|
แพ้อะไรก็แพ้ได้ แม้ของสวยๆ งามๆ
ทำอย่างไรจึงจะชนะ ต้องค้นหาคำตอบ |
สวัสดีปีใหม่พุทธศักราช 2543 หรือ ค.ศ.2000 ครับ สำหรับคอลัมน์คลินิกแพทย์ผิวหนังฉบับนี้จะขอเล่าถึง
เรื่องการแพ้เครื่องประดับให้ฟังนะครับเพราะไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ผู้หญิงกับเครื่องประดับก็เป็นของคู่เคียงกันมาเนิ่นนาน
พบการแพ้เครื่องประดับได้บ่อยในสตรีไทยทุกระดับ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้ของแท้หรือขอเทียม ทั้งนี้เพราะการแพ้เครื่องประดับนั้น
ส่วนใหญ่เป็นการแพ้โลหะนิกเกิล ซึ่งเป็นธาตุลำดับที่ 28 ที่นิยมใช้
เพื่อนำไปผสมกับโลหะอื่นให้เป็นโลหะเจือ ใช้ชุบ
หรือใช้ฉาบผิวโลหะอย่างอื่น นิกเกิลจึงเป็นส่วนผสมของโลหะหลายอย่าง
ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับ เช่น ที่ด้านหลังของหน้าปัดนาฬิกา
สายสร้อย กระดุมโลหะ หัวเข็มขัด กรอบแว่น กิ๊บติดผม
ตะขอเกี่ยวยกทรง และซิบ
พบการแพ้โลหะนิกเกิลได้ถึงร้อยละ 10 ของคนทั่วไป
โดยอาจพบในหญิงมากกว่าชายถึง 20 เท่า ทั้งนี้เพราะหญิงมีผิวบอบบางกว่า และนิยมใช้เครื่องประดับมากกว่าผู้ชาย พบว่าผู้ที่ใส่เครื่องประดับ
ที่ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ก็ยังแพ้ได้ ทั้งนี้เพราะทอง 100%
จะไม่ค่อยแข็ง อย่างน้อยจึงต้องมีการเจือนิกเกิล
เพื่อเพิ่มความแข็งและนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ การแพ้เครื่องประดับทองจึงเป็นการแพ้โลหะนิกเกิล
ที่ผสมลงไปนั่นเอง
สำหรับการวินิจฉัยและการป้องกันการแพ้เครื่องประดับ
ที่ทำจากนิกเกิลนั้น อาจสังเกตจากลักษณะของการเกิดผื่น เช่น
ถ้าแพ้นิกเกิลในต่างหู จะพบรอยแดงหรือผื่นที่ติ่งหู
แต่ถ้าแพ้ด้านหลังของหน้าปัดนาฬิกา ก็จะพบผื่นแดง
เป็นวงกลมที่ด้านหลังของข้อมือ หากแพ้ตะขอกางเกง
จะพบผื่นบริเวณสะดือ บางคนแพ้ล็อกเก็ตห้อยคอ
ก็อาจพบผื่นแดงกลางหน้าอก ผื่นจะมีอาการคันร่วมด้วย
สำหรับวิธีป้องกันนั้น คือการงดสวมใส่เครื่องประดับ
ที่สงสัยว่าจะแพ้ ผื่นจะจางลงใน 2-3 วัน แพทย์อาจทดสอบ
แพ็ตเทสต์ (Patch test) โดยใช้สารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดการแพ้
มาแปะติดด้านหลังหากผลการทดสอบยืนยันว่าแพ้โลหะนิกเกิลจริง ก็อาจหันมาใช้เครื่องประดับที่ทำจากสแตนเลสสตีล (Stainless Steel) แทน หรืองดการใช้เครื่องประดับ
เพื่อป้องกันการแพ้นิกเกิลได้มีคณะผู้วิจัยทดลอง
เจือจางขี้ผึ้งเตตร้าไซคลีนในความเข้มข้นต่างๆ
และนำมาทาเหรียญนิกเกิล นำเหรียญมาแปะติดแผ่นหลัง
ของผู้เข้ารับการทดลอง 10 ราย เปรียบเทียบกับเหรียญ
ที่ทาด้วยยาหลอก พบว่าขี้ผึ้งเตตร้าไซคลีน ขนาด 3%
และ 1% สามารถยับยั้งการแพ้นิกเกิลได้ คือไม่เกิดผื่นแดงขึ้น
ในผู้เข้ารับการทดลองทุกราย ส่วนขี้ผึ้งขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 0.3% ทำให้เกิดการแพ้น้อยลงในผู้เข้ารับการทดลอง 4 ใน 10 ราย ในกรณีของการรับประทานยาเตตร้าไซคลีน พบว่าทุกรายที่ได้ยามีความทนต่อการแพ้นิกเกิลเพิ่มขึ้น 2 ถึง 7 เท่า
งานวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่า ขี้ผึ้งเตตร้าไซคลีนอาจมีประสิทธิภาพ
ในการเป็นเกราะทางเคมีป้องกันการแพ้นิกเกิล เพราะตัวยาเป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่จะรวมเป็นองค์ประกอบเชิงซ้อน
ที่คงทนกับประจุไฟฟ้าหลายชนิดได้ นอกจากนั้น
การรับประทานยาเตตร้าไซคลีนอาจสามารถเพิ่มความทนต่อการแพ้นิกเกิลได้ ยารักษาโรคสิวตัวนี้จึงอาจมีบทบาทในผู้ที่แพ้เครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม ควรทำการทดลองในผู้ป่วยจำนวนมาก
เพื่อยืนยันผลอีกครั้งและควรลองสังเกตดูว่า
ผู้ป่วยที่รับประทานยาเตตร้าไซคลีนรักษาโรคสิว
มีอุบัติการณ์ของการแพ้เครื่องประดับในอัตราต่ำกว่าประชากรปกติ
กลุ่มที่ไม่ได้รับยาตัวนี้หรือไม่
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
|