มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2540 ]

มารู้จักโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Seborrheic dermatitis) กันเถอะ

นพ.มิตร เลิศรัตนชัยกุล


ผู้อ่านหลายท่าน คงเคยได้ยินคำว่า โรคผิวหนังอักเสบ ไม่ว่าจะจากคนรอบข้าง หรือได้ยิน จากแพทย์ บางครั้งอาจรู้สึกงุนงงว่าโรคนี้หน้าตาจริง ๆ มันเป็นยังไงกันแน่ เป็นรอยแดง ๆ เป็นขุยมีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือบางครั้งเป็นเฉพาะที่หน้า บางครั้งเป็นทั่วตัว แท้ที่จริงแล้ว โรคผื่นผิวหนังอักเสบนี้เป็นคำรวม ซึ่งมีอาการและอาการแสดงออกได้หลายแบบ เรียกชื่อต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของโรค เช่น Atopic dermatitis, Contant dermatitis, Seborrheic dermatitis ในฉบับนี้เรามาทำความรู้จักกับ โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งเราพบได้บ่อยคือ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ Seborrheic dermatitis

อาการ
ท่านผู้อ่านอาจจะเคยสังเกตผู้คนที่เดินผ่านไปมาตามข้างถนน เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว หรือแม้แต่ตัวท่านเอง บางครั้งจะพบมีผื่นแดง ๆ และมีสะเก็ดเล็ก ๆ เป็นมัน ตามบริเวณ ระหว่างคิ้ว, ซอกจมูก, รูหู, หลังใบหู บางครั้งเป็นที่ศีรษะ, ตามตัว, ขาหนีบก็พบได้ โดยผื่นเหล่านี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และมักพบว่า จะเห่อมากขึ้นในบางช่วง เช่น ในหน้าหนาว หรือช่วงที่เครียดมาก ๆ

ใครเป็นบ้าง
โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 18-40 ปี ในทารกระยะ 6 เดือนแรก หรือในผู้สูงอายุก็พบได้เช่นกัน พบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุของโรค
โดยสาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด บางคนเชื่อว่าโรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับเชื้อ Pityrosporum ovale หรือ Pityrosporum orbiculare นอกจากนี้ยังมี รายงานว่า สามารถเพาะเชื้อ Pityrosporum orbiculare ได้จากรอยโรคที่เป็น Seborrheic dermatitis ในผู้ป่วยโรคเอดส์อีกด้วย โดยลักษณะอาการที่เราพบได้บ่อยก็คือ พบมีผื่นแดงปนเหลือง และมีสะเก็ดเป็นมันบนผื่น โดยมีขอบเขตชัดเจน มักพบตามศีรษะ, ไรผม, คิ้ว, รูหู, หลังใบหู, ข้างจมูก, คอ, รักแร้, ขาหนีบ หรืออาจพบบริเวณอวัยวะเพศ บางครั้งอาจมีอาการคันหรือไม่คันก็ได้ บางท่านเข้าใจผิด ว่าเป็นโรคเชื้อรา, กลาก ซึ่งให้ลักษณะรอยโรคที่คล้ายกันได้ ซึ่งแยกได้โดยโรคเชื้อรา, กลาก มักมีอาการคันมาก และจะให้ชัดเจนก็โดยการตรวจหาเชื้อรา ด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยขูดสะเก็ดขุยจากรอยโรคมาตรวจ บางครั้งอาจจะสับสนกับโรคที่อาจจะเคยได้ยิน คือ โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งก็เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง และมีผื่นมีสะเก็ดเหมือนกัน แต่ผื่นใน โรคสะเก็ดเงิน จะหนากว่าและมีสะเก็ดเหมือนดังชื่อโรค คือ สะเก็ดจะหนาสีเงิน แต่ติดแน่น ถ้าขูดสะเก็ดออกจะพบลักษณะคล้ายจุดเลือดออก โดยโรคสะเก็ดเงิน จะดูรุนแรงกว่า เป็นมากกว่า และรักษายากกว่าด้วย

การรักษา
พูดถึงเรื่องการรักษาในโรคผื่นผิวหนังอักเสบ Seborrheic dermatitis ก็ไม่ยากนัก แต่ดังที่กล่าวแล้วคือ มักเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ หลักง่าย ๆ ก็คือพยายามไม่รบกวนผิวบ่อย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ล้างหน้าซับหน้าด้วยความนุ่มนวลไม่ขัดถูบริเวณใบหน้าแรง ๆ ไม่ควรล้งหน้าบ่อยจนเกินไป ล้างหน้าด้วยสารชำระล้างที่อ่อน ๆ ไม่ระคายผิว ในผู้ที่รอยโรคที่บริเวณใบหน้า, ลำตัว, ขาหนีบ ในช่วงแรกที่มีการอักเสบอยู่ อาจให้ยาทา คอร์ริโคสตรีรอยด์ หลังจากเริ่มดีขึ้นแล้วให้ทายา Ketoconazole ต่อวันละ 2 ครั้ง ไปจนกว่า จะหายเป็นปกติ ในบางคนแพทย์อาจแนะนำให้ทายา Ketoconzole เพื่อป้องกันการเห่อ ของโรคนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนในกรณีรอยโรคที่หนังศีรษะรักษาโดยใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ Selenium Sulfide (Selsun), Zinc pyrithione, tar หรือใช้ ketoconzoleชนิดแชมพูสระผม ก็จะทำให้รอยโรคดีขึ้น

ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ แต่การรู้จักดูแลสุขภาพร่างกาย รู้จักวิธีการถนอม และดูแลผิวอย่างถูกต้องก็ช่วยทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคนี้เป็นน้อยลง และหายเร็วขึ้น

เป็นยังไงบ้างครับหลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับโรคผื่นผิวหนังอักเสบ Seborrheic dermatitis มาพอสมควรแล้ว คงได้รับความกระจ่างเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น และหวังว่าเมื่อเอ่ยถึงชื่อโรคนี้ แล้ว คงไม่ทำให้ท่านผู้อ่านเกิดความงุนงงอีกนะครับ

นพ.มิตร เลิศรัตนชัยกุล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1