มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 4 เมษายน 2540 ]

ปานในเด็กแรกเกิด

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


ที่หน้าห้องเด็กแรกคลอด ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง บรรดาพ่อแม่พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย ต่างพากันมารวมตัว เพื่อเกาะฝากระจกบานใหญ่ แล้วส่งสายตาจ้องมองเด็กน้อย ที่เพิ่งเกิดใหม่อย่างไร้เดียงสา แน่นอนทุกคนที่อยู่ในที่นั้นต่างพากันโล่งอกดีใจยินดีปรีดา ถ้ารู้ว่าเด็กน้อยนั้นปลอดภัย ไม่พิการ มีอาการครบ 32 ทุกประการ บางคนก็พยายาม กดกริ่ง เพื่อเรียกคุณพยาบาลให้ช่วยเข็นรถเด็กน้อยที่แสนจะน่ารักมาไว้ใกล้ ๆ จะได้ขอดูหน้าตา ให้ชื่นใจ ไหน ? ดูซิคะว่าหน้าตาสุดหล่อเหมือนคุณพ่อ หรือแสนสวย เหมือนคุณแม่ อดีตเทพีสงกรานต์ไหมคะ อุ๊ย! ตกใจนั่นปานอะไรสีแดง ๆ ที่ใบหน้าซีกซ้าย ปื้นใหญ่ พอสมควร แล้วปานแดงนี้จะติดตัวเจ้าตัวเล็กไปตลอดชีวิตหรือไม่ จะแก้ไข หรือทำอย่างไรดี ช่วยฉันคิดหน่อยสิคะ

ปานในเด็กแรกเกิด
    ในเด็กทารกแรกคลอด อาจพบปานต่างๆ ได้หลายชนิด คือ
  • ปานดำแรกคลอด (Congenital melanocytic nevus)
  • ปานมองโกเลียน (Mongolian spot)
  • ปานสตรอเบอรี่ (Strawberry nevus)
  • ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary malformation)

1. ปานดำแรกคลอด
ส่วนใหญ่จะมีขนาดโตกว่าไฝธรรมดา แรกเกิดจะมีสีค่อนข้างแดง แต่ภายในไม่กี่เดือน จะมีสีน้ำตาลคล้ำขึ้น ผิวเรียบหรือนูนขึ้นเล็กน้อยอาจมีขนร่วมด้วย ที่สำคัญคือ ถ้าปานชนิดนี้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เซนติเมตร จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง ได้สูงขึ้น บางครั้งปานชนิดนี้มีขนาดใหญ่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัวก็มี ปานดำแรกคลอดนี้ พบในเด็กแรกเกิดประมาณ 1%

2. ปานมองโกเลียน
พบบ่อยมาก ประมาณ 90% ของเด็กแรกเกิดทางซีกโลกตะวันออก ลักษณะเป็นปื้น สีน้ำเงินเข้ม หรือเทาเข้มขนาดใหญ่ มีขนาดแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 0.5-15 เซนติเมตร
ตำแหน่งที่พบ มักพบที่บริเวณหลัง และก้น อาจพบที่ไหล่ได้บ้าง
อันตรายหรือไม่ ปานมองโกเลียนนี้ จะค่อย ๆ จางหายไปได้เอง ใน 1 ขวบปีแรก ไม่มีอันตรายใด ๆ คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้ค่ะ

3. ปานสตรอเบอรี่
ชื่อน่ารับประทานมาก พบในช่วงเด็กทารก 1-4 สัปดาห์แรกคลอด
ตำแหน่งที่พบ ที่บริเวณใบหน้า ลำคอ
ลักษณะที่พบ เป็นตุ่ม ก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม ช่วงแรกจะโตเร็วมาก จนถึงอายุประมาณ 1 ขวบ จากนั้นจะมีสีม่วงคล้ำขึ้น ส่วนใหญ่ประมาณ 85% จะยุบหายเองได้หมด ภายในอายุประมาณ 7 ขวบ เหลือเป็นแผลเป็นจาง ๆ
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในปานสตรอเบอรี่
  1. ความไม่สวยงาม เพราะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า
  2. แผลติดเชื้อ ถ้ามีแผลเกิดขึ้นมาอาจติดเชื้อได้
  3. เลือดออก ปานชนิดนี้เกิดจากเส้นเลือดฝอย มีการขยายขนาดรวมตัวกัน มากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับเลือดออกได้
  4. หัวใจล้มเหลว ถ้าปานมีขนาดใหญ่มากอาจเกิดภาวะหัวใจ ล้มเหลวได้
  5. เกร็ดเลือดต่ำ เกิดจากปฏิกิริยาที่เกร็ดเลือดมีการกินกันเอง ทำลายกันเอง จึงทำให้เกร็ดเลือดต่ำเปรียบเสมือนรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม ถ้ามีการแบ่งเค้กกินแล้วแย่งกันกินไม่ลงตัว รัฐบาลก็อาจถึงคราวล่มสลายได้

การรักษา
1. ไม่ต้องรักษาอะไร เนื่องจาก 85% ของปานสตรอเบอรี่นี้ จะยุบหายเองได้หมด ภายในอายุประมาณ 7 ขวบ
2. แต่เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงต้องให้การรักษา ในบางราย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเอง ได้แก่

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

4. ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ
ลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือปื้นสีแดงเข้มขนาดใหญ่ ที่บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
ความผิดปกติของร่างกายที่อาจพบร่วมกับปานชนิดนี้
  1. ความผิดปกติของนัยน์ตา ถ้าปานชนิดนี้พบที่บริเวณเปลือกตา หรือขมับด้านใดด้านหนึ่ง อาจส่งผลทำให้นัยน์ตาผิดปกติ อาจเกิดต้อหิน ทำให้ตาบอดได้
  2. ความผิดปกติของสมอง บางครั้งเด็กอาจมีอาการชัก หรือสติปัญญาต่ำ ปัญญาอ่อนได้
  3. ความผิดปกติของกระดูก อาจพบปานแดงชนิดนี้ร่วมกับการที่มีแขนขา ซีกเดียวกับ ปานแดงนี้มีขนาดใหญ่โตผิดปกติมากขึ้น (ขาโตขึ้นเหมือนเท้าช้าง)

การรักษา ใช้แสงเลเซอร์เส้นเลือด ซึ่งผลของการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาด ความหนา และตำแหน่งของปานแดงชนิดนี้

ปานโอตะ (Nevus of Ota)
ที่เขียนแยกออกมาจากปานชนิดอื่น เพราะปานโอตะนี้ อาจพบในเด็กแรกเกิด หรืออาจไม่พบเลย จนกระทั่งอายุประมาณ 30 ปี จึงค่อยเห็นปานโอตะนี้เกิดขึ้นมา ในภายหลังได้
ลักษณะปานโอตะ จะมีลักษณะสีคล้ายกับปานมองโกเลียน คือ มีสีน้ำเงินเข้ม หรือเทาเข้ม แต่ตำแหน่งจะพบแตกต่างกับปานมองโกเลียน
ตำแหน่งของปานโอตะ จะพบปานนี้ที่บริเวณโหนกแก้ม หรือขมับข้างใดข้างหนึ่ง ร่วมกับพบปานนี้ที่บริเวณนัยน์ตาได้ ปานโอตะนี้จะพบบ่อยในคนเอเซียและคนผิวดำ ปานนี้จะไม่จางหายไปเมื่ออายุมากขึ้น (ต่างกับปานมองโกเลียน ซึ่งจะจางหายไปได้เอง เมื่ออายุมากขึ้น)
อันตรายหรือไม่ ส่วนใหญ่ปานโอตะนี้ จะไม่กลายเป็นมะเร็ง เพราะฉะนั้น จะไม่มีอันตรายใด ๆ นอกจากอาจจะไม่สวยงามเท่านั้น
การรักษา ใช้แสงเลเซอร์ทับทิม (Q-Switched ruby laser) ผลของการรักษา ขึ้นอยู่กับปานโอตะในแต่ละราย

หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่าน คงจะได้รับความรู้คร่าว ๆ ในเรื่องของปานในเด็กแรกเกิด ไม่มากก็น้อยนะคะ ถ้าสงสัยไม่แน่ใจว่าบุตรหลานของท่านเป็นปานชนิดไหนแน่ อันตรายหรือไม่ควรมาพบปรึกษาแพทย์เพื่อความสบายใจของตัวท่านเองนะคะ

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


[ BACK TO โรคผิวหนัง] [ BACK TO โรคเด็ก]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1