มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2540 ]

ยาทากันยุง

พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง


คนที่แพ้ยุง คือ คนที่เมื่อถูกยุงกัดแล้ว จะมีตุ่มแดงและคันอยู่นานกว่าคนทั่วไป ซ้ำร้ายเมื่อตุ่มที่ถูกยุงกัดหาย ก็จะทิ้งร่องรอยสีดำเป็นจุด ๆ ไว้บนขาและแขนทำให้เป็นคนขาลาย

นอกจากผลทางผิวหนังจะเกิดขึ้นกับคนที่แพ้ยุงแล้ว ยุงยังก่ออันตรายอีกมากมายกับทุกคนที่ถูกกัด เพราะยุงเป็นพาหะนำโรคอีกหลายอย่าง เช่น ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย โดย 2 โรคแรกมักเกิดในเด็กเล็ก ส่วนมาลาเรียเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ปัจจุบันระบาดหนักตามชายแดน

การป้องกันยุงกัด จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง นักเรียนที่เดินทางเข้าค่ายต่างจังหวัด งานเลี้ยงยามค่ำคืนกลางสนาม ยากันยุงชนิดทา มีมากมายในท้องตลาด ราคาต่าง ๆ กัน จะมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดแป้งผง น้ำใส ครีม สเปรย์ ผสมกับยากันแดด ผสมน้ำยารีดเสื้อผ้า แต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติในการป้องกันแมลงแตกต่างกัน โดยขึ้นกับ สภาพแวดล้อม บุคคล ชนิดของยุงและยังมีฤทธิ์ป้องกันแมลงอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ยาทากันยุงที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
  1. มีฤทธิ์ในการป้องกันแมลงได้หลายชนิด รวมทั้งยุงด้วย และออกฤทธิ์นานหลายชั่วโมง จะได้ไม่ต้องทาบ่อย ๆ
  2. ไม่ระคายผิว ภายหลังทา หรือทำให้เสื้อผ้าเสียเมื่อแตะลงบนเสื้อผ้า
  3. ไร้กลิ่นเหม็น ถ้ามีกลิ่นหอมได้จะเป็นการดีมาก
  4. ทาลงบนผิวแล้วต้องไม่มีสี เพราะจะทำให้ดูน่าเกลียด ไม่เหนียวเหนอะหนะ ล้างออกง่าย แต่มิใช่ว่า เมื่อเหงื่อออกแล้วตัวยาหลุดออกจากผิวจนหมด ฤทธิ์ป้องกันยุง จะพลอยหมดไปด้วย
  5. วางจำหน่ายทั่วไป ราคาไม่แพง
  6. ไม่มีผลทำให้พลาสติกเสื่อมคุณภาพ เพราะผู้ใช้อาจต้องสัมผัสกับ แว่นตา ปากกา กรอบรูปต่าง ๆ

การใช้ยาทากันยุงที่ปลอดภัย ควรยึดหลักต่อไปนี้ ี้
  1. อ่านสลากวิธีใช้ให้เข้าใจเสมอก่อนใช้ และต้องปฏิบัติตาม
  2. ทาเฉพาะตรงบริเวณนอกร่มผ้าเท่านั้น
  3. ต้องเก็บให้ห่างจากเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการที่เด็กหยิบมาเล่น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  4. ห้ามทาตรงบริเวณผิวที่มีแผลสด หรือมีผื่นคันอยู่แล้ว
  5. ห้ามทารอบตา รอบปาก หรือฝ่ามือ
  6. ใช้ปริมาณให้เพียงพอ ต่อการทาหนึ่งครั้ง แต่อย่าทาบ่อย ๆ
  7. เมื่อเข้าบ้านแล้ว ควรล้างยาทากันยุงออก ด้วยน้ำพร้อมถูสบู่ เอายาออกให้หมด ถ้าคิดว่าแพ้ยาทา เช่น มีอาการวิงเวียน เดินเซ กระตุก ควรรีบพบแพทย์ พร้อมนำยาทาไปให้แพทย์ดูด้วย

เมื่อทราบข้อควรระวังแล้ว ควรอ่านส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นตัวยาสำคัญในการป้องกันยุงด้วย ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่

1. น้ำมันตะไคร้หอม (Oil of Citronella) เป็นน้ำขาวใส ทาง่าย ฤทธิ์กันยุงอยู่ได้ 4-6 ชั่วโมง มีจำหน่ายทั่วไป ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ใช้ง่าย ราคาพอประมาณ ผลเสียไม่ใคร่มี

2. Deet หรือ toluamide เป็นยาทากันยุงที่ได้ผลดีค่อนข้างจะ มากที่สุดกว่าชนิดอื่น ๆ เริ่มใช้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม ผลิตขึ้นเพราะ พวกทหารอังกฤษ-อเมริกัน ไม่สามารถทนยุงกัดได้ และนิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากกันยุงได้แล้ว ยังป้องกันแมลงอื่น ๆ อีก เช่น ริ้น เห็บ และแมลงรบกวนอื่น ๆ ด้วย

สารนี้ไม่ทำลายเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็น คอทตอน ไหม ไนลอน ผ้าใย แต่จะละลายพลาสติก และไวนิลได้ จึงควรระวังอย่าให้สัมผัสกับขอบแว่นตา เบาะรถยนต์ ที่ประกอบด้วยไวนิล

เมื่อป้องกันแมลงยุงได้ดี ย่อมมีผลข้างเคียงมาก คือ อาจทำให้เกิดผื่นคันภายหลังจากทา ยากันยุงชนิดนี้ อาจมีผลต่อระบบประสาท และระบบหัวใจ หลอดเลือด โดยเฉพาะเด็กเล็ก จะเกิดอาการดังกล่าว ได้มากกว่าผู้ใหญ่ เคยมีรายงานว่า ยาทากันยุง ชนิดนี้ทำให้เกิดอาการ ชักกระตุกในเด็กชายบางคน เพียง 8-24 ชั่วโมง ภายหลังทายากันยุงชนิดนี้ จึงควรใช้เฉพาะตรงที่ต้องการกันยุง อย่าทาซ้ำที่เดิม และอย่าทาพร่ำเพรื่อ ถ้าต้องการ   ป้องกันยุงเพียง 2-3 ชั่วโมง ควรทาผลิตภัณฑ์ที่มี Deet ประมาณ 10-30% เท่านั้น แต่ถ้าเข้าค่าย หมายความว่าอยู่ทั้งคืน ควรทาขนาด 40-50% โดย กะว่าประมาณ 2-4 ช้อนโต๊ะ ที่แขน ขา และที่ใบหน้าในผู้ใหญ่

3. Dimethyl phthalatc ที่มีจำหน่ายในเมืองไทย จะมีตัวยา 24% มีทั้งชนิดน้ำ และผง ใช้ได้ผลดี ไม่เคยมีรายงานของการแพ้โดยมีอาการผื่นคันภายหลังทายานี้ ควรใช้ประมาณ 8 มิลลิกรัมต่อผิว 1 ตารางนิ้ว และทาตามที่เขียนไว้ในวิธีใช้ข้างซอง

นอกจาก 3 ชนิดที่กล่าวมาแล้วยังมียาทากันยุงอื่น ๆ อีก เช่นที่ ผสม Indalon, Rutger 612, Permethrin แต่ไม่ใคร่นิยมใช้มากนัก

ที่น่าแปลกคือ ยุง จะชอบกัดคนบางคนเท่านั้น โดยขึ้นกับความชื้น ความอบอุ่นของผิวพรรณ ของแต่ละคน กลิ่นตัว ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากนี้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของแต่ละคน ยังมีผลในการทำให้ ยุงชอบบินตอมและกัด ที่เห็นแน่ชัดคือ ยุงชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะหญิงมีเอสโตรเจน ดังนั้นผู้ถูกยุงกัดหรือแมลงกัด เวลามาพบแพทย์ จึงพบว่ามีคนไข้หญิงมากกว่าคนไข้ชาย

พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1