดการอักเสบ โดยมาฉีดยาทุก 2-4 สัปดาห์ ได้ผลค่อนข้างดี ประมาณ 2-3 เดือนผมจะเริ่มขึ้น แต่ถ้าอาการรุนแรง เช่น ผมร่วงทั้งศีรษะ หรือเป็นมานานหลายปี การรักษาอาจต้องใช้เวลา ถ้าวิธีทายา ฉีดยาไม่ได้ผล อาจต้องใช้วิธีอื่น เช่นทายาที่ทำให้เกิด การระคายเคือง หรือใช้วิธีฉายแสง ซึ่งขั้นตอนในการรักษาอาจจะยุ่งยากขึ้นบ้าง และอาจมีอาการระคายหนังศีรษะได้เล็กน้อย ซึ่งการรักษาแต่ละวิธี ต้องใช้ระยะเวลา ในการรักษาหลายเดือน และบางครั้งโรคเป็นรุนแรงและดื้อต่อการรักษา ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาใหม่ ดังนั้ผู้ป่วยเองต้องอดทนพอสมควร และควรทำเข้าใจกับแพทย์ ถึงแนวทาง และผลของการรักษา
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ
ญาติหรือผู้ใกล้ชิดควรให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเพราะถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็มีผลทางด้านจิตใจไม่น้อย และจะเกิดกับใคร ๆ ก็ได้ ผู้ที่มีอาการของผมร่วงเป็นหย่อม ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดู บางครั้งต้องแยกจากผมร่วงจากสาเหตุอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น โรคผิวหนัง หรือการติดเชื้อบางชนิด และควรรีบทำการรักษา เพราะทิ้งไว้นานอาจทำให้การรักษายากขึ้น แล้วจะหาว่าหมอไม่เตือนไม่ได้นะครับ
นพ.บุญธีร์ ศรีพิทักษ์
main |