มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 เมษายน 2538 ]

ไฝมรณะ

นพ.วัชรินทร์ สถิตธรรมนิตย์


ไฝ เป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้จักกันดีมาเป็นเวลานาน ทั้งในแง่มุมของความสวยงาม และในเรื่องของการนำไฝมาเกี่ยวพันกับโชคชะตาของคนนั้น เป็นเหตุให้คนมีไฝทั้งหลาย เกิดความกังวลใจขึ้นมาทุกครั้งที่พูดถึงไฝ อย่างไรก็ตามผมจะพูดถึงไฝในส่วนของทางการแพทย์ แพทย์มองไฝในแง่มุมใดบ้าง และผู้ที่มีไฝมีความจำเป็นต้องมีความรู้อะไรบ้าง ในการดูแลไฝที่ตัวเองมีอยู่

ไฝเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง อย่าเพิ่งตกใจนะครับ เนื้องอกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ เนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง คนมีไฝสามารถอยู่กับไฝที่เป็นเนื้องอกธรรมดาไปได้ตลอดชีวิตอย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่เรื่องมันไม่จบที่ตรงนั้น เพราะไฝที่เคยธรรมดา อาจมีการเปลี่ยนแปลง ไฝธรรมดาสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ ไม่ต้องตกใจนะครับ โอกาสที่จะเปลี่ยนไฝเป็นเนื้อร้ายนั้นน้อยมาก ปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่เมื่อไฝได้เปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้ายแล้ว เป็นอันตรายมาก อาจลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เพื่อเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผู้ที่มีไฝ ควรจะเฝ้าระวังไฝที่ตนมีอยู่ ว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือมีลักษณะดังกล่าวต่อไปนี้หรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นไฝอันตรายและควรตัดไฝเหล่านี้ออก
1. ไฝที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ โตเร็วขึ้น มีขอบเขตไม่ชัดเจน มีขอบยื่นมา ไม่กลมชัด มีการเปลี่ยนสี มีแผล มีเลือดออก มีสะเก็ด มีอาการคัน ปวด กดเจ็บ มีไฝเล็ก ๆ เกิดรอบ ๆ ไฝเม็ดใหญ่ หรือมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นโตขึ้น
2. ไฝที่อยู่ในบริเวณที่ถูกเสียดสีมาก ๆ ได้แก่บริเวณคาดเข็มขัด บริเวณรัดของเสื้อยกทรง บริเวณคอที่ถูกสร้อยถูไถ
3. ไฝในที่ลับตา เช่น ที่หนังศีรษะ, หรือที่อวัยวะเพศ เนื่องจากไฝเหล่านี้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลง จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้
4. ไฝที่เป็นแผ่นนูนตามศีรษะ มีผิวเหมือนกำมะหยี่ เป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ
5. ไฝที่บริเวณที่ได้รับการฉายรังสี
6. ไฝที่มีหลายสีปนกัน เช่น น้ำตาล ดำ น้ำเงิน เทา พบตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าและใต้เล็บ

เมื่อเรามีไฝอันตรายเหล่านี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจ และให้คำแนะนำ ว่าเป็นไฝอันตรายจริง ๆ หรือไม่ และถ้าเป็นจริงก็ควรได้รับการตัดออก ซึ่งมี 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การผ่าตัดออกและการใช้เลเซอร์

การผ่าตัดเอาไฝออกนั้นทำได้ค่อนข้างง่าย, ใช้เวลาไม่นาน, ความเจ็บปวดมีน้อยมาก ถ้าทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญจะเกิดแผลเป็นเพียงเล็กน้อยจนดูเหมือนไม่มีเลย นอกจากนี้ยังนำชิ้นเนื้อไฝที่ตัดออกมาซึ่งสามารถนำไปตรวจดูว่าเป็นไฝธรรมดา หรือไฝมะเร็ง เพื่อที่จะให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป วิธีทำก็เริ่มต้นโดยแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณที่จะตัดออก ซึ่งจะเจ็บเล็กน้อย หลังจากนั้นจะผ่าไฝและเนื้อรอบ ๆ ออกเป็นรูปวงรีปลายแหลม เมื่อเอาไฝและเนื้อรอบ ๆ ออกไปแล้วจะทำการเย็บขอบเนื้อข้าง ๆ เข้าหากัน รวมทังหมดแล้วใช้เวลาเพียง 5-15 นาทีเท่านั้น จากนั้นก็รอจนแผลติดกันประมาณ 5-7 วัน ก็ตัดไหมออกได้

ส่วนวิธีใช้เลเซอร์ยิงที่ไฝนั้น เป็นการทำลายเนื้อไฝโดยตรง วิธีนี้จะมีแผลเป็นน้อยมาก ถ้าไฝมีขนาดเล็ก แต่ถ้าแผลขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาในการหายของแผลพอสมควร
การพิจารณาใช้การผ่าตัดหรือเลเซอร์ก็ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของไฝ

หวังว่าคงไม่ทำผู้อ่านเป็นกังวลมากขึ้นนะครับ เพราะคาดหวังว่า จะให้ผู้อ่าน มีความรู้เกี่ยวกับไฝมากขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตราย ที่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านมีไฝลักษณะแปลก ๆ ดังกล่าวมาข้างต้น อย่าลังเลที่จะไปปรึกษาแพทย์นะครับ

นพ.วัชรินทร์ สถิตธรรมนิตย์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1